posttoday

โยธาฯเล็งออกกฎ คุมอาคารทำรายงาน ผลกระทบด้านจราจร

10 พฤษภาคม 2560

จากแนวโน้มที่เมืองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งในแต่ละปีมีโครงการใหม่เกิดขึ้นมากมาย

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

จากแนวโน้มที่เมืองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งในแต่ละปีมีโครงการใหม่เกิดขึ้นมากมายทั้งขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ทั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่โดยรอบโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มักมีปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างปริมาณการใช้บริการและระดับการให้บริการของระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งสาธารณะในบริเวณรอบๆ โครงการ ความไม่สมดุลดังกล่าวได้กลายเป็นปัญหาสาคัญในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ปัจจุบันแม้จะมีข้อกำหนดให้โครงการหรือกิจการบางประเภทต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก็ตาม แต่ไม่ได้มุ่งเน้นการศึกษาด้านการจราจรและขนส่ง อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ต้องมีการศึกษาในด้านนี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้เดินหน้าโครงการจัดทำค่ามาตรฐานและกำหนดแนวทางการศึกษาผลกระทบด้านการจราจรและขนส่งเพื่อการผังเมืองสำหรับการพัฒนาโครงการในประเทศไทย โดยหวังจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน และช่วยลดผลกระทบด้านการจราจรและขนส่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ที่ผ่านมาได้มีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการไปแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งจากการสัมมนาในครั้งแรกมีประเด็นต้องติดตามถึงความชัดเจนไม่ว่าจะเป็น 1.ควรมีการกำหนดมาตรการด้านกฎหมายที่ชัดเจน และสามารถบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม 2.ควรใช้ผลที่ได้จากการศึกษานำไปปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.การผังเมือง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีการบังคับใช้ที่สอดคล้องกัน

3.การศึกษาผลกระทบด้านการจราจร ควรเพิ่มการศึกษาด้านระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ด้วย เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น 4.ควรมีมาตรการด้านการจัดการฐานข้อมูลในการสนับสนุนการประเมินผลและสามารถวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร จากโครงการพัฒนาในพื้นที่เมืองได้

และ 5.การจัดทำค่ามาตรฐานควรมีการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ชัดเจน เหมาะสมและได้รับการยอมรับในเชิงวิชาการ และล่าสุดได้มีการนำเสนอข้อมูลและผลวิเคราะห์จากการสำรวจ 6 กลุ่มประเภทกิจกรรมการใช้ประโยชน์ จำนวน 37 ประเภทอาคาร ใน 4 ภูมิภาค โดยแบ่งเป็น เมืองขนาดเล็ก เมืองขนาดกลาง และเมืองขนาดใหญ่ อย่างละ 4 เมือง และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 13 เมือง

สมเกียรติ สิริพิทักษ์เดช ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้จะมีข้อกำหนดให้โครงการบางประเภทต้องจัดทำอีไอเอ แต่ไม่มีข้อกำหนดที่มุ่งศึกษาด้านจราจรและยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้โดยตรงเหมือนในต่างประเทศที่หากมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านจราจร (ทีไอเอ) เมื่อเกิดปัญหาก็มักจะโทษการวางผังเมืองไว้ก่อน

ทั้งนี้ การขออนุมัติโครงการเมื่อไม่มีการศึกษาในประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นระบบ จึงส่งผลให้การก่อสร้างโครงการต่างๆ ทำไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อการจราจรและกลายเป็นปัญหาตามมาในระยะยาวดังนั้นหากโครงการมีมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการก่อสร้างก็จะช่วยทำให้ปัญหาลดลงไปได้บ้าง

นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้มีการนำเสนอการจัดทำคู่มือและแนวนโยบายการศึกษาผลกระทบด้านการจราจรและขนส่ง เช่น กรอบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านจราจร รายละเอียดข้อมูลโครงการ การศึกษาแนวทางการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา

รวมไปถึงการนำเสนอตัวอย่างการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาผลกระทบด้านจราจร ตามแนวทางคู่มือที่จัดทำขึ้น และผลการวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาค่ามาตรฐานอัตราการเกิดการเดินทางของโครงการพัฒนาประเภทต่างๆ การศึกษาปริมาณการใช้ที่จอดรถ สำหรับการใช้สอยที่ดินประเภทต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคู่มือดังกล่าว

ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาโครงการในระดับต่างๆ สร้างผลกระทบต่อการจราจรที่แตกต่างกันไป ที่ปรึกษาจึงได้มีจัดระดับการทำรายงาน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับตามปริมาณจราจรที่เกิดขึ้นซึ่งใช้หลักเกณฑ์การคำนวณจากคู่มือการเกิดการเดินทาง และเกณฑ์การจัดทำรายงานที่สอดคล้องตามความเหมาะสมโดยการแยกประเภท ผลกระทบด้านการจราจรที่มีต่อโครงข่ายในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้พบว่า ประเภทโครงการที่ต้องศึกษาคือโครงการที่อยู่อาศัยและโครงการสาธารณะที่ก่อให้เกิดปริมาณการเดินทางที่เข้าเกณฑ์เป็นส่วนใหญ่

สำหรับระดับการจัดทำรายงานผลกระทบด้านการจราจร มีดังนี้ โครงการขนาดเล็ก ได้แก่ โครงการที่ก่อให้เกิดการเดินทางไม่เกิน 99 เที่ยว/ชั่วโมง เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรน้อย แต่ต้องจัดทำรายงานการจัดการจราจรภายใน

โครงการขนาดกลาง ได้แก่ โครงการที่ก่อให้เกิดการเดินทางตั้งแต่ 100 เที่ยว/ชั่วโมงขึ้นไปแต่ไม่เกิน 499 เที่ยว/ชั่วโมง โครงการจะต้องส่งรายงานวิธีการศึกษาให้กรมฯ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาอนุมัติก่อน หลังจากนั้นจึงจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านการจราจรระดับที่ 1

โครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการที่ก่อให้เกิดการเดินทางตั้งแต่ 500 เที่ยว/ชั่วโมงขึ้นไปโครงการดังกล่าวจะต้องส่งรายงานวิธีการศึกษาเช่นเดียวกับโครงการขนาดกลางและจัดทำรายงานการศึกษา
ผลกระทบด้านการจราจรระดับที่ 2

โครงการศึกษาดังกล่าวถือว่าเป็นการเริ่มต้นจะสตาร์ท ทั้งนี้กรมโยธาฯ เตรียมจัดสัมมนาครั้งที่ 3 ในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการ ประเภทอาคารที่ต้องจัดทำรายงานรวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ.การผังเมือง ว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ ก.ย.-ต.ค. 2560 จากนั้นจะเสนอกระทรวงตามขั้นตอนเนื่องจากเป็นนโยบายด้านการผังเมือง

อย่างไรก็ดี โครงการนี้ได้มีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเนื่องจากเป็นผู้พัฒนาโครงการ โดย อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การที่จะเสนอให้มีการจัดทำทีไอเอสำหรับโครงการใหม่มองว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับภาคเอกชนทั้งในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลา เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาโครงการต้องจัดทำอีไอเออยู่แล้ว ใช้เวลาดำเนินการจัดทำเฉลี่ยประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีในการอนุมัติแต่ละโครงการ

หากต้องยื่นทีไอเออีกก็จะทำให้โครงการเลื่อนออกไป ผู้ประกอบการต้องแบกภาระในเรื่องของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนจากการทำรายงานถึง 2 ฉบับซึ่งปัจจุบันบริษัทที่จัดทำรายงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมีน้อยราย ตอนนี้ทำอีไอเอฉบับหนึ่งราคาหลักล้านบาท เห็นว่าน่าจะนำเรื่องจราจรมารวมเข้ากับรายงานอีไอเอเพื่อเป็นการลดขั้นตอนการทำงานนอกจากนี้แนวทางปฎิบัติต้องชัดเจนและครอบคลุมไปถึงโครงการภาครัฐด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเมืองส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่เกิดตามการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการของภาครัฐ ดังนั้นหากเมื่อหน่วยงานภาครัฐมีแผนการพัฒนาเช่น ถนน ทางด่วน ฯลฯ ควรที่จะต้องมีการวางผังพื้นที่และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับใช้ประโยชน์ที่ดินรองรับชุมชนที่ตามมาหรือไม่ อยากให้มองถึงจุดเริ่มต้นของปัญหามิใช่มองผู้ที่มาที่หลังเป็นตัวก่อปัญหา ฉะนั้นควรป้องกันที่ต้นเหตุ

อย่างไรก็ดี ปัญหาของเมืองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแก้ไข ซึ่งแต่ละพื้นที่ปัญหาย่อมแตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญคือมาตรการหรือข้อบังคับที่ออกมาต้องสอดรับกับบริบทของประเทศด้วย