posttoday

เร่งเคาะมาตรฐานไมโครบัส

17 เมษายน 2560

คมนาคมเสนอแผนเปิดสัมปทาน หาแหล่งเงินกู้ หนุนผู้ประกอบการเลิกรถตู้

คมนาคมเสนอแผนเปิดสัมปทาน หาแหล่งเงินกู้ หนุนผู้ประกอบการเลิกรถตู้

โพสต์ทูเดย์ - คมนาคมเร่งสรุปมาตรฐานไมโครบัส พ.ค.นี้ เคาะราคา 1.7-2.2 ล้าน พร้อมหาแหล่งทุนหนุนผู้ประกอบการ คาดคืนทุนใน 3 ปี

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังการหารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในประเทศ ได้แก่ บริษัท ฮีโน่ บริษัท เอ็มจี บริษัท ไทยรุ่ง และบริษัท บ้านโป่งบัสบอดี้ ได้ข้อสรุปเรื่องการเสนอราคารถไมโครบัสอยู่ในช่วง 1.7-2.2 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้คัสซีรถและเครื่องยนต์นำเข้าจากประเทศใด

“แต่ละรายยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการผลิตรถ สามารถผลิตได้ทันภายในปีนี้ เพียงแต่อยากให้กระทรวงคมนาคมกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน” นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงจะหารือเพิ่มเติมร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรถตู้ เปลี่ยนเป็นรถไมโครบัส โดยจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วทั้งภาคการผลิตและด้านการเงินเพื่อเสนอให้นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม พิจารณาภายในเดือนพ.ค.นี้

สำหรับเบื้องต้นการประมาณราคาสำหรับออกรถไมโครบัสคันใหม่นั้น มีราคาดาวน์อยู่ที่ 25% ของราคารถ โดยมีดอกเบี้ย 5% ต่อปี คาดว่าผู้ประกอบการที่สมัครใจเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 29 เดือน หรือไม่เกิน 3 ปี ประกอบกับอายุสัมปทานเส้นทางเดินรถของผู้ประกอบการเป็นระยะเวลา 7 ปี ถือเป็นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้มั่นคงคุ้มค่าต่อการปล่อยกู้ จึงคาดว่าจะทำให้การเจรจากับสถาบันการเงินง่ายและมีความเป็นไปได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญคือต้องมีผู้โดยสารต่อเที่ยวเกิน 60% ถึงจะสร้างรายได้ให้สอดรับกับค่าที่ประมาณการไว้ จึงได้มอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปพิจารณาหาเส้นทางเดินรถใหม่ ให้ผู้ประกอบการรถตู้ด้วย เพื่อจูงใจและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ทั้งนี้ มาตรการเปลี่ยนมาใช้รถไมโครบัสเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการวางรากฐานความปลอดภัยให้กับระบบขนส่งสาธารณะตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคาดว่ารถตู้สาธารณะส่วนใหญ่มากกว่า 80% จะต้องเปลี่ยนมาใช้รถไมโครบัสภายในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีจำนวนรถตู้ทั้งสิ้น 1.6 หมื่นคัน กระทรวงคมนาคมจึงเน้นใช้มาตรการสมัครใจในการปรับเปลี่ยนรถตู้มาเป็นรถไมโครบัสเพื่อความปลอดภัยผู้โดยสาร โดยมีมาตรการทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการประมาณ 8 ราย ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนมาผลิตรถโดยสารขนาดเล็ก อาทิ บริษัท บ้านโป่งอุตสาหกรรม และบริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ตั้งโรงงานในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) แทน เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่กำลังซบเซา

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการนำร่องทางบริษัท ขนส่ง (บขส.) จะนำรถไมโครบัสมาทดลองวิ่งให้บริการจำนวน 55 คัน ใน 13 เส้นทาง ภายในเดือน ก.ค. 2560 โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ได้กำหนดมาตรฐานการผลิตรถไมโครบัสสาธารณะจะต้องเป็นรถโดยสารขนาดเล็กมีที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง และรถโดยสารขนาดเล็ก 21-30 ที่นั่ง รวมถึงมาตรฐานด้านอื่นที่ได้กำหนดไว้ อาทิ ขนาดของตัวรถ ต้องมีช่องทางเดิน มีอุปกรณ์ส่วนควบ มีทางขึ้น-ลง ประตูฉุกเฉิน มีเก้าอี้ที่สามารถพับได้ มีการกำหนดระยะห่างของเก้าอี้ และต้องมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไมโครบัสในอนาคตจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นนิติบุคคล เพื่อให้ง่ายต่อการกำกับดูแลและการควบคุมของกรมการขนส่งทางบก เช่น ก่อตั้งเป็นบริษัทหรือในรูปสหกรณ์ โดยการเปลี่ยนผ่านจากรถตู้มาใช้รถไมโครบัสนั้นจะทยอยแบ่งเป็นเฟสเพื่อเผื่อเวลาให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมวางแผนธุรกิจการเงินและการออร์เดอร์สินค้าหรือชิ้นส่วนการผลิต