posttoday

ตามรอยพ่อ สานต่อที่พ่อทำ

11 มีนาคม 2560

นับจากวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัย จวบจนวันนี้เป็นเวลา 150 วัน เป็น 150 วันที่หัวใจคนไทยเต็มไปด้วยน้ำตา

โดย...ทีมงาน โลก 360 องศา facebook : โลก 360 องศา youtube : โลก 360 องศา

นับจากวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัย จวบจนวันนี้เป็นเวลา 150 วัน เป็น 150 วันที่หัวใจคนไทยเต็มไปด้วยน้ำตาและความอาลัยโศกเศร้า อย่างไรก็ตามสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงทำเพื่อคนไทยตลอดมาทั้งในรูปของโครงการตามพระราชดำริต่างๆ และพระราชทานแนวคิด ทฤษฎีในการพัฒนาจำนวนมากยังคงไม่สูญหายไปไหน

ผู้คนจำนวนมากน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาเป็นธงนำในการดำเนินชีวิต สร้างความสุขความสำเร็จให้กับตนเองและครอบครัว และก็มีอีกไม่น้อยที่พยายามเดินตามรอยของพระองค์ท่าน รวมทั้งร่วมสานต่อโครงการต่างๆ ตามพระราชดำริของพระองค์

ตลอด 7 ทศวรรษภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เกิดโครงการพระราชดำริกว่า 4,600 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ที่มีปัญหา แผ่ความร่มเย็นไพศาลไปทั่วผืนแผ่นดินไทย

ตามรอยพ่อ สานต่อที่พ่อทำ

“โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับความสนใจจากประชาชนคนไทยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะชื่อที่ทำให้เกิดความฉงนสงสัย และนำไปสู่การหาคำตอบนั่นเอง โครงการนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 250 ไร่ ใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ที่นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาจากพื้นที่เสื่อมโทรมและกันดาร กลายมาเป็นโครงการตัวอย่างด้านเกษตรกรรม และปัจจุบัน คือหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้อย่างไม่ขาดสาย

ในพื้นที่โครงการมีทั้งตัวอย่างแปลงปลูกพืช ตัวอย่างระบบชลประทาน การทำปศุสัตว์ การแปรรูปน้ำนม และต้นแบบพลังงานทดแทน

นอกจากนั้น ที่ จ.เพชรบุรี นี้ยังมีอีกโครงการที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของพระองค์ท่านที่มองยาวไกลไปถึงอนาคต นั่นก็คือ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ป้ายหน้าโครงการมีพระราชดำรัสความว่า “...พื้นที่นี้มีความเสื่อมโทรม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด ให้พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ และเกษตรกรรม ให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิม มีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ได้ใช้ประโยชน์และอาศัยผลผลิตจากป่าไม้ โดยไม่ต้องบุกรุก เข้าทำลายป่าไม้อีกต่อไป...” พระราชดำรัส 5 เม.ย. 2526

ตามรอยพ่อ สานต่อที่พ่อทำ คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล

ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในเรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งถ่ายทอดวิชาการและเทคโนโลยีให้กับประชาชนเพื่อเป็นทางเลือกในการพัฒนาอาชีพ ตามภูมิสังคม โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีอาชีพ มีรายได้ และมีความสุขอย่างยั่งยืน โดยดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ แห่งนี้ ยังได้มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย การปลูกมะกอกโอลีฟ ในประเทศไทยซึ่งมะกอกโอลีฟเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ของประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน ผลของมะกอกนำไปผลิตน้ำมันมะกอก หรือนำไปรับประทาน ทั้งแบบสด และแบบแปรรูปได้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริ ให้โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ประสานความร่วมมือ กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมะกอกโอลีฟ โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้น เพื่อผลิตน้ำมันมะกอกสำหรับบริโภคภายในประเทศ

ตามรอยพ่อ สานต่อที่พ่อทำ ภาคเอกชน ร่วมมือกับ โครงการส่วนพระองค์ฯ ทำการพัฒนาสารสกัดจากใบมะกอกโอลีฟ

แต่เนื่องจากต้นมะกอกโอลีฟที่ทดลองปลูกไม่ออกผล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงรับสั่งให้ลองสกัดน้ำมันจากใบ แม้จะไม่ได้ผลมะกอก แต่ใบมะกอกได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดี และยังมีคุณสมบัติ ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ รักษาเบาหวาน ชะลอความแก่ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความดัน ลดการอักเสบ

จากจุดนี้ได้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ภาคเอกชน ร่วมมือกับโครงการส่วนพระองค์ฯ ทำการพัฒนาสารสกัดจากใบมะกอกโอลีฟ จนนำไปสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในที่สุด ภายใต้แบรนด์ Pure care ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือสหพัฒน์

คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล สะท้อนมุมมองของเอกชนที่เข้ามาร่วมมือกับโครงการส่วนพระองค์ฯ ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำประโยชน์ให้กับพสกนิกรมากมาย เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นองค์กร เราก็ต้องมองหาว่าเราจะทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ตรงไหนบ้าง ที่บริษัทมีโรงงานเครื่องสำอาง ซึ่งมีการสกัดสารต่างๆ จากธรรมชาติมาอยู่แล้ว เมื่อได้รับการติดต่อมาให้ช่วยสกัดสารจากใบมะกอก เมื่อทราบว่าเป็นโครงการพระราชดำริด้วย ก็ยิ่งมีความยินดีและปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง ที่จะได้มีส่วนทำงานเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ตามรอยพ่อ สานต่อที่พ่อทำ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี

อีกหนึ่งโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการแก้ปัญหาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระประสงค์ที่จะทดลองแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุด หนักที่สุดของประเทศ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในพื้นที่อื่นได้อย่างสบายหากสอบผ่านการแก้ปัญหาในพื้นที่เหล่านั้น นั่นก็คือศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ที่นี่เป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว และเป็นที่มาของทฤษฎีแกล้งดิน คือการทำให้ดินมีความเปรี้ยวให้มากที่สุดแล้วค่อยแก้ไขเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในที่อื่นๆ ของประเทศนั่นเอง

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทรงแนะแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเริ่มต้นจาก การทำความเข้าใจในข้อมูลที่เรียกว่า “ภูมิสังคม” ก่อนเป็นอันดับแรก

ส่วนแรก คือ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ สภาพพื้นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ส่วนที่สอง คือ ข้อมูลด้านสังคม คือการเข้าใจ “คน” ที่มีความคิด วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์และบริบททางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมร่วมสมัย

จากโครงการพระราชดำริกว่า 4,600 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการจะมีโครงการย่อยๆ และตัวอย่างดีๆ จำนวนมาก หากคนไทยได้ไปเรียนรู้และนำมาขยายผล ด้วยการปรับประยุกต์ให้เข้ากับการดำเนินชีวิต ขณะที่ห้างร้าน หรือองค์กรใหญ่ๆ หากนำไปขยายผล แล้วนำไปสู่ การสร้างงาน สร้างคุณค่า ให้กับสังคมไทย นอกจากจะเป็นการสานต่อปณิธานของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยแล้ว ผลที่ได้คือการพัฒนาประเทศอย่างมีสติ เกิดความมั่นคง และยั่งยืน

ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้ทางรายการ โลก 360 องศา วันเสาร์นี้ ทาง ททบ.5