posttoday

พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ยกมาตรฐานสมอ.4.0

29 มกราคม 2560

จากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นผลักดันให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ)

โดย...ดวงนภา ประเสริฐพงษ์

จากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นผลักดันให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยกระดับรายได้ประชาชนให้ก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ปรับบทบาทการทำงานสู่การใช้เทคโนโลยีที่ผลิตน้อย แต่ได้มูลค่ามาก จำเป็นต้องมีมาตรฐานสินค้าเป็นตัวควบคุมเพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค

พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า การเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการมีทั้งความท้าทายและความกดดันแต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะขณะนี้รัฐบาลมุ่งเน้นขับเคลื่อนมาตรฐานต่างๆ ให้สอดรับกับเอสเคิร์ฟ ต้องออกมาตรฐานรวดเร็ว และขณะเดียวกันก็ต้องการตรวจติดตาม ทำให้บทบาทของ สมอ.ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและทำให้การทำงานเห็นผลเป็นรูปธรรม เกิดกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้น

สำหรับภารกิจของ สมอ.ในปีนี้มีหลากหลายด้าน โดยได้งบประมาณดำเนินงานรวม 633 ล้านบาท โดยโครงการที่รัฐบาลต้องการเร่งให้แล้วเสร็จภายในปีนี้มีหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟในกลุ่มยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

พิสิฐ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่เริ่มเข้ามารับตำแหน่ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 สมอ.ได้ปรับปรุงกระบวนการกำหนดมาตรฐานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยมาตรฐานทั่วไปจากเดิมใช้เวลากำหนด 315 วัน ลดลงเหลือ 150 วัน มาตรฐานบังคับจากเดิมใช้เวลากำหนด 445 วัน ลดลงเหลือ 180 วัน ขณะเดียวกันได้เร่งพัฒนาหน่วยงานเครือข่ายด้านการกำหนดมาตรฐานมาช่วยดำเนินกำหนดมาตรฐาน โดยในรอบ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.-ธ.ค. 2559) ได้กำหนดมาตรฐานกลุ่มเอสเคิร์ฟแล้ว 32 เรื่อง จากเป้าหมายทั้งปีที่วางเอาไว้ 79 เรื่อง

“เราก็มาดูว่ามีภารกิจหลักที่เราต้องดำเนินการคืออะไรบ้าง มันจะมีเรื่องของตัวชี้วัดเป้าหมายที่ต้องดำเนินการ อย่างเรื่องของการกำหนดมาตรฐาน ก็จะมีแผนแม่บทของการกำหนดมาตรฐาน มีรายชื่อของมาตรฐานที่ต้องลงไปรีบเร่งการกำหนดมาตรฐาน เพื่อสนองนโยบายภาครัฐ เช่น เรื่องเอสเคิร์ฟ เรื่องสมุนไพร อันนี้ก็ชัดเจนว่าเราต้องมีการเพิ่มเติมเสริมเข้าไปในแผนแม่บทด้วย บางส่วนก็เร่งรัดให้เสร็จภายในปี 2560” พิสิฐ กล่าว

สำหรับมาตรฐานสมุนไพรนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยรัฐบาลตระหนักถึงมูลค่าของสินค้ากลุ่มนี้ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงได้มีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปมีบทบาทในการร่างมาตรฐานเพื่อยกระดับสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไปสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยล่าสุด สมอ.ได้มีการประชุมร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการทำมาตรฐานสมุนไพร

“อันนี้ต้องเร่งรัดให้ตัวสมุนไพรที่เป็นเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปี 2560 เท่าที่ดูตอนนี้ก็มีตัวเป้าหมายอยู่ คือเราจะต้องทบทวนเป้าหมายที่เรามีอยู่แล้ว แต่ที่เราเคยประกาศมันมีอยู่แล้วแต่ก็นานมาแล้ว ดังนั้นเราก็จะต้องทบทวน ให้ทันสมัยมากขึ้นเพราะในอดีตกระบวนการผลิตสมุนไพรไม่ทันสมัย แต่ปัจจุบันมีการผลิตน้ำมันหอมระเหยต่างๆ มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นเราก็ต้องมาปรับมาตรฐานของเราให้สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไปแต่จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากเพราะคนจะนำไปใช้เป็นยา เครื่องสำอาง” พิสิฐ ระบุ

นอกจากนี้ สมอ.ยังเตรียมจัดทำมาตรฐาน มอก.ในเรื่องของการแพทย์แผนจีน ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์ฯ เนื่องจากต้องมีมาตรฐานสากล มีคณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับมาตรฐานสากล คณะกรรมการ ISO/TC249 ซึ่งทำงานด้านมาตรฐานการแพทย์แผนจีน ส่วนคณะกรรมการวิชาการการแพทย์แผนจีนมีอยู่แล้ว เพราะเห็นว่าเป็นที่นิยมและมีการใช้สมุนไพรทุกประเภทกันอย่างแพร่หลาย

พิสิฐ กล่าวว่า ความยากในการทำงานคือการบริหารคน แต่ตนพยายามใช้ความเป็นพี่เป็นน้องมากกว่าการออกคำสั่ง ให้ความเป็นกันเอง เข้าพบง่ายเหมือนคนในครอบครัว โดยติดตามรับฟังดูแลปัญหา มีปัญหาจะช่วยแก้ไขได้ทันไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่โดดเดี่ยว ต้องร่วมแก้ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงาน เพราะถ้าไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้ข้าราชการรุ่นน้องตั้งแต่แรกก็จะสั่งการลำบาก ที่สำคัญต้องไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด

“สำหรับการทำงานเรื่องที่หนักใจในการบริหารคนก็คือ การเลือกคนดำรงตำแหน่ง เพราะคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาก ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ถูกเลือกไม่ดี แต่คุณสมบัติสูสีกัน ไม่ใช่ว่าผู้บังคับบัญชาไม่รักเขา แต่เราจำเป็นต้องเลือก เพราะเราไม่มีทรัพยากรเพียงพอให้กับทุกคน เป็นความลำบากใจมาก แต่เราต้องตัดสินใจ เขาจะยอมรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่ได้เลือกเพราะผลประโยชน์ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว เรามีกติกามีหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะถ้าจะเลื่อนไปตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง บางทีเราก็ใช้ในรูปแบบของกรรมการเราฟังผู้บริหารด้วย เราไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว แต่จะให้ถูกใจทุกคนเป็นเรื่องยาก” พิสิฐ กล่าว