posttoday

ไอทีกับการทำเกษตร

10 ธันวาคม 2559

การสานต่ออาชีพเกษตรกรของคนยุคใหม่นั้นมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่ต้องการที่จะเหน็ดเหนื่อยและทุ่มเทกับอาชีพที่ต้องใช้แรงงานหนัก

โดย...บับเบิลบี

การสานต่ออาชีพเกษตรกรของคนยุคใหม่นั้นมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่ต้องการที่จะเหน็ดเหนื่อยและทุ่มเทกับอาชีพที่ต้องใช้แรงงานหนัก ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมด้วยการนำเทคโนโลยีและไอทีเข้ามาต่อยอดนั้น นอกจากจะช่วยลดการใช้แรงงาน ยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าและหากนำไอทีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมก็ช่วยเพิ่มผลผลิตได้ดีขึ้น และคนรุ่นใหม่หลายๆ คนก็ประสบความสำเร็จกับการเป็นเกษตรกรยุคใหม่

บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า ดีแทคจะหาเกษตรกรที่มีความโดดเด่นด้านแนวคิดเกษตรครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต ลดการสูญเสียทรัพยากรไปสู่การจัดจำหน่ายถึงผู้บริโภค รวมทั้งยังใช้ออนไลน์เป็นช่องทางการขาย นำเสนอสินค้า โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ถือว่าช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ายุคใหม่ได้

อายุ จือปา ชาวเขาเผ่าอาข่าซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กาแฟแบรนด์ “อาข่า อาม่า” คือตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จของเกษตรกรยุคใหม่ จากการที่ได้รับโอกาสจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานที่อยู่ ที่ทำกิน จากการริเริ่มปลูกผัก ผลไม้เมืองหนาว ชาและกาแฟพันธุ์พระราชทาน และส่งเสริมเครือข่ายให้ชาวบ้านผลิตกาแฟเป็นช่องทางติดต่อลูกค้าสะดวกขึ้น อีกทั้งเป็นการสื่อสารทางการตลาดที่ช่วยเพิ่มยอดขายเป็นอย่างดี

ไอทีกับการทำเกษตร

 

“ผมใช้สมาร์ทโฟนในการจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบออนไลน์ เพื่อตัดวงจรเรื่องของพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งการเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ช่วยให้มีโอกาสใหม่ๆ มากขึ้น”

เช่นเดียวกับ พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรผู้หยิบยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำฟาร์มผักออร์แกนิก “แก้วพะเนาว์ ยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ผ่านการใช้โซเชียลมีเดียในการโพสต์ขายสินค้า มีกระบวนการตั้งแต่ปลูก แปรรูป ขาย เป็นการเชื่อมโยงระหว่างต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นการตอบรับยุคออนไลน์กำลังบูม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งยังขยายการขายสินค้าไปยังต่างประเทศได้ด้วย

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า เทคโนโลยีสามารถพัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตเชิงเกษตรกรรม การนำนวัตกรรมมาใช้ติดอาวุธให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างช่องทางตลาดให้เกษตรกรทำให้ไม่ต้องประสบปัญหาจากวงจรราคาสินค้าตกต่ำ

การสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจในการทำอาชีพเกษตรกรรมให้แก่คนรุ่นใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้งานและแก้ปัญหา จึงเป็นการช่วยให้สานต่ออาชีพเกษตรกรรมให้แก่คนรุ่นหลังได้ต่อไป

ไอทีกับการทำเกษตร พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์