posttoday

ทักษะสื่อสาร-ร่วมมือ

16 ตุลาคม 2559

ผู้เขียนขอนำเสนอบทความการพัฒนาบุคลากรที่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 กันต่อ

โดย...ธรรมนูญ มิตรเทวิน ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เดอะไนล์

ผู้เขียนขอนำเสนอบทความการพัฒนาบุคลากรที่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 กันต่อ

ก่อนอื่นขอเล่าถึงแนวคิดของประเทศไทย 4.0 อีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นไปที่ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมี 2 แนวคิดสำคัญคือ

1) “Strength from Within” หมายถึงการเข้มแข็งจากภายใน

2) Connect to the World หมายถึงเมื่อภายในประเทศเข้มแข็งแล้วก็ต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งต้องไปสู่ในระดับภูมิภาคอาเซียน และขยายออกไปสู่เอเชีย จนถึงของโลก

ที่หยิบยกแนวคิดนี้มากล่าวถึง เพราะทักษะสำคัญของคนหรือบุคลากรในองค์กร ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวคิดที่จะ “Connect to the World” นั่นคือ ทักษะด้านการสื่อสารและการร่วมมือกัน (Communication and Collaborative) ซึ่งเป็นทักษะที่ 3 ของ “ทักษะในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills)” นั่นเอง

ในด้านนี้ 2 ทักษะสำคัญคือทักษะด้านการสื่อสาร (Communication) เป็นทักษะที่คนทั่วไปหรือในองค์กรมีการพัฒนาฝึกอบรมมามากมายและเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องเนื้อหาและรูปแบบวิธีการนำเสนอ แต่สิ่งที่ต้องเติมและเป็นปัญหากับคนไทยมาช้านานคือการเรียนรู้เพิ่มเรื่องภาษาอังกฤษ และภาษาต่างชาติอื่น ซึ่งเป็นจุดที่ต้องหาวิธีการเพื่อปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

แต่ที่เป็นจุดตาย หรือจุดวิกฤตของคนหรือบุคลากรในประเทศไทยนั่นคือทักษะด้านการร่วมมือกัน (Collaborative)

ข้อเท็จจริงทักษะด้านนี้ปลูกฝังอยู่ในสังคมไทยมานานแล้วตั้งแต่สมัยก่อน ในสังคมชนบท ในกิจกรรม ลงแขกเกี่ยวข้าว หรือบางคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการแลกกับข้าว อาหาร ร่วมกันทานระหว่างเพื่อนบ้าน

ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมในปัจจุบัน เรื่องเหล่านี้ได้เลือนหายไปในสังคมชนบท และยิ่งในสังคมเมืองคงไม่ต้องพูดถึง เป็นสังคมต่างคนต่างอยู่กันอย่างชัดเจน ยังไม่รวมถึงปัญหาการเมืองที่สะท้อนออกมาว่าเรื่องการสร้างการร่วมมือกันซึ่งเป็นทักษะสำคัญเพื่อการก้าวไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ทำได้ยากไปอีกขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นของผู้เขียน ทักษะด้านการร่วมมือกันนี้สามารถเกิดขึ้นได้และไม่ต้องผ่านการใช้ความรู้หรือตำราที่ไหน ขอให้เริ่มต้นโดยการ “ละวางตัวตน” เรียนรู้ที่จะ “เปิดใจรับฟัง” และพยายาม “มองในมุมคนอื่น” พร้อมกับหาจุดร่วมความต้องการที่ตรงกัน เท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างทักษะด้านการร่วมมือกันได้แล้วของทุกคน

ทางด้านบทบาทขององค์กรก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้เกิดสภาพการทำงานที่ร่วมมือกันแสดงถึงความเป็นทีม หรือผู้บริหารก็ต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศความร่วมมือกันให้พนักงานได้เห็น

ขณะที่ฝ่ายพัฒนาบุคลากรนอกจากช่วยหากิจกรรม Team Building มาสนับสนุนเป็นปกติอยู่แล้ว ก็ต้องมีกิจกรรมรณรงค์เรื่องการทำงานเป็นทีมอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดแรงเหวี่ยงตลอดเวลา จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรให้ได้

เพียงเท่านี้ ก็ถือว่าเริ่มการก้าวไปสู่การเป็นบุคลากรสมัยใหม่เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ได้แล้วอีกระดับหนึ่ง