posttoday

สภาสตรีฯบุกโครราชดูของจริงชุมชนผลิตผ้าไหม

13 ตุลาคม 2558

สภาสตรีฯลงพื้นที่ดูของจริง ชุมชนทอผ้าไหมในอ.สีดาและปักธงชัย เพื่อส่งเสริมการทอผ้าไหมให้อยู่คู่แผ่นดินไทย

สภาสตรีฯลงพื้นที่ดูของจริง ชุมชนทอผ้าไหมในอ.สีดาและปักธงชัย  เพื่อส่งเสริมการทอผ้าไหมให้อยู่คู่แผ่นดินไทย
 
น.ส.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงนครราชสีมา ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการสภาสตรีฯ  เดินทางมาเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าไหมใน จ.นครราชสีมา  เพื่อศึกษาพัฒนาการตลาดผ้าไทยในท้องถิ่น ในโครงการ “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” โดยมีนางณัฎฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ
 ทั้งนี้ ชุมชนที่คณะกรรมการสภาสตรีฯเดินทางไปดูกิจกรรม ประกอบด้วย  บ้านแฝก-โนนสำราญ อ.สีดา ชุมชนทอผ้าไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกต้นหูกวาง ปลูกต้นคูณ การสาวไหม การมัดย้อมผ้าให้เป็นลวดลาย การทอผ้า โดยแบ่งหน้าที่การทำงานเป็นรายครัวเรือน  เมื่อทอผ้าเป็นผืนได้แล้ว ก็นำออกจำหน่าย นำรายได้มาแบ่งปันกัน เป็นแบบอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง  นอกจากนั้นยังได้เดินทางไป ชุมชนจะโป๊ะ อ.อปักธงชัย ชุมชนใหญ่ที่มีชื่อเสียงด้านการย้อมสีผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ มีลายผ้าเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีพิพิธภัณฑ์ผ้าของชุมชนที่เก็บสะสมผ้าไว้ เพื่ออนุรักษ์ลายผ้า บางผืนมีอายุกว่า 105 ปี
 
น.ส.วันดี กล่าวว่า การทอผ้าที่อ.สีดาเป็นการทอผ้าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเกิดมาจากการฝึกฝนและพรสวรรค์ของผู้ทอ ผ้าไหมทอมือถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายสวยงาม ปัจจุบันยังมีหมู่บ้านที่ยังทอผ้ากันเป็นอาชีพประจำ สร้างรายสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างดี ขณะที่ฝีมือการทอถือว่า มีความหลากหลายลวดลายสีสัน มีทั้งผ้าหางกระรอก ผ้ามัดหมี่ ผ้าลายขอทบเชือก ถือว่าเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของที่นี่ นอกจากนี้ชาวบ้านอ.สีดายังนิยมปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและสาวไหมในหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากการทำนาอีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม มีการรวมกลุ่ม “กลุ่มทอผ้าไหมบ้านแฝก-โนนสำราญ” ที่ อ.สีดา เป็นการนำผ้าไหมที่แต่ละคนทอ และนำมาฝากขาย มีการเก็บเงินเป็นกองกลางเข้ากลุ่ม สำหรับคนที่ทอเก่ง หรือฝีมือดีจะสามารถขายผ้าไหมได้ถึงชิ้นละ 5000-6000 บาท ปัจจุบันมีคนทอผ้ามากขึ้น ต่างกับเมื่อก่อนเป็นการทอไว้ใช้เอง เพราะมีหน่วยงานราชการได้เข้ามาช่วยให้ความรู้และพัฒนาเพิ่มศักยภาพ  และยังเป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ไม่ว่าดูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
 
สำหรับ การทอผ้าไหมที่บ้านจะโปะ อ.ปักธงชัย ถือว่าเป็นหมู่บ้านเส้นทางสายไหมที่มีประวัติมายาวนาน  บ้านจะโปะเป็นชุมชนโบราณของปักธงชัย มีประวัติยาวนาน มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นเมืองหน้าด่านสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีวิถีชีวิตในการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ส่วนทำนาเป็นอาชีพรอง ลักษณะผ้าทอพื้นเมืองที่อ.ปักธงชัย ผ้าไหมพื้นสีเดียวจะมีสีสันสดใสสวยงามมาก ถือว่า เป็นลักษณะเด่นของผ้าไหมอำเภอปักธงชัย

 

สภาสตรีฯบุกโครราชดูของจริงชุมชนผลิตผ้าไหม