posttoday

กรมส่งเสริมการค้าฯเผยผลร่วมกิจกรรมเทศกาลอาหารเอเชีย หุงข้าวหอมมะลิย่านไทม์แสควร์นิวยอร์ก ชี้เอกชนร่วมงาน“ซัมเมอร์แฟนซี ฟู้ด” เจรจาธุรกิจ 750 คู่ ออเดอร์ 340 ล้าน ชี้ GSP ดันการส่งออกไทยไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้น จาก 5 เดือนแรกโตกว่า 4.9%

10 กรกฎาคม 2558

โดยผู้ส่งออกไทยขอใช้สิทธิส่งออกได้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.2558 นั้น โดยสินค้าที่ได้รับการคืนภาษี เช่น อาหารปรุงแต่ง จะช่วยให้มีการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารได้เพิ่มขึ้น และมีเงินหมุนเวียนในระบบการค้ามากขึ้นตามไปด้วย

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการเจาะตลาดเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าไทยตามนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ว่า กรมฯได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯเข้าร่วมงานเทศกาลอาหารเอเชียภายใต้ชื่อ “เทสท์ เอเชีย แอ๊ท ไทม์ แสควร์” ( Taste Asia at Times Square) เพื่อแสดงศักยภาพของอาหารเอเชีย ในย่านไทม์แสควร์ Times Square ใจกลางมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นย่านธุรกิจและบันเทิงที่มีผู้คนทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยวและท้องถิ่นแวะเวียนไปเป็นจำนวนมาก โดยเน้นสินค้าข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าว เครื่องปรุง เครื่องดื่ม มีผู้เข้าร่วมงานและชมผ่านสื่อต่างๆ กว่า 2 แสนคน เพราะตรงกับช่วงวันหยุด

และในช่วงต่อเนื่องกันมีผู้ประกอบการผู้ส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยจำนวน 28 รายไปเข้าร่วมงาน “ซัมเมอร์ แฟนซี ฟู้ด”( Summer Fancy Food) ที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่งผู้ประกอบการได้เชิญผู้นำเข้าและผู้กระจายสินค้าไทยที่เข้าร่วมงานนี้ด้วย ทำให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น จากการประเมินเบื้องต้นมีการเจรจาจับคู่การค้าจำนวนกว่า 750 คู่เจรจา สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวประเภทของขบเคี้ยว น้ำมะพร้าว และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับมะพร้าว สับปะรดกระป๋อง มะขามหวานและมะขามเปรี้ยว โดยมีการประเมินว่าจะมียอดคำสั่งซื้อมูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(340 ล้านบาท)

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า จากรสชาติและคุณภาพสินค้าอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารไทยที่นิยมอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีการแข่งขันที่สูงเพิ่มมากขึ้นจากประเทศคู่แข่งที่พยายามเลียนแบบ หรือ สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคต่อสินค้าอาหารของไทย ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้ จึงมุ่งให้ข้อมูลและการสร้างภาพลักษณ์สินค้าอาหารของไทยจะเป็นการสร้างความแตกต่าง และก่อให้เกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ประเทศไทยในด้านคุณภาพ และความปลอดภัย ของอาหารจากประเทศไทย

การร่วมงานในครั้งนี้คาดว่าจะสามารถสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์ ไปยังกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายทั้งในกลุ่มผู้บริโภคที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ รวมถึงสินค้าอาหารจากประเทศไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงการสร้างการรับรู้ที่มีต่อประเทศไทยว่าเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) และเมื่อคิดถึงอะไรที่เกี่ยวกับอาหารให้คิดถึงประเทศไทย(Think Thailand) ที่จะสามารถเป็นแหล่งการผลิตอาหารที่สำคัญ ซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อทีวี และสื่อทางอินเตอร์เน็ต และในระหว่างงานมีผู้เข้าชมงาน ซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าหลักปลายทางมากกว่าแสนคน

ทั้งนี้ผู้เข้าชมงานได้ให้ความสนใจสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับข้าว และสินค้าอาหารของไทยมากมาย รวมถึงร้านอาหารไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอการปรุงอาหารไทยที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อนในโอกาสนี้ผู้เข้าร่วมงานยังได้ชิมร่วมกับข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ และสอบถามข้อมูลถึงสินค้าข้าวหอมมะลิของไทย เพราะมีกลิ่นหอมชวนรับประทานจากการหุงข้าวที่เตรียมสำหรับจัดให้ทดลองชิม และเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลและชี้แจงให้สังเกตเครื่องหมายรับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิของกรมการค้าต่างประเทศให้ได้รับทราบ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Thai Select เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยต่ออาหารจากประเทศไทย

สำหรับกรณีที่สหรัฐฯ ได้ลงนามผ่านร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือน( 31 ก.ค.2556 - 31 ธ.ค.2560) โดยผู้ส่งออกไทยขอใช้สิทธิส่งออกได้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.2558 นั้น โดยสินค้าที่ได้รับการคืนภาษี เช่น อาหารปรุงแต่ง จะช่วยให้มีการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารได้เพิ่มขึ้น และมีเงินหมุนเวียนในระบบการค้ามากขึ้นตามไปด้วย การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.)ของปีนี้ มีมูลค่ากว่า 9,862 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(319,516 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 4.98 % สินค้าส่งออกสำคัญ อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่มห่ม อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น