posttoday

3จี-4จี จะแรงหรือล้า อยู่ที่ปริมาณการใช้งาน

22 มีนาคม 2558

ยังไม่ถึงช่วงของการประมูลคลื่นความถี่ 4จี อย่างเป็นทางการ แต่ภาครัฐก็ส่งสัญญาณดีให้แก่โอเปอเรเตอร์ทุกราย

ยังไม่ถึงช่วงของการประมูลคลื่นความถี่ 4จี อย่างเป็นทางการ แต่ภาครัฐก็ส่งสัญญาณดีให้แก่โอเปอเรเตอร์ทุกราย ว่าจะมีการประมูลในช่วงเดือน ส.ค.นี้แน่นอน ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทั้งสามค่ายต่างขานรับและพร้อมประมูลแน่นอน แล้วเหตุใดจึงต้องเร่งประมูล 4จี และหลังจากใช้ 4จี แล้ว จะใช้ได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่เรื่องนี้น่าติดตาม

“ด้านการใช้งาน ไม่มีคำว่า 3จี แท้หรือเทียม แต่อยู่ที่ผู้ให้บริการใช้งานคลื่นสัญญาณที่ได้มานั้นแบบเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ เมื่อเอา 3จี มารันบนคลื่นสัญญาณ 2100 ยิ่งทำให้ความรวดเร็วในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น “ชัยยศ จิรบวรกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทคกล่าว

กรณีที่มีข้อสงสัยว่า 3จี ที่ใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายเต็มที่ในการให้บริการหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ในแง่ของการทำงานทุกค่ายต่างก็พยายามจัดสรรระบบสัญญาณให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างครบถ้วน และรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้า แต่ปริมาณความต้องการสัญญาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานดาต้า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นจาก 32.7% เป็น 48% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 61% ในปี 2561

การเติบโตแบบดับเบิ้ลดิจิท หรือการใช้งานที่โตแบบก้าวกระโดดคือมากกว่า 40-50% ต่อปี เริ่มทำให้คลื่นสัญญาณที่ทุกค่ายได้มาเริ่มติดปัญหา และทุกฝ่ายต่างก็ต้องการเร่งให้มีการเปิดประมูล 4จี มากขึ้น

“ความถี่ก็เหมือนกับถนนที่มีข้อจำกัดในการรองรับจำนวนรถ หากใช้งานมากไปก็จะติดขัด ความถี่ก็เช่นกัน ยิ่งลูกค้าใช้งานเยอะ โอเปอเรเตอร์ก็ต้องการที่จะมีสเปกตรัมที่กว้างมากพอ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่จะสามารถใช้งานสัญญาณได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดกระแสความต้องการคลื่นความถี่ 3จี และโอเปอเรเตอร์ก็ร่วมกันผลักดันให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ 2100 เมื่อ 2 ปีก่อน เช่นเดียวกันตอนนี้ที่ต้องเร่งประมูล 4จี”

ขณะที่โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายได้คลื่นสัญญาณ 2100 เมกะเฮิรตซ์ มาในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน แต่อยู่ที่ว่าคลื่นสัญญาณเดิมที่ถืออยู่ในมือคือ 850, 900, 1800 นั้น จะมีใครนำมาพัฒนาเป็น 3จี หรือต่อยอดไปเป็น 4จี ให้ทดลองใช้งานก่อน เพราะปัจจุบันตัวเครื่องลูกข่ายหรือสมาร์ทโฟนที่รองรับสัญญาณ 4จี เริ่มเข้ามาขายมากขึ้น

เมื่อความต้องการใช้งานเครื่องมาก การพัฒนาเครือข่ายก็ต้องรวดเร็วด้วยเช่นกัน เนื่องจากความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่นำมาใช้งานตอนเริ่มต้นในปี 2553-2554 ไม่เพียงพอที่จะรองรับสัดส่วนการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้น 10% ทำให้โอเปอเรเตอร์ต้องค้นหาความถี่และพัฒนาช่องทางการให้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เต็มความสามารถได้ในทีเดียว

ขณะที่ ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้งานสัญญาณของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จะพบว่าการใช้งานด้านโทรศัพท์น้อยลง แต่หันมาใช้ดาต้ามากขึ้น จากข้อมูลลูกค้าของเอไอเอสที่ใช้งานสัญญาณ 3จี ประมาณ 40.8 ล้านราย จากลูกค้าทั้งหมด 44.3 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต 20 ล้านราย และมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ใช้งานเพียง 600 เมกะไบต์/เดือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 1.6 กิกะไบต์/เดือน

 “หากมองย้อนหลังไปเมื่อปี 2555 ช่วงที่มีการประมูลคลื่นสัญญาณ 3จี เรามองว่าคลื่นความถี่จะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล ถ้าไม่นำมาใช้งานก็จะสูญเปล่า กสทช.จึงได้นำคลื่นความถี่นี้มาประมูล 3จี เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ให้ใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงคลังความรู้ต่างๆ

จนมาถึงวันที่ความสามารถในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปริมาณของคลื่นเริ่มไม่เพียงพอ การเข้าใช้งานสัญญาณเริ่มติดขัด ทุกฝ่ายจึงเร่งผลักดันให้เกิดการประมูล 4จี เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ได้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

การที่ทุกฝ่ายเร่งให้เกิดการประมูลนั้น เพราะมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ยิ่งมีสัญญาณ 4จี ให้ใช้งานเร็วเท่าไหร่ ประโยชน์ที่ได้นั้นมหาศาล เพราะนอกจากจะเป็นการรองรับการใช้งานดาต้าและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว ยังรองรับเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในเออีซีมีการใช้งาน 4จี กันเกือบหมดแล้ว เหลือแค่ไทยและพม่าที่ยังไม่ใช้งานอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมาเอกชนได้ลงทุนโครงข่ายเพื่อเตรียมพร้อมเปลี่ยนถ่ายจาก 3จี มาเป็น 4จี เป็นเม็ดเงินก้อนโต โดยเอไอเอสใช้งบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ดีแทคใช้งบลงทุนโครงข่าย 6 หมื่นล้านบาท ทรูใช้
งบ 4.3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าสู่ยุค 4จี เต็มตัว ค่ายโอเปอเรเตอร์ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ 100% หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการใช้งานดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีและคอนเทนต์ใหม่ๆ มาเสิร์ฟนักท่องโลกออนไลน์อย่างไม่หยุดยั้ง