posttoday

ฝรั่งเขาซื้อหุ้นอย่างไร

18 ตุลาคม 2556

หลายวันก่อน ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ

หลายวันก่อน ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าจะมานำเสนอนักลงทุนที่ติดตามคอลัมน์ “เอกการลงทุน” นี้ เริ่มต้นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ

ระยะเวลาการลงทุน

นักลงทุนต่างประเทศนี้มีหลายกลุ่มทั้งกลุ่มที่ลงทุนระยะกลางยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพอร์ตที่มีชื่อเสียง ซึ่งส่วนใหญ่ยังลงทุนในระดับ 2 ปีขึ้นไป และเน้นหุ้นขนาดใหญ่ (อาจจะเป็นขนาดกลางในมุมของกองทุน แต่ในมุมของตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ในขนาดใหญ่) ส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่เล่นสั้นมีแน่นอนส่วนใหญ่จะเป็น Hedge Fund ซึ่งก็เป็นการจัดตั้งขึ้นมาจากผู้ที่เชี่ยวชาญในการลงทุนระยะสั้น ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำงานหลักทรัพย์มาก่อน น้อยมากที่จะเกิดขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนเอง ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยพอสมควรที่ส่วนใหญ่กองทุนในลักษณะการเล่นสั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนกันเอง แปลง่ายๆ ก็คือ “ฝรั่งเล่นสั้นก็มีเล่นยาวก็มี” แต่ในการเลือกตัวไม่ว่า นักลงทุนต่างประเทศจะเล่นสั้นหรือยาว ก็พยายามเลือกหุ้นที่ขนาดใหญ่ เพราะให้ความสนใจเรื่องของปริมาณการซื้อขายและความเสี่ยงในเชิงของสภาพคล่อง

เพราะฉะนั้นระยะเวลาการลงทุนก็จะเฉลี่ย 2 ปีขึ้นไป ยกเว้น มีสิ่งที่ไม่คาดฝัน ส่วนการเล่นสั้นจะเกิดจากกองที่เป็น Hedge Fund

ด้านข้อมูล

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินกระแสข่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศมีข้อมูลในเชิงลึกมากกว่านักลงทุนไทยคำตอบที่ได้รับ หรือจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองด้วยจะพบว่า โปรกเกอร์ฝรั่งมีการลงทุนสูงกับข้อมูลฝ่ายวิจัยไม่ว่าเรื่องของการจ้างนักวิเคราะห์มักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และแน่นอนว่าของแพงแม้ไม่ต้องดีเสมอไป แต่โดยค่าเฉลี่ยแล้วของแพงมักจะดีกว่าของถูก โดยเฉพาะในเชิงของคุณภาพ อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนในไทย หลายบริษัทมักจะให้โอกาสโปรกเกอร์ฝรั่งในการเยี่ยมชมกิจการอีกทั้งนักวิเคราะห์ที่อยู่โปรกเกอร์ต่างชาติ มักจะได้ประชุมสายกับผู้จัดการกองทุนที่สามารถตัดสินใจในการซื้อของพอร์ตแปลว่า คำแนะนำของนักวิเคราะห์เหล่านี้นอกจากจะมีข้อมูลที่เข้มข้นแล้วยังมีพลังเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการซื้อหรือขายตามของผู้จัดการกองทุนด้วย และเป็นที่ทราบในเชิงการปฏิบัติงานจริงๆ ก็คือว่า การขอเยี่ยมชมกิจการของบริษัทใหญ่มักจะเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์โปรกเกอร์ต่างชาติมากกว่าโปรกเกอร์ไทย ด้วยเหตุผลที่ผู้บริหารเหล่านั้นคงคิดว่า การที่นักวิเคราะห์มาเยี่ยมชมกิจการแปลว่า เขาสนใจและถ้าเป็นโปรกเกอร์ฝรั่งคงมีเม็ดเงินมากกว่าคนไทย

เพราะฉะนั้นในแง่ของด้านข้อมูลจะพบว่า นักลงทุนต่างประเทศมีข้อมูลที่ดีกว่าจริง แต่เป็นสิ่งที่เขาลงทุนและทุ่มเท แต่ข้อมูลที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดีและแตกต่างกว่าที่เราได้รับ แต่บ่อยครั้ง จะเร็วกว่าเท่านั้น

ด้านจิตวิทยาการลงทุน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากการที่ผมได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการซื้อขายของฝรั่งก็คือ บ่อยครั้งที่ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศเมื่อมาเมืองไทยมักจะขอเข้าพบกับนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งนักลงทุนระยะยาวที่เป็น VI หรือ นักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นนักเก็งกำไร ซึ่งสิ่งที่มีการแลกเปลี่ยนกันนั้นก็คือ เพื่อต้องการให้รู้ว่าภาพตลาดหุ้นไทยนักลงทุนส่วนใหญ่มองเป็นอย่างไร แปลว่า ความเข้าใจเดิมๆ ที่เรามองว่า นักลงทุนต่างประเทศเป็นนักลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป ซึ่งในวงสนทนาในบางครั้งก็มีการพูดถึงข่าวพิเศษบ้างเป็นครั้งคราว

ด้านประสิทธิภาพการลงทุน

นักลงทุนท่านใดที่เคยคิดว่า นักลงทุนต่างประเทศจะประสบความสำเร็จในการลงทุน พูดง่ายๆ ก็คือ มักจะคิดว่าฝรั่งเล่นหุ้นต้องรวย และทำให้เมื่อไรที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธินักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดมักจะมองว่า ตลาดน่าจะขึ้น ผมได้สอบถามผู้รู้ที่ใกล้ชิดพบว่า บ่อยครั้งที่นักลงทุนต่างประเทศจะขาดทุนด้วยหลายๆ เหตุผล ก็คือ ประเมินสถานการณ์ผิด ยิ่งกรณีการลงทุนแบบเก็งกำไรของกองทุน Hedge Fund บางครั้งอาจจะยอมขาดทุนในตลาดหุ้น แต่ได้กำไรในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นไปได้

เพราะฉะนั้นบทสรุป ฝรั่งไม่จำเป็นต้องรวยด้วยหุ้นเสมอไป

แก๊ง 4 โมงเย็น ทุบหุ้น

หลายเดือนที่ผ่านมา คงเคยได้ยินเรื่องแรงขายตอน 4 โมงเย็นจนทำให้มีการนำเสนออย่างแพร่หลายในเรื่องของแรงขายที่เกิดขึ้น และในคำอ้างหลายครั้งก็บอกว่ามาจากนักลงทุนต่างชาติ ความเป็นจริงเท่าที่สอบถามผู้รู้ก็ได้ข้อมูลกันว่า ทุกวันนี้การส่งผ่าน Order ของนักลงทุนต่างประเทศทำได้หลายแบบกว่าเมื่อก่อน และการส่ง Order มีทั้งการส่งแบบเป็น Order ทีละหลักทรัพย์ หรือส่งเป็น ETF คือ ส่งเป็นตะกร้า โดยจะใช้โปรแกรมที่เขียนขึ้นมาเองเป็นผู้ส่ง ซึ่งส่วนใหญ่การส่งยังเป็นช่วงเช้าก่อนเปิดตลาดหุ้นไทย โดยใช้ผู้รับผิดชอบกะกลางคืน (เวลาที่ต่างประเทศ) เป็นผู้ส่ง แต่มีหลายครั้งที่เวลาเช้าของต่างประเทศ ซึ่งอาจจะตรงเวลาบ่าย 3บ่าย- 4 โมงในบ้านเรา ซึ่งเป็นเวลาเข้างานของผู้จัดการกองทุนพอดีที่มีข่าวเพิ่มเติม เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจของจีน เป็นต้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยอาจจะส่งคำสั่งมาเพิ่มเติมก็ได้ นั้นก็อาจจะเป็นที่มาของการเกิดแรงขาย (หรือบางครั้งซื้อ) ในช่วงใกล้การปิดตลาดหุ้นไทย

บทสรุปที่กล่าวมาในบทความในวันนี้เป็นตัวอย่างที่ต้องการนำมาแลกเปลี่ยนกับแนวคิด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็คือ จากเรื่องจริงและผู้ปฏิบัติงานจริง อย่างน้อยที่สุดเป็นการนำเสนอสำหรับผู้อ่านที่อาจจะได้รับข้อมูลจากข่าวลือ หรือการอ้าง หรือความเชื่อที่บางครั้งอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป