posttoday

ประชานิยมจนแต้ม เศรษฐกิจฝืดเคือง

25 สิงหาคม 2556

พลันที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาแถลงตัวเลขเศรษฐกิจแล้วพบว่าชะลอตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส

พลันที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาแถลงตัวเลขเศรษฐกิจแล้วพบว่าชะลอตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส กำลังซื้อ กำลังการผลิต การส่งออกต่างทรุดตัวหนัก สต๊อกเริ่มมีปริมาณมากขึ้น จนต้องปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงมาเหลือ 3.84.3% จากเดิม 4.25.2%

ตลาดหุ้น ตลาดเงิน และนักลงทุนก็มีปฏิกิริยาตอบสนองในทางลบ เมื่อผสานกับภาวะเศรษฐกิจโลก นักลงทุนต่างชาติพากันกระหน่ำขายหุ้นร่วม 2 หมื่นล้านบาท ขายตราสารหนี้ออกไปร่วม 4.6 หมื่นล้านบาท และเกิดการขนเงินออกไปร่วม 7 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าพรวดเดียวไปยืนที่ระดับ 32.14 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก่อนจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้น

นักลงทุนต่างตระหนักว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตพลาดไปจากที่ประมาณการไว้ และเมื่อดูดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจก็เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หมายถึง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ภาวะการค้าเริ่มซบเซา สินค้าขายได้น้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายเริ่มลดการผลิตลง เนื่องจากขาดทุน ผลที่ตามมาก็คือมีการเลิกจ้างแรงงาน ใช้ทรัพยากรและปัจจัยในการผลิตลดลง อำนาจซื้อของประชาชนน้อยลง

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะเกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจได้มีการขยายตัวสูงสุด กล่าวคือ ในช่วงที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองมีการผลิตสินค้าและบริการมากมายเพื่อสนองตอบต่อตลาดของผู้บริโภคที่มีกำลังอำนาจซื้อสูง ในช่วงนี้จะมีการจ้างงานเต็มที่ การว่างงานแทบจะไม่มี ลูกจ้าง แรงงานสามารถจะเลือกงานและเรียกร้องค่าจ้างได้ตามที่ต้องการ

ผลที่ตามมาคือ ผู้ผลิตต้องเผชิญกับภาระต้นทุนค่าแรงงานสูง รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่ปรับราคาขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศลดลง ดังนั้นจึงต้องลดการผลิตลง การส่งออกเริ่มชะงักงัน การนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากของนำเข้ามีราคาสูงกว่า

นอกจากนี้จะมีปัญหาทางด้านการเงิน เริ่มมีการขาดแคลนเงิน ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบลดน้อยลง เนื่องจากมีการขาดดุลการค้าหรือขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้

การที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ ในไตรมาส 2 ปีนี้ ทั้งการบริโภคครัวเรือน การลงทุนเอกชน และการส่งออก ที่ขยายตัวลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสซ้อน นับจากไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวติดลบ 6.4% จึงถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

หากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ มาดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ อีกไม่ช้าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะตกต่ำ ซึ่งผลกระทบจะรุนแรงมากกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมาก

แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าไม่ถดถอย แต่นักลงทุน นักเศรษฐกิจ และพ่อค้าต่างรับรู้ในหัวอกว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะของความฝืดเคือง

ยิ่งปริมาณเงินทุนที่เข้ามาหากำไรในตลาดหุ้นทยอยขายหุ้นและตราสารหนี้ออกไปร่วม 1.3 แสนล้านบาท จนทำให้มูลค่าตลาดหายไปร่วม 2 ล้านล้านบาท ความมั่งคั่งของผู้คนหายวับ จนนักลงทุนในตลาดหุ้นถูกบังคับขายและต้องยืมหุ้นมาขายร่วม 1.8 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว

ย่อมทำให้ความฝืดเคืองระบายออกไปทั่ว

อะไรที่ทำให้เครื่องดับเอาดื้อๆ ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการสารพัดอัดฉีดเงินลงไปในระบบ

ไล่ตั้งแต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท การรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่รัฐบาลระบุว่า โครงการนี้ทำให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้เงินขายข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม 4,000 บาทต่อตัน และชาวนานอกโครงการขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น 2,500 บาทต่อตัน และการใช้จ่ายของชาวนาทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการขยายตัวธุรกิจเพื่อรองรับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 8.32 หมื่นล้านบาท

ใน 4 ฤดูกาล ใช้เงินไปแล้ว 6.7 แสนล้านบาท หากนับเงินจ่ายขาดค่าบริหารโครงการ 1 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 8 แสนล้านบาท กลับไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระยะยาว

แต่ปรากฏว่าไตรมาส 2 การบริโภคครัวเรือนขยายตัวแค่ 2.4% จากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 4.2%

นั่นเพราะแม้ชาวนาจะขายข้าวได้ราคาดีขึ้น แต่ปัจจัยการผลิตและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรที่แท้จริงของชาวนาไม่ได้เพิ่มขึ้นนัก ต้นทุนปลูกข้าวที่เพิ่มจาก 6,000 บาทต่อไร่ เป็น 8,0009,000 บาทต่อไร่ และเมื่อนำข้าวมาจำนำกลับได้เงินเพียง 1.21.3 หมื่นบาทต่อตัน

ส่วนต่างกำไรที่ชาวนาได้รับอยู่ที่ระดับ 4,0005,000 บาทต่อตันนั้น ล้วนตกอยู่ในกลุ่มชาวนาในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่ชาวนาอีสานที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ปลูกข้าวปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า เงินที่รัฐบาลก่อหนี้และทุ่มเทเข้าไปในโครงการรับจำนำข้าว 8 แสนล้านบาท กลับกระตุ้นกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ได้ไม่มากนัก เพราะชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นจากอดีตไม่ถึง 2%

ขณะที่การปลูกข้าวที่เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้มีการนำเข้าปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่สูงขึ้น เงินเหล่านี้กลับไหลออกนอกประเทศมากกว่าจะหมุนในประเทศ

เติมลงไปมากเท่าไหร่ก็หดหายไปจากระบบมากเท่านั้น

ขณะที่โครงการรถยนต์คันแรกที่กระตุ้นให้ครัวเรือนชั้นกลางก่อหนี้เพื่อซื้อรถยนต์หลังสิ้นสุดมาตรการพบว่ามีการซื้อรถยนต์ในโครงการ 1.3 ล้านคัน สศช. ประเมินว่า รายจ่ายซื้อรถยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 5.3 แสนบาทต่อคัน

ดังนั้น เมื่อนำปริมาณรถยนต์ไปคูณกับมูลค่าการซื้อรถยนต์ตกเป็นเงินราว 6.89 แสนล้านบาท

ทว่า เงินส่วนนี้ไม่ได้ไหลเวียนในประเทศ เพราะเมื่อหักต้นทุนการผลิตและค่าแรงในประเทศแล้ว กำไรจากการขายรถยนต์จะถูกส่งกลับไปยังบริษัทรถยนต์แม่ในญี่ปุ่น เม็ดเงินส่วนใหญ่จึงไม่ตกอยู่ในประเทศไทย ที่จะหมุนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ

นี่จึงตอบคำถามว่า เงินที่ทุ่มลงไปมากมายแต่ทำไมชอร์ตไปดื้อๆ

อย่างไรก็ตาม การสั่งซื้อรถยนต์คันแรกในอัตราที่สูงเกินกว่าปกติ ส่งผลให้ปี 2555 ไทยมีการผลิตรถยนต์กว่า 1.3 ล้านคัน ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูง และกลับมาเป็นกำลังจับจ่ายใช้สอย แต่เมื่อกำลังซื้อรถยนต์แผ่วลง ผลที่ตามมาคือการลดชั่วโมงการทำงานของแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ รายได้ของผู้คนลดลง กำลังซื้อก็ลดลงทันที

ขณะที่ผลข้างเคียงโครงการรถคันแรก ทำให้ครัวเรือนไทยต้องแบกภาระหนี้จากการผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ในช่วง 45 ปีนับจากนี้ จนทำให้บรรดามนุษย์เงินเดือน ข้าราชการไม่มีกำลังเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าให้จับจ่ายใช้สอยอีก เพราะทุกอย่างหมดไปกับค่างวด ค่าน้ำมัน

ขณะที่หนี้สินมูลค่าเกือบ 7 แสนล้านบาท กลายเป็นหนี้สินคงค้างอยู่ที่สถาบันการเงินในประเทศ หากเศรษฐกิจถดถอยหรืออยู่ในภาวะตกต่ำ ก็เท่ากับว่าหนี้ก้อนโตชุดนี้มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินของไทยได้ไม่ยากหากไม่ระมัดระวัง เพราะกำลังซื้อของผู้คนหดหายไปร่วม 2 ล้านราย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เสียงของผู้ประกอบการค้าปลีกและผู้ผลิตจะออกมาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าความฝืดเคืองมาเยือนไทยแล้ว ขนาดอัดแคมเปญลดราคาสินค้าลงมาแล้วคนก็ยังไม่ซื้อ

ตลาดค้าปลีกเริ่มถดถอย ภาพรวม 6 เดือนแรกขยายตัวแค่ 7% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 1012% และอีก 5 เดือนที่เหลือจากนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน จึงคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวเพียง 68%

จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ความฝืดเคืองจึงมาเยือนไทยแล้ว และหลังจากนี้จะเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้น

ไม่เชื่อก็โปรดรอดู