สสส. จัดอบรม “Design Hero 2024: OK ( E ) CIGARETTES?” เสริมพลังไอเดียต้านบุหรี่ไฟฟ้าให้เยาวชน ทั่วประเทศ
ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าคุกคามสุขภาพเยาวชนหนัก ! ปี 65 พบเด็กตกเป็นเหยื่อพุ่ง 5.3 เท่า สสส. สานพลังภาคี จัดอบรม “Design Hero 2024: OK ( E ) CIGARETTES?” เสริมพลังไอเดียต้านบุหรี่ไฟฟ้าให้เยาวชน 35 ทีม ทั่วประเทศ ก่อนเฟ้นหาสุดยอดผลงานรับถ้วยพระราชทานฯ และผลิตสื่อรณรงค์ ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า
เวลา 10.00 น. วันที่ 29 ต.ค. 2567 ที่อาคารฟีนิกซ์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับนิตยสาร อาร์ตโฟร์ดี (art4d) จัดพิธีเปิดอบรมโครงการ Design Hero 2024: OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E – Cigarettes ภายใต้โครงการรู้เท่าทันสื่อรู้เท่าทันสุขภาวะ นำเยาวชน 35 ทีม จากทั่วประเทศ ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกับดีไซเนอร์มืออาชีพ จากสมาคมวิชาชีพต่างๆ เช่น กราฟิกดีไซน์ อาร์ตทอย คลิปวิดีโอ และศิลปะ เพื่อหวังใช้พลังของเด็กและเยาวชนร่วมกันออกแบบสื่อรณรงค์เตือนภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในสังคม
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เยาวชนไทยกำลังถูกคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นภัยทำลายสุขภาพ ทำร้ายคนรอบข้าง ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า เกือบ 80,000 คน สอดคล้องกับ ผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 โดยข้อมูลจากการเฝ้าระวังตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ ปี 2567 พบว่าการขายบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เน้นสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า การรักษาลูกค้าด้วยการจัดส่งฟรีและมีโปรแกรมส่งเสริมการขาย ซึ่งช่วยกระตุ้นการซื้อผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ดึงนักสูบหน้าใหม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
“สสส. ให้ความสำคัญกับประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กเยาวชน ผู้ปกครอง ครู และผู้แวดล้อมเด็ก ด้วยการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะ ที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ร่วมเป็นพลังในการสื่อสารและ สร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะดี โดยโครงการ Design Hero 2024 จะเป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาตนเองสู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ได้ร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบสื่อรณรงค์ ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเพื่อนร่วมวัยได้ ซึ่งพลังนักสื่อสารสุขภาวะจะเป็นกุญแจสำคัญในการร่วมสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนที่ยั่งยืน” นางญาณี กล่าว
ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการ Design Hero 2024: OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E – Cigarettes ได้นำพลังของเด็กและเยาวชนมาสร้างสรรค์สื่อเพื่อรณรงค์เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้าในสังคม จากการเปิดรับสมัครมีเยาวชนให้ความสนใจและส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 472 ทีม จากทั่วประเทศ แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 10% ระดับมหาวิทยาลัย 85% และบัณฑิตจบใหม่ 5% โดยหมวดการผลิตสื่อที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ ประเภทคลิปวิดีโอ 43% กราฟิกดีไซน์ 36% อาร์ตทอย 15.9% ศิลปะหรือของตกแต่ง 5.1% และมีเพียง 35 ทีม เท่านั้นที่ผ่านเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยคณะกรรมการพิจารณาผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ มีความเป็นไปได้ในการผลิตหรือใช้รณรงค์ ทีมมีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการทำงานรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
“เยาวชนที่ผ่านเข้ารอบจะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตผลงานเพื่อใช้รณรงค์ ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการบ่มเพาะโดยวิทยากรมืออาชีพจากแบรนด์ต่างๆ เช่น Q DESIGN & PLAY ศิลปินด้านกราฟิกดีไซน์และผลิตเสื้อยืด, WISHULADA ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้, TOYLAXY ผู้ผลิตอาร์ตทอยเบอร์ 1 ของไทย และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังคือ คุณสมชาติ ศรีมารัตน์ จากช่อง บิ๊กกี้ แครี่ ที่จะมาช่วยน้องๆ สร้างสรรค์สื่อรณรงค์ที่มีสาระ รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ ทั้งนี้ หลังจากการอบรมเสร็จสิ้น ทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการจะนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ และจะคัดเลือกไอเดียที่โดดเด่นเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้าย เพื่อผลิตเป็นชิ้นงานต้นแบบ ก่อนจะมีการคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นที่สุดอีกครั้ง เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนำไป Road Show ในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงโทษที่จะเกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป ติดตามข่าวสารและกำหนดการได้ที่ www.artculture4health.com” ดร.ดนัย กล่าว