SCBX ส่องเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 3.5% ยังไม่บวกแรงหนุนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
SCBX ฉายภาพเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวได้ 3.5% จากการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ฟื้นตัว แต่ยังไม่นับแรงกระตุ้นจากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ด้วยยังไม่ชัดว่าพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านจะผ่านหรือไม่ พร้อมเตือนยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน
กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) นำโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ และบล.อินโนเวทส์ เอกซ์ จัดงานสัมมนา “INVESTMENT OUTLOOK 2024” Recession-Proof Investing in a Tightening Economic Era โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการลงทุนอย่าง ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตที่ 3.5%
สำหรับปัจจัยหลักที่เกื้อหนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ในมุมมองของดร.สมประวิณ เริ่มที่การบริโภค ภายในประเทศที่น่าจะเติบโตได้ 3.2% และการลงทุนน่าจะเติบโตได้ 4% ถือว่าใช้ได้ โดยที่ยังไม่นับรวมปัจจัยจากโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะผ่านหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ตัวเลขการส่งออกน่าจะเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ได้ดีมาก จึงมองว่าตัวเลขการส่งออกของปี 2024 น่าจะเติบโตได้ประมาณสัก 3% ด้วยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านอยู่
ขณะที่การท่องเที่ยวที่ตั้งความหวังไว้ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนจะมีมากขึ้นในปีหน้า ก็ได้ปรับประมาณการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยลงจาก 40 ล้านคนเหลือ 37 ล้านคน เนื่องจากเริ่มไม่มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจีนจะมามากจริงอย่างที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่น่าจะกลับมาเที่ยวไทยเร็วเท่าที่มองไว้
อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังต้องเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เริ่มจากความเสี่ยงแรกคือเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ซึ่งเคยมีการวิเคราะห์ sensitivity analysis ที่ IMF ระบุว่าถ้าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนหายไป 1% จะส่งผลให้ GDP ของโลกลดลง 0.2% ดังนั้นการที่เศรษฐกิจจีนหดตัวจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก ทั้งแง่การส่งออกและนำเข้า
ส่วนความเสี่ยงที่สองคือปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยเฉพาะหากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสหากขยายวงไปกระทบกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ จะยิ่งกระทบต่อการเติบโตของ GDP โลกทีอาจหดหายลงถึง 0.5% และ ราคาน้ำมันอาจจะขึ้นไปถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรลก็ได้ ซึ่งจะยิ่งกดดันให้เศรษฐกิจโลกยิ่งซบเซาลงค่อนข้างมาก และแน่นอนว่าจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยสูงขึ้นด้วย
อีกความเสี่ยงที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องเจอกับทั้งปัญหาน้ำท่วมและปัญหาน้ำแล้ง โดยมีการคำนวนว่า Climate change อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้นแรงกระแทกจาก Climate change ยังส่งผลถึงการออกกฎกติการด้านการค้าโลกที่มีความไม่ชัดเจนหรือไม่แน่นอนอยู่ จึงมีผลกต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ ก็ย่อมสะเทือนภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
"อีกความเสี่ยงสำคัญคือ ประเทศไทยวันนี้มีหนี้ค่อนข้างมาก มีตัวเลขหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ที่ 90% ต่อ GDP นั่นคือแปลว่าการที่ท่านจะบริโภคมากขึ้นในอนาคต จะทำได้ยาก และอีกเรื่งอคือถ้ามีการช็อตเกิดขึ้น สมมติว่าถ้าระบบเศรษฐกิจสะดุด รายได้ไม่เข้า ความยากลำบากยิ่งมากขึ้น จึงต้องระวังความเสี่ยงเหล่านี้ให้มาก"
อย่างไรก็ตามดร.สมประวิณ ยังวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าอีกว่า จะอยู่บนภาวะ 3 ไม่ด้วยกัน ไม่ที่หนึ่ง ก็คือ ไม่สอดคล้อง ไม่ทั่วถึง และ ไม่แน่นอน ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบไม่สอดคล้องกันทำให้นักลงทุนต้องจับจังหวะการลงทุนให้ดี ขณะที่ในส่วนความไม่เท่าเทียมกัน จึงต้องเลือกวางเงินไปให้ถูกที่ คือใส่เงินในตลาด/สินทรัพย์ที่เติบโตและถอดเงินออกจากตลาด/สินทรัพย์ที่ไม่เติบโต ส่วนไม่แน่นอนเป็นจุดที่สำคัญมาก จึงต้องคิดเผื่อหรือมีแผนรองรับถ้าลงทุนไปแล้วไม่ดี
"ฝากเรื่องลงทุนว่า หนึ่งคือ ดอกเบี้ยขาขึ้นจะอยู่ยาวจึงต้องเลลือกลงทุนดี ๆ อันที่สอง ความเสี่ยงสูงต้องหาทาง prevent และสามคือต้องเลือกวางเงินให้ถูก เพราะแต่ละ sector ไม่เหมือนกัน คือพวกลุ่มของกินของใช้ยังไปได้ ส่วนระยะยาว เช่น Electronic Automotive ของไทยยังไปได้ครับ และที่ต้องระวังให้ดีคือพวก old energy ทั้งหลาย oil and gas โดนกระทบแน่นอน"