ผ่าแนวคิด 3 ศัลยแพทย์ “เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก” ‘เจ็บตัวน้อย-ฟื้นตัวไว’
เทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในยุคนี้ ที่คนไข้นิยมหันมาเลือกใช้ในการรักษากันมากขึ้น ด้วยเป็นเทคโนโลยีภายใต้เครื่องมือที่ทำให้แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กลง พร้อมทั้งช่วยลดการบาดเจ็บ และลดระยะพักฟื้นได้เร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น แต่ก็มาพร้อมโรคภัยไข้เจ็บที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรคหัวใจที่ไม่เลือกช่วงอายุวัย และเกิดจากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง *จากสถิติที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2566) จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วประเทศไทยมีมากถึง 670,873 คน / ปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วประเทศไทย 39,276 คน คิดเป็น 5.85% นับเป็นอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการมีเทคโนโลยีด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำ ควบคู่ไปกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผ่าตัดรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ความปลอดภัยสูงสุด
เทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก (Minimally Invasive Cardiac Surgery : MICS) จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในยุคนี้ ที่คนไข้นิยมหันมาเลือกใช้ในการรักษากันมากขึ้น ด้วยเป็นเทคโนโลยีภายใต้เครื่องมือที่ทำให้แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กลง พร้อมทั้งช่วยลดการบาดเจ็บ และลดระยะพักฟื้นได้เร็วยิ่งขึ้น
อาจารย์นายแพทย์สยาม ค้าเจริญ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า “วิวัฒนาการด้านการแพทย์ตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงปัจจุบันนั้นมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จากสมัยก่อนเวลาผ่าหัวใจ เราไม่ได้มีทางเลือกมากนัก แผลหลักๆ จะยาวตั้งแต่คอหอยไปถึงลิ้นปี่ ประมาณ 20-25 ซม. เวลาเปิดแผล ก็จะต้องมีการเลื่อยตัดกระดูกหน้าอกแบ่งครึ่ง จากนั้นใช้อุปกรณ์ถ่าง แหวกอกออกให้กว้าง และเข้าไปผ่าตัด Bypass ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้น ซ่อมลิ้นหัวใจ ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานมา 30 – 40 ปี พอมาถึงในยุคนี้ ที่อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการผ่าตัดแผลเล็ก ได้ถูกพัฒนาและเข้าถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ประกอบกับตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่จะใช้เครื่องมือชนิดนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ ก็ต้องอาศัยระยะเวลาการฝึกฝนหรือ Learning Curve ไปอีกขั้นนึง เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือได้อย่างปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ก็จะกินเวลาไปอีกหลายปี ดังนั้นแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดด้วยวิธีการผ่าแผลเล็กก็นับว่ายังมีไม่มากพอ เมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ ซึ่งปัจจุบันก็มีคนไข้บางกลุ่มเริ่มถามหาวิธีการผ่าแบบแผลเล็กมากขึ้น เพราะมันสะดวกในการกลับไปใช้ชีวิตของเค้าได้ดีและเร็วกว่าการผ่าแบบเดิม ทั้งในเรื่องของการบาดเจ็บน้อยลง ฟื้นตัวเร็ว และไม่ต้องกังวลเรื่องแผล เพราะมันจะเล็กลงเหลือเพียง 4-5 ซม.เท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่การวินิจฉัยของแพทย์ด้วยเช่นกัน ว่าคนไข้แต่ละรายควรทำการผ่าด้วยวิธีแบบไหนจึงจะปลอดภัยที่สุด เพราะนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด”
อาจารย์นายแพทย์ภราดร เจ็ดวรรณะ ศัลยกรรมทรวงอก หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ในมุมมองของหมอที่ทำงานในโรงพยาบาลศูนย์ต่างจังหวัด การผ่าตัดหัวใจแผลเล็กยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมไม่มากนัก เนื่องจากยังเป็นเทคนิคใหม่ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือเฉพาะ และมีศัลยแพทย์กับทีมที่มีประสบการณ์โดยตรง การผ่าตัดแผลเล็กก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงตัวเราออกมาจาก Comfort Zone ที่เดิมที่เราคุ้นเคยผ่าตัดในแบบมาตรฐาน แผลใหญ่เพียงพอที่จะใช้มือทั้งสองข้างเข้าไปทำงาน ตัดต่อ ซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้ มาเป็นแบบที่ไม่คุ้นเคย แผลเล็กต้องใช้เครื่องมือที่ยาวกว่าปกติเข้าไปทำงานผ่านช่องเล็ก ๆ ร่วมกับการทำงานผ่านทางกล้อง ช่วงเริ่มต้นอาจจะทำให้แพทย์และทีมรู้สึกอึดอัด ทำงานยากขึ้น ใช้เวลาผ่าตัดนานขึ้น การผ่าตัดหัวใจแบบแผลเล็กให้มีผลลัพธ์ที่ดีนั้นอาจจะต้องมี stiff learning curve ในช่วงแรก คือ มีประสบการณ์ผ่าตัดด้วยวิธีนี้อย่างน้อย 50-120 ราย และ มีการผัดตัดแบบนี้อยู่สม่ำเสมออย่างน้อย 1-2 รายต่อสัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตามประโยชน์หลายๆ อย่างของเทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ทำให้สถาบันส่วนใหญ่ในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เปลี่ยนมาใช้เทคนิคนี้กันมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนขนาดแผลเล็กลงจากเดิมที่ประมาณ 20-25 ซม. ตรงกลางหน้าอก มาเป็นแผลขนาด 4 ซม. ที่อยู่ด้านข้างหน้าอกด้านขวาหรือรอบ ๆ หัวนม ก็จะทำให้ Cosmetic ดีกว่าเดิมอย่างมาก และถ้าใช้เทคนิคการส่องกล้องเข้าช่วย ไม่ใช้เครื่องถ่างหน้าอก อาการปวดแผลหลังผ่าตัดก็จะน้อย สามารถฟื้นตัว กลับไปทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับโรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี เราได้เริ่มโปรแกรมการผ่าตัดลิ้นหัวใจ ปิดผนังหัวใจรั่ว ผ่าตัดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเนื้องอกหัวใจ ผ่านการส่องกล้องแผลเล็กมาประมาณ 4 ปี จากประสบการณ์ฝึกอบรมในต่างประเทศและประสบการณ์ที่ศูนย์หัวใจของเราเองทำให้เรามั่นใจว่าเราเป็นศูนย์หัวใจอีกศูนย์หนึ่งที่สามารถให้บริการผ่าตัดหัวใจแบบส่องกล้องได้ตามมาตรฐานสากลและเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของศัลยแพทย์ผู้สนใจได้”
ด้าน อาจารย์นายแพทย์ณัฐพล อารยวุฒิกุล ศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลลำปาง กล่าวว่า "หัวใจสำคัญของการผ่าตัดแผลเล็กให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน นอกจากตัวศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว ทีมในห้องผ่าตัดทุกคนก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะพยาบาลที่คอยจัดเตรียมและส่งเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ที่ทำหน้าที่ระงับความเจ็บปวดของคนไข้ด้วยการวายาสลบ อย่างที่โรงพยาบาลลำปาง เราเริ่มโปรแกรมผ่าตัดหัวใจแผลเล็กประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว (2017) ทั้ง 2 หัตถการ ได้แก่ ลิ้นหัวใจ 113 ราย และ bypass ลิ้นหัวใจแผลเล็กอีกประมาณ 300 ราย ซึ่งก็มีทีมศัลยแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาดูงานในส่วนนี้ที่ รพ.ลำปางเราอยู่ตลอด และอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด ที่ต้องได้มาตรฐานความแข็งแรง และน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งต้องเหมาะและถนัดมือกับทั้งหมอผู้ผ่าตัดและทีมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ที่ช่วยถ่างช่องซีโครง มีดผ่าตัดที่มีลักษณะเฉพาะ อุปกรณ์ที่ช่วยจับเข็มเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเย็บแผลในระดับที่ลึก หรือจะเป็นกล้องเพื่อช่วยเสริมสร้างการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้น เป็นต้น ดังนั้นทุกขั้นตอนต้องผ่านการเรียนรู้ ทดลอง และฝึกฝน เพื่อให้เกิดการชำนาญ พร้อมรักษาคนไข้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ทั้งนี้ คาดว่าเทคนิคการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก จะเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มคนไข้มากขึ้น และแนวโน้มในอนาคตจะมีศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดแผลเล็กที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านเครื่องมือทางการแพทย์ ก็จะยิ่งพัฒนาและเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขอบเขตให้คนไข้ได้รับการรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ปลอดภัย แบบทั่วถึงและทัดเทียมกับประเทศในแถบอเมริกาและยุโรปมากขึ้น