posttoday

สถาบันมาตรฯ หนุน การวัด ASFV ด้วยเทคนิค qPCR ป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์สุกรตั้งแต่ต้นทาง

14 มกราคม 2565

จากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) พบว่าไวรัสที่ก่อโรคชนิดนี้ (African Swine Fever Virus: ASFV) เป็นไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรแพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่กำจัดได้ยาก อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นโรคที่สามารถทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราการตายเฉียบพลันเกือบร้อยละร้อย ด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการตั้งรับการแพร่ระบาดของโรคนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวัดปริมาณดีเอ็นเอ ASFV

อย่างไรก็ตาม เทคนิคที่ใช้ในการตรวจหา ASFV ในห้องปฏิบัติการมีความหลากหลาย เช่น การตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธีย้อมด้วยแอนติบอดีเรืองแสง (Fluorescent Antibody Test : FAT) จากอวัยวะสัตว์ป่วย การตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธี Antigen ELISA การใช้เทคนิค Lateral Flow Assay การเพาะแยกเชื้อไวรัส การหาลำดับสารพันธุกรรม หรือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) ทั้งแบบดั้งเดิม แบบ quantitative real-time PCR (qPCR)   แบบ digital PCR (dPCR) หรือแบบประยุกต์ เช่น เทคนิค LAMP เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิค qPCR ได้ถูกนำมาใช้ทั่วไปในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส เพราะเทคนิคนี้เป็นวิธีที่มีความจำเพาะ และความไวสูง สามารถทราบผลภายใน 2-5 ชั่วโมง

มว. พร้อมให้บริการตรวจวัด ASFV ด้วยเทคนิค qPCR และพัฒนาวัสดุอ้างอิงรับรอง ASFV

สถาบันมาตรฯ หนุน การวัด ASFV ด้วยเทคนิค qPCR  ป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์สุกรตั้งแต่ต้นทาง

สถาบันมาตรฯ หนุน การวัด ASFV ด้วยเทคนิค qPCR  ป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์สุกรตั้งแต่ต้นทาง

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้ดูแลมาตรฐานการวัดของประเทศไทย มีบทบาทในการพิสูจน์ความถูกต้อง แม่นยำของกระบวนการวัดและพัฒนามาตรฐานให้แก่ห้องปฏิบัติการสอบเทียบ และทดสอบภายในประเทศไปสู่ระดับสากล เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าร่วมเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการ รวมถึงการใช้วัสดุอ้างอิงรับรอง ซึ่งวิธีนี้เป็นกระบวนการหนึ่งของการควบคุมคุณภาพทั้งจากภายใน และภายนอกนำไปสู่การให้ผลการวิเคราะห์ทางชีวภาพ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ

ในปี พ.ศ. 2564 กลุ่มงานวิเคราะห์ชีวภาพ ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมการเปรียบเทียบผลการวัดปริมาณดีเอ็นเอเชิงคุณภาพของ ASFV โดยใช้ plasmid ดีเอ็นเอที่มีชิ้นส่วนของดีเอ็นเอไวรัสชนิดนี้ใน 10% suspension จากเนื้อหมู ระหว่างสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และห้องปฏิบัติการทดสอบโดยใช้เทคนิค qPCR ผลการประเมินพบว่า ห้องปฏิบัติการที่เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัด ส่งผลกลับมาทั้งหมด 12 ห้องปฏิบัติการ รายงานผลถูกต้องเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติยังมีความพร้อมในการให้บริการตรวจวัด ASFV ด้วยเทคนิค qPCR และมีแผนจะพัฒนาวิธีการวัด ASFV ด้วยเทคนิค dPCR พัฒนาวัสดุอ้างอิงรับรอง รวมถึงเสนอตัวเป็นผู้จัดเปรียบเทียบผลการวัดในระดับนานาชาติอีกด้วย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่งานบริหารงานลูกค้าสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โทร 0 2577 5100 ต่อ 3101-3103