posttoday

กรมการแพทย์ บูรณาการแนวทางป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

28 กุมภาพันธ์ 2561

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บูรณาการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพเพื่อผู่ป่วยสมองเสื่อมใช้หลักป้องกัน

 

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บูรณาการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพเพื่อผู่ป่วยสมองเสื่อมใช้หลักป้องกัน ส่งเสริมและคงสมรรถภาพ การทำงานของสมอง เพื่อลดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

วันนี้( 26 กุมภาพันธ์ 2561 ) ที่ห้องประชุมแสงสิงแก้ว ชั้น 1 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรีนายแพทย์สมศักด์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวมหกรรมสมองเสื่อม ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society ) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โดยมีประชากรสูงอายุร้อยละ 10.4 (7.2 ล้านคน) ในปี2561 ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 17.5 (11.6 ล้านคน) และในปีหน้า (2562) จะเป็นครั้งแรก

ที่ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก ในอนาคตอันใกล้ ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์(Complete Aged Society ) ในอีก 3 ปีข้างหน้า (2564) และคาดว่าในปี พ.ศ. 2574ประเทศจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society ) คือมีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 28* ทั้งนี้ผู้สูงอายุจะมีความเสื่อมถอยของร่างกาย ความสามารถในการจดจำตลอดจนการรับรู้เสื่อมถอยลง จนสูญเสียความสามารถทางสมองหรือเรียกว่า “สมองเสื่อม”ซึ่งผู้ป่วยจะมีความสามารถทางความจำลดลงและสูญเสียความจำในระยะยาวกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ โรคอัลไซเมอร์ พบได้บ่อยถึงร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่อยู่ในวัยพึ่งพิง กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดระบบให้มีผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) และผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager)เพื่อรองรับผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ติดเตียงและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีการพัฒนาองค์ความรู้จัดทำหลักสูตรอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศใช้สำหรับเป็นแนวทางฝึกอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวหรือLong Term Careนอกจากนี้กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิสาธารณสุขและผู้สุงอายุไทย พัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุภาวะสมองเสื่อมครบวงจรพัฒนาการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมภายใต้ แนวคิด“Dementia on top long term care” โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้ง Home care + Hospital care + Community Care โดยดูแลรักษาในรูปแบบเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละราย (specialize long term care)

นำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา ลพบุรีและสุราษฎร์ธานีซึ่งหากพบว่ามีภาวะสมองเสื่อมจะมีการรักษาต่อเนื่องโดยเน้นเครือข่ายของครอบครัวชุมชนและหน่วยบริการด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

กรมการแพทย์ บูรณาการแนวทางป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้พันธกิจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กระตุ้น สาน เสริมพลังในการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาวะร่วมกับชุมชน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในกลุ่มช่วงวัยต่างๆโดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุซึ่ง สสส. ได้สนับสนุนและดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาระบบการคัดกรองและดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมครบวงจรในพื้นที่นำร่องและจะสนับสนุนขยายผลการดำเนินงานระบบการคัดกรองและดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมครบวงจรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งถือเป็นหนึ่งในระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

ทั้งในพื้นที่เครือข่ายของ สสส. และพื้นที่อื่น ๆนอกจากนี้ สสส. ยังได้สนับสนุนการเผยแพร่ และสื่อสารข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนัก และความเข้าใจในประเด็นอุบัติการณ์ และผลกระทบของภาวะสมองเสื่อมในวัยผู้สูงอายุ ตลอดจนการเตรียมความพร้อม การคัดกรองเพื่อลดภาวะเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม

ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม กล่าวว่าสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

จดทะเบียนในปี 2543 มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สมาคมฯ ยินดีมาก ที่เป็น หนึ่ง ใน สามประสาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ สสส. และ สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ในการจัดการให้มีการพัฒนาเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม รวมทั้งการป้องกัน (ในประชากรที่ยังปกติ) และ ชะลออาการของสมองเสื่อม(ในรายที่เกิดปัญหาขึ้นแล้ว) นอกจากเป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการพัฒนาระบบการดูแล สมาคมฯยังยืนยันที่จะยืนเคียงข้างทุกฝ่ายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองเสื่อม และ ในที่สุด เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม

นอกจากพันธกิจเกี่ยวกับการผลักดันนโยบายแล้ว สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมมีกิจกรรมเพื่อผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การให้บริการสายด่วนให้คำปรึกษา การจัดอบรมผู้ดูแล การจัดกลุ่มสนับสนุนผู้ดูแล จดหมายข่าวสมาคม และหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมการแพทย์ซึ่งมีสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านผู้สูงอายุ ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ พบว่าเมื่อผู้สูงอายุมีอายุยืนขึ้น มักจะพบกลุ่มอาการต่างๆในผู้สูงอายุมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มอาการทางสมองหรือที่เรียกว่า “ ภาวะสมองเสื่อม ” ซึ่งผลกระทบของสมองเสื่อมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวผู้ป่วยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ดูแล ครอบครัว ตลอดจน เศรษฐกิจ สังคมและระบบสาธารณสุขของประเทศโดยรวม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น

กรมการแพทย์จึงได้จัดมหกรรมสมองเสื่อม “4.0 เข้าใจ ห่างไกล....สมองเสื่อม” โดยมีการเสวนา นิทรรศการโรคสมองเสื่อมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเช่นความรู้เรื่องสมองเสื่อม ภัยเงียบที่ไม่ควรละเลย

การประเมินภาวะความจำและกิจกรรมฝึกสมอง สิทธิและกฎหมายเกี่ยวกับสมองเสื่อม การจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม เป็นต้น งานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2561 เวลา 08.00-14.30 น. ณ ลานตะวันยิ้ม สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร