posttoday

เบาได้เบานะวัยรุ่น! หูฟัง และ Gadget ยอดฮิต อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตระยะยาว

24 พฤศจิกายน 2565

ด้วยวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกใช้ชีวิตแบบปัจเจกมากขึ้น การทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันแค่พก 'หูฟัง' ไปด้วยสักอันก็ไม่มีคำว่าเหงาอีกต่อไป แต่ต้องฟังอย่างไร ที่ความดังระดับไหน จึงจะปลอดภัยกับสุขภาพระยะยาว?

          วัยรุ่นอย่างเราๆ แน่นอนว่าการได้อยู่ท่ามกลางเสียงเพลง (อันดังกระหึ่ม) นั้นช่วยปลุกเร้าจิตวิญญาณความเป็นหนุ่มสาวได้เป็นอย่างดี แม้จะอยู่ในวัยที่ใช้ความสนุกเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าถนอมสุขภาพไว้แต่เนิ่นๆบ้างจะไม่ต้องลำบากเมื่อแก่ตัวไป เพราะการศึกษาโดยองค์การอนามัยโลก พบว่าเยาวชนประมาณ 1 พันล้านคน เสี่ยงสูญเสียการได้ยินจากนิสัยชอบใส่หูฟัง และไปในสถานที่ส่งเสียงดัง

เบาได้เบานะวัยรุ่น! หูฟัง และ Gadget ยอดฮิต อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตระยะยาว

ระดับความดังของเสียงกับความเกี่ยวโยงปัญหาสุขภาพ

          ด้วยวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกใช้ชีวิตแบบปัจเจกมากขึ้น การทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันแค่พกหูฟังไปด้วยสักอันก็ไม่มีคำว่าเหงาอีกต่อไป แต่ต้องฟังอย่างไร ที่ความดังระดับไหน จึงจะปลอดภัยกับสุขภาพระยะยาว?

          กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของเรานั้นมีระดับเสียงดัง-เบาแตกต่างกันไป เช่น ระดับเสียงคนคุยกันปกติ ที่ไม่ถือว่าอยู่ในระดับอันตราย จะอยู่ที่ 60 เดซิเบล แต่หากเสียงเริ่มดังกว่า 85 เดซิเบล อย่างเสียงจากการจราจรบนท้องถนน หากฟังเป็นระยะเวลานานก็เข้าข่ายอันตรายต่อสุขภาพ มิหนำซ้ำ หากเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ได้ยินเสียงเกิน 120 เดซิเบล (เสียงไซเรนจากรถพยาบาล)  จะสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ทันที

          ปกติแล้วเสียงที่เหมาะสมกับการได้ยินของคนเราไม่ควรเกิน 80 เดซิเบลและนานต่อเนื่องเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน  ซึ่งการเข้ามาของ Gadget และเทคโนโลยีอย่างอุปกรณ์หูฟังนั้น ปฎิเสธไม่ได้เลยว่ามีส่วนที่ทำให้ประชากรโลกในทุกวันนี้เสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการได้ยินมากขึ้น

เบาได้เบานะวัยรุ่น! หูฟัง และ Gadget ยอดฮิต อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตระยะยาว

เสี่ยงสูญเสียการได้ยิน จากพฤติกรรมการฟัง

          การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Global Health โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัย 33 เรื่องที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และรัสเซียในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ครอบคลุมผู้เข้าร่วมมากกว่า 19,000 คนที่มีอายุระหว่าง 12-34 ปี พบว่าคนหนุ่มสาวร้อยละ 24 มีพฤติกรรมในการฟังที่ไม่ปลอดภัย ขณะใช้หูฟังกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน และพบว่าร้อยละ 48 ได้รับเสียงในระดับที่ไม่ปลอดภัยในสถานบันเทิง เช่น คอนเสิร์ตหรือไนต์คลับ

          เมื่อรวมงานวิจัยเหล่านี้ ผลการศึกษาประเมินว่า คนหนุ่มสาวระหว่าง 670,000 ถึง 1.35 พันล้านคนอาจเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการได้ยิน

          Lauren Dillard นักโสตสัมผัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์เซาท์แคโรไลนา และผู้นำงานวิจัยกล่าวว่า จำนวนการประมาณการที่กว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัยรุ่นบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงจากทั้งสองปัจจัย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินจากหูฟัง คือการลดระดับเสียงลง และฟังเป็นระยะเวลาสั้นๆ

เบาได้เบานะวัยรุ่น! หูฟัง และ Gadget ยอดฮิต อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตระยะยาว

ดาบสองคมของ Gadget และเทคโนโลยี

          ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่มักชอบฟังเพลงเสียงดังจากการใส่หูฟังจนเสี่ยงสุขภาพเสียในระยะยาว แต่แน่นอนว่าหากเราเลือกใช้ Gadget อย่างถูกวิธีก็ย่อมเกิดผลดีได้เช่นกัน ผู้ใช้หูฟังควรใช้การตั้งค่า หรือแอพบนสมาร์ทโฟนเพื่อตรวจสอบระดับเสียงว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ในขณะเดียวกันหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังและต้องการฟังเพลงกลบเสียงรอบข้าง หูฟังแบบตัดเสียงรบกวนสามารถช่วยหลีกเลี่ยงการเปิดเพลงให้ดังขึ้นในสถานการณ์นี้ได้ ส่วนสายเปิดตี้ คอนเสิร์ตหรือไนต์คลับคือบ้านหลังที่ 2 ควรหาที่อุดหู หรือ ear plug ไว้สักอันสำหรับสถานที่ดังกล่าว เพราะถึงจะสนุก แต่ไม่คุ้มต่อสุขภาพระยะยาวแน่นอน

เบาได้เบานะวัยรุ่น! หูฟัง และ Gadget ยอดฮิต อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตระยะยาว

สุขภาพของเยาวชนที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ

          ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบัน ประชากรมากกว่า 430 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 5 ของประชากรโลก สูญเสียการได้ยินไปแล้ว ซึ่งประเมินว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านคนภายในปี 2593

          ผู้วิจัยยังเรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ ปฏิบัติตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการฟังอย่างปลอดภัย รวมถึงการตรวจสอบสถานที่และจำกัดระดับเสียงดนตรี รวมทั้งยังเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ที่ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์ สร้างระบบเพื่อเตือนผู้ฟังเมื่อเปิดเสียงดังเกินไป และให้รวมระบบล็อคสำหรับผู้ปกครองเพื่อจำกัดการเข้าถึงของเด็ก

          การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่ทำให้ Gadget เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราไม่ใช่ผู้ร้าย แต่การใช้สิ่งเหล่านี้อย่างไม่ถูกต้องต่างหากที่เป็นผู้ร้ายอย่างแท้จริง ดังที่เราได้กล่าวไปข้างต้น Gadget และเทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคมหากใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตเราได้มาก แต่หากใช้โดยปราศจากความตระหนักแล้วล่ะก็ ผลที่ตามมาก็รับไปแบบตัวใครตัวมัน