posttoday

ทำไม 'Growth Mindset' คือสิ่งที่ทุกคนต้องมีในยุคนี้

13 พฤศจิกายน 2565

Growth Mindset มีผลต่อความสำเร็จของทุกองค์กรและสถาบันอย่างไม่ต้องสงสัย ต่างจาก "Fixed mindset" หรือ "กรอบคิดคิดหรือทัศนคติแบบดั้งเดิม การยึดติดอยู่ในกรอบเดิมๆ เกรงกลัวความผิดพลาด ไม่กล้าเสี่ยงแม้มีปัจจัยหลายๆอย่างสนับสนุน

ทำไม 'Growth Mindset' คือสิ่งที่ทุกคนต้องมีในยุคนี้

Growth Mindset คือ กรอบคิด/กระบวนคิด ที่บอกว่า ‘ทุกคนจะเก่งและเติบโตขึ้นได้อีก’ ในยุคที่พื้นที่และเวลา (Space&Time) ไม่มีผลกับเจนเนอเรชั่นนี่อีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงที่เคยเกิดขึ้นทุก 10 ปี 50 ปี ขยับมาเป็นปีต่อปี วันต่อวัน เราจะผ่านวันเวลาแห่งความเร็วนี้ไปได้อย่างไร หากไม่รู้จักการปรับตัวอย่างรวดเร็วพอๆ กัน สำคัญกว่านั้น ก็คือต้องปรับ ‘กระบวนคิด’ หรือ ‘Mindset’ ของเราด้วย

Growth Mindset จึงมีผลต่อความสำเร็จของทุกองค์กรและสถาบันอย่างไม่ต้องสงสัย ต่างจาก "Fixed mindset" หรือ "กรอบคิดคิดหรือทัศนคติแบบดั้งเดิม การยึดติดอยู่ในกรอบเดิมๆ เกรงกลัวความผิดพลาด ไม่กล้าเสี่ยงแม้มีปัจจัยหลายๆอย่างสนับสนุนในเชิงบวก เป็นต้น ทำให้องค์กรเติบโตอย่างเชื่องช้าและไม่ต่อเนื่อง

 แนวคิดของ 'growth mindset' เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า คนทำงานมีความสามารถในการพัฒนาความสามารถของตนได้อย่างไม่ต้องสงสัย และยังมีพลังมากกว่าความสามารถโดยกำเนิด ทว่า ความคิดที่เชื่อว่าเรา 'ทำได้' นี้อาจควบคุมได้ยากกว่าที่คิด เพราะการทำเช่นนี้ได้ หมายถึง การที่คนคนนั้นคุ้นเคยกับการมองอุปสรรคเหมือนมิตรสหาย เรียนรู้จากคำวิจารณ์ และยืนหยัดได้แม้ต้องเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคที่ยากขึ้น

และถึงแม้ว่าเราเชื่อว่า ความดื้อรั้นนั้นควรค่าแก่การพัฒนา แต่ในทางปฏิบัติ ความสงสัยและความกลัวก็สามารถครอบงำความคิดของเราได้เช่นกัน “เรามีความเชื่อในอารมณ์ของเรา” Elaine Elliott-Moskwa นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ The Growth Mindset Workbook ในเมืองพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ 

 

 

ทำไม 'Growth Mindset' คือสิ่งที่ทุกคนต้องมีในยุคนี้

“เมื่อมีคนพูดว่า 'ฉันรู้สึกว่าฉันไม่ดีพอ' ความรู้สึกนั้นกลับมีพลังมาก แม้ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถของพวกเขาก็ตาม”

หัวใจของ ‘กรอบคิดแบบเติบโต’ คือการเรียนรู้ที่จะเอาชนะความรู้สึกไร้ความสามารถ หรือ ‘ฉันไม่ดีพอ’ เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค

พนักงานที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตสามารถใช้ประโยชน์จากชุดทักษะที่มีประโยชน์ในการจัดการความเครียด สร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกับเพื่อนร่วมงาน รับมือกับความล้มเหลว และพัฒนาคุณลักษณะที่จะช่วยให้พวกเขาก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้

กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) คืออะไร?

Growth mindset เป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1988 เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา Elliott-Moskwa บอกว่า "มันเกี่ยวกับสาเหตุที่เด็กฉลาดๆ เจอกับความล้มเหลว เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบาก ทั้งๆ ที่พวกเขามีความสามารถจริงๆ"

แนวคิดนี้ให้ค่ากับ ทัศนคติของนักเรียนเมื่อเจอกับอุปสรรคหรือความท้าทาย มากกว่าความสามารถโดยกำเนิด และเป็นตัวกำหนดหลักชัยสู่ความสำเร็จ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความคิดของเรามีผลอย่างมากต่อผลลัพธ์ของงาน 

ความกล้าในการเผชิญหน้ากับอุปสรรคปัญหาด้วย “กรอบคิดแบบเติบโต” เหนือ “กรอบคิดแบบตายตัว” คือทางเลือกที่ใครๆ ก็ทำได้ Carol Dweck ศาสตราจารย์และนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้จำกัดแนวคิดนี้ให้แคบลง เหลือสองแนวทางที่สามารถกำหนดผลลัพธ์ได้ คือ 'fixed mindset' และ 'growth mindset'

ทำไม 'Growth Mindset' คือสิ่งที่ทุกคนต้องมีในยุคนี้

“กรอบความคิดแบบตายตัวคือความคิดที่บอกว่า ความสามารถของคุณสูงหรือต่ำ และคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก” Elliott-Moskwa กล่าว “ในขณะที่กรอบคิดแบบเติบโตคือมุมมองที่ว่า ความสามารถของคุณปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงได้”

แม้ว่าบางคนอาจโน้มเอียงไปในทางหนึ่งมากกว่าอีกทางหนึ่งโดยธรรมชาติ นั่นเป็นเพราะคนเราไม่ได้มีกรอบความคิดแบบตายตัวหรือแบบเติบโตสำหรับทุกๆ ปัญหา 

น่าสนใจว่า ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากผู้คนจำนวนมากมักกระตุ้นความคิดที่ตายตัว ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณรับฟังคำวิจารณ์จากเจ้านาย หรือกำลังต่อสู้กับงานใหม่ๆ ในสถานการณ์เหล่านี้ คุณอาจตอบสนองด้วยความคิดว่า ฉันอาจ "ฉันไม่ดีพอ" หรือ "ฉันทำไม่ได้"

ในทางตรงกันข้าม วิธีคิดแบบเติบโตจะใช้แนวทางที่แตกต่างในสถานการณ์เดียวกัน ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะไม่ตีความว่า ช่วงเวลาหรือสถานการณ์ดังกล่าวเป็นความล้มเหลวส่วนตัว แต่กลับตระหนักว่า จำเป็นต้องปรับปรุง 

สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี่คือ คนที่ทำงานกับกรอบความคิดแบบเติบโตเชื่อว่า พวกเขาสามารถปรับปรุงได้ และสามารถแยกแยะและย่อยความท้าทายเหล่านี้ออกเป็นขั้นตอนที่ลงมือทำได้ ซึ่งมันหมายถึงการออกจาก “พื้นที่แห่งความสบายใจ” หรือ Comfort Zone และยอมรับกับระดับความเสี่ยง ความไม่แน่นอน และความเป็นไปได้ของความล้มเหลวที่อาจมาพร้อมกับการลองสิ่งใหม่ๆ

“มันจะรู้สึกอึดอัดและก็ตื่นเต้นนิดหน่อย” Isabella Venour ไลฟ์โค้ชในลอนดอน ซึ่งช่วยให้คนทำงานมืออาชีพรับมือกับบทบาทของความเชื่อ ค่านิยม และรูปแบบการคิดของพวกเขาในที่ทำงานกล่าว “คุณมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่อาจผิดพลาด แต่คุณก็มีศักยภาพที่จะเรียนรู้บางสิ่งและเติบโตในฐานะปัจเจกบุคคล”

ทำไม 'Growth Mindset' คือสิ่งที่ทุกคนต้องมีในยุคนี้

ทำไม Growth Mindset ถึงมีความสำคัญในที่ทำงานตอนนี้?

แนวทางที่ทำได้จริง (A can-do approach) เป็นผลดีเสมอในสถานที่ทำงาน เพราะมันแสดงให้เห็นว่า พนักงานสามารถปรับตัวและเต็มใจที่จะพัฒนางานและองค์กรของตน แต่การเสริมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตนั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้พนักงานสามารถจัดการกับความปั่นป่วนวุ่นวาย รวมทั้งปรับปรุงในเรื่องความยืดหยุ่นได้ เพราะจะทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจมากขึ้นและสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ 

แนวคิดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่พนักงานจำนวนมากต้องดิ้นรนกับสวัสดิภาพหลังจากการระบาดของโควิด-19

ข้อมูลจากรายงานสถานะแรงงาน (State of the Workforce Report) ปี 2022 ของ Gallup แสดงให้เห็นว่า ความเครียดในหมู่คนงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 การสำรวจทั่วโลกที่คล้ายคลึงกันโดยโครงการ Wellbeing แสดงให้เห็นว่าในปี 2022 ความยืดหยุ่นต่ำเป็นพิเศษ และความเสี่ยงจากความเหนื่อยหน่ายยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในกลุ่มที่ไม่ใช่ระดับผู้จัดการ

“ผู้คนถูกดึงไปทุกทิศทุกทางและเหนื่อยหน่ายยืดเยื้อ เมื่อแรงกดดันจากงานและชีวิตพุ่งเข้าหากัน” Venour กล่าว “ผู้นำธุรกิจสังเกตเห็นว่า พนักงานของพวกเขากำลังดิ้นรนเพื่อรับมือกับความท้าทายในชีวิตประจำวัน” 

Growth mindset ไม่เพียงแต่ให้กรอบการทำงานสำหรับการจัดการกับความท้าทายเท่านั้น แต่ยังมีวิธีที่จะสลาย เรื่องยากๆ เหล่านั้นให้เป็นขั้นตอนที่สามารถจัดการได้ “บ่อยครั้ง หากเรารู้สึกกดดันเมื่อเราไม่ได้อยู่ในกรอบความคิดแบบเติบโต เรามักจะมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้” แต่ "การโฟกัสไปยังสิ่งที่เราสามารถโน้มน้าวใจได้จะมีประโยชน์มาก”

แนวคิดนี้เริ่มต้นโดยให้พนักงานระบุจุดแข็งส่วนตัวที่พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์ได้ จากนั้นจึงค่อยวางแผนปรับปรุงจุดอ่อนต่อไป

การมีขั้นตอนในการปฏิบัติสามารถช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำและยังช่วยให้คนงานวางขอบเขตให้กับตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานที่ทำงานนอกออฟฟิศจำนวนมากกำลังดิ้นรนที่จะทำ ตัวอย่างเช่น ถ้าหัวหน้าของคุณมอบหมายงานที่คุณรู้สึกว่า เป็นไปไม่ได้ สำหรับคุณ การบอกบอสไปว่า งานนี้คุณไม่แน่ใจในเรื่องเวลา กับการบอกว่า คุณต้องการประชุมพิเศษเพื่อให้คุณเห็นความชัดเจนมากขึ้น ตัวเลือกไหนจะง่ายกว่ากันสำหรับคุณ

Venour บอกว่า “เพราะคุณมั่นใจในความสามารถของตัวเอง และคุณไม่เห็นจุดอ่อนที่จะมาทำลายตัวเองได้ คุณจึงสามารถพูดได้ว่า ฉันต้องการการสนับสนุนที่นี่” ความคิดแบบเติบโต สนับสนุนให้ผู้คนให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะมากกว่าความล้มเหลว

มีความเป็นไปได้ที่จะฝึกฝนกรอบความคิดแบบเติบโตให้กับพนักงานแต่ละคน และหากธุรกิจสนับสนุนให้พนักงานทั้งหมดใช้กรอบความคิดแบบเติบโต ผลลัพธ์ก็จะยิ่งทรงพลังมากขึ้นไปอีก 

"มันกระตุ้นให้ผู้คนให้ความสำคัญกับผลตอบรับหรือฟีดแบ็กมากกว่าความล้มเหลว" Venour กล่าว แนวคิดนี้สามารถช่วยกระตุ้นให้พนักงานจัดการกับโครงการที่ท้าทาย และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นเอง ผลการศึกษาแนะนำว่า “นี่คือสิ่งที่พนักงานต้องการอย่างล้นหลาม”

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ McKinsey & Company ในปี 2022 พบว่า คนงาน 41% กล่าวว่าเหตุผลสำคัญที่พวกเขาจะลาออกจากงานก็คือ การขาดการพัฒนาและความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

ทำไม 'Growth Mindset' คือสิ่งที่ทุกคนต้องมีในยุคนี้

คุณจะปรับปรุง Growth Mindset ได้อย่างไร?

ขั้นแรกในการส่งเสริม “กรอบความคิดแบบเติบโต” คือ การตระหนักรู้ด้วยตัวเอง 

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า การคิดแบบมีกรอบคิดตายตัว หรือ Fixed Mindset นั้นเมื่อเกิดขึ้น มักแสดงออกมาเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ หรือ รู้สึกไม่ดีพอ เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายหรือปัญหา 

ประการแรก Elliott-Moskwa แนะนำให้รับรู้และยอมรับความรู้สึกดังกล่าวก่อน แทนที่จะตีอกบกหัวตัว “จากนั้น ให้ตัดสินใจใช้ตัวเลือกอย่างอื่นอย่างมีสติเพื่อดำเนินการตามสิ่งที่คุณตั้งใจจะทำ เพราะถ้าคุณมีกรอบความคิดแบบเติบโต – ก็ย่อมมีความเชื่อว่า คุณสามารถเพิ่มความสามารถของคุณได้” เธอกล่าว 

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงอุปสรรคด้วยกรอบความคิดแบบเติบโต Venour มักจะแบ่งความท้าทายที่รู้สึกว่า “หนักหนาสาหัส” ออกเป็นชิ้นเล็กๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าพนักงานรู้สึกว่าไม่สามารถนำเสนอผลงานต่อหน้าเพื่อนร่วมงานได้ เธอถามว่า  “พวกเขาสามารถพูดคุยได้ใช่หรือไม่? คำตอบคือ ใช่ คำถามต่อมาคือ พวกเขาเคยพูดต่อหน้าคนมากกว่าหนึ่งคนมาก่อนหรือไม่? คำตอบคือ ใช่ แล้วพวกเขาเคยทำสไลด์การนำเสนอมาก่อนหรือไม่? คำตอบคือ ใช่แน่นอน

ดังนั้นหากมีองค์ประกอบที่พวกเขาสามารถทำได้ แล้วสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สบายใจคืออะไร?”

บ่อยครั้ง การเรียนรู้เองก็ต้องการความช่วยเหลือ แนวคิดหลักประการหนึ่งของกรอบความคิดในการเติบโตคือ “การมองผู้อื่นเป็นแรงบันดาลใจมากกว่ามองเป็นแข่งขัน” ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถช่วยส่งเสริมทีมที่ทำงานร่วมกันได้

Elliott-Moskwa บอกว่า “หากพนักงานมองว่า ทุกคนคือเป็นทรัพยากร คือขุมทรัพย์ในการเรียนรู้ของเรา ไม่ใช่คู่แข่ง พวกเขาก็พร้อมที่จะแบ่งปันทักษะ ความสามารถ และเรียนรู้จากเพื่อนพนักงานด้วยกันได้” 

นี่อาจคือ Growth Mindset แรกที่จะพาทุกคนออกจากกรอบคิดแบบเดิมๆ ไปสู่กรอบคิดใหม่ๆ ได้อีกอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อเวลาผ่านไป การตระหนักถึงกรอบคิดแบบตายตัว และการฝึกคิดแบบเติบโตจะง่ายขึ้น และการรับมือกับความท้าทายนั้นจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป

“กรอบคิดแบบเติบโตเป็นทัศนคติที่มีพลัง” Venour กล่าว “คุณสามารถพัฒนาและเติบโตตามกาลเวลาได้อย่างแท้จริงในฐานะปัจเจกบุคคล”

 

อ้างอิง: 

https://www.bbc.com/worklife/article/20221026-the-growth-mindset-all-workers-need-to-cultivate

https://www.sasimasuk.com