posttoday

อีกหนึ่งก้าวแห่งอาณานิคม สู่อินเทอร์เน็ตและ GPS บนดวงจันทร์

02 พฤษภาคม 2566

ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่า อินเทอร์เน็ต และ GPS ล้วนเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งเสียจนเราจินตนาการไม่ออกถึงชีวิตที่ขาดสิ่งเหล่านี้ นั่นจึงเป็นสาเหตุประการสำคัญสู่การพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตและ GPS บนดวงจันทร์

การส่งนักบินอวกาศกลับสู่ดวงจันทร์ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ กับความพยายามในการสำรวจอวกาศเพื่อมุ่งสู่โลกใบใหม่ของมนุษยชาติ นำโลกกลับเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการสำรวจอวกาศ ที่ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงมหาอำนาจที่เข้ามามีบทบาท แต่เป็นทุกประเทศทั่วโลกที่พัฒนาในทิศทางเดียวกัน

 

          ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีอวกาศจึงกลับมาได้รับความสำคัญและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วงปีที่ผ่านมาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถูกยกระดับผิดหูผิดตา หลายส่วนได้รับการออกแบบเพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้ง่ายขึ้น บ้างก็ถูกพัฒนาเพื่อเพิ่มความปลอดภัย หรืออาจเพิ่มความสะดวกในการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ

 

          นั่นเป็นเหตุให้ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตและ GPS บนดวงจันทร์

 

อีกหนึ่งก้าวแห่งอาณานิคม สู่อินเทอร์เน็ตและ GPS บนดวงจันทร์

 

ครั้งแรกกับการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนดวงจันทร์

 

          โครงการนี้เป็นฝีมือของสองบริษัทไอทีอย่าง Vodafone และ Nokia ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 กับแนวคิดในการวางเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ 4G บนดวงจันทร์ รองรับแนวคิดการส่งนักบินอวกาศไปใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ผ่านโครงการอวกาศมากมาย และเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานอาณานิคม

 

          ยานที่ถูกส่งขึ้นไปวางระบบเครือข่ายบนดวงจันทร์มีชื่อว่า Nova-C ได้รับการออกแบบจากบริษัท Intuitive Machines และถูกส่งผ่านชั้นบรรยากาศด้วยจรวดของทาง SpaceX โดยตัวสถานีจะได้รับการติดตั้งผ่านรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ ที่คอยทำหน้าที่เชื่อมและกระจายสัญญาณ 4G ภายในพื้นที่

 

          สถานีกระจายสัญญาณจะตั้งอยู่ในบริเวณหลุมอุกกาบาต Shackleton ซึ่งอยู่บริเวณทางใต้ของดวงจันทร์ ตั้งเป้าว่าจะเป็นเครือข่ายสื่อสารเพื่อใช้รับ-ส่งข้อมูลบนดวงจันทร์ และจะมีส่วนสำคัญในระบบคำสั่งควบคุมระยะไกล ของอุปกรณ์สำรวจมากมายที่จะถูกใช้งาน ช่วยให้สามารถบังคับควบคุมและตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

 

          ระบบเครือข่ายสัญญาณมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และยิ่งทวีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ที่อันตรายยิ่งกว่า เพื่อวางรากฐานแก่ระบบสื่อสารด้วยเสียงและวีดีโอ, การรับ-ส่งข้อมูลขนาดใหญ่, ใช้งานระบบตรวจสอบ ไปจนการควบคุมหุ่นยนต์ต่างๆ ล้วนเป็นการสนับสนุนชั้นเยี่ยมที่จะทำให้ภารกิจของนักบินอวกาศง่ายขึ้น

 

          คาดว่าการสนับสนุนด้านเครือข่ายสื่อสาร จะทำให้การสำรวจพื้นที่บนดวงจันทร์สะดวกขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะการค้นหาธารน้ำแข็งบนดวงจันทร์ แหล่งทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการใช้เป็นเชื้อเพลิง ดื่มกิน หรือแม้แต่นำมาผลิตเป็นออกซิเจน และถือเป็นเป้าหมายแรกของภารกิจสำรวจเพื่อเป็นการปูทางสำหรับการตั้งรกรากในอนาคต

 

อีกหนึ่งก้าวแห่งอาณานิคม สู่อินเทอร์เน็ตและ GPS บนดวงจันทร์

 

เครือข่ายดาวเทียมสู่ GPS บนดวงจันทร์

 

          เมื่อเป้าหมายการส่งนักบินอวกาศของ NASA จากโครงการ Artemis ชัดเจน ย่อมมีบริษัทอื่นที่ตั้งเป้าวางรากฐาน หนึ่งในนั้นคือบริษัท Lockheed Martin เจ้าของอากาศยานและยานอวกาศผู้โด่งดัง ได้ทำการสร้างเครือข่ายดาวเทียมเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างโลกกับดวงจันทร์เช่นกัน

 

          เครือข่ายดาวเทียมนี้ถูกตั้งชื่อว่า Parsec Moon-to-Earth satellite network ในขั้นต้นจะถูกวางรากฐานให้เป็นเสมือนระบบ GPS บนดวงจันทร์ ช่วยให้นักบินอวกาศสามารถทราบตำแหน่งแน่นอนของตัวเองและฐานแบบเรียลไทม์ เพื่อให้นักบินอวกาศสามารถเดินทางและทำการสำรวจพื้นที่โดยสะดวก

 

          โดยเครือข่ายอาศัยการวางดาวเทียมขนาดเล็กโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อให้ระบบนำทางสามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมงในทั่วทุกพื้นที่ ออกแบบให้ใช้งานได้ทั้งนักบินอวกาศในพื้นที่หรือการควบคุมจากบนพื้นผิวโลก ถือเป็นส่วนสำคัญในภารกิจและการรับประกันความปลอดภัยแก่นักบินอวกาศ

 

          ตามแผนงานเครือข่ายดาวเทียมมนี้จะได้รับการส่งดาวเทียมขึ้นไปในไม่ช้า และหากไม่มีเหตุขัดข้องระบบจะสามารถเริ่มการทำงานได้ภายในปี 2024 โดยจะเริ่มต้นถูกใช้ในการสำรวจและค้นหาตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ของยาน Artemis เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อตัวยานและนักบินอวกาศต่อไป

 

          แน่นอน Lockheed Martin ไม่ใช่เพียงบริษัทเดียวที่มีโครงการวางเครือข่าย GPS บนอวกาศ ทางฝั่งองค์กรอวกาศยุโรป(ESA)เอง ก็มีแผนทำการส่งดาวเทียมเพื่อวางระบบเครือข่าย GPS เพื่อระบุตำแหน่งบนดวงจันทร์เช่นกัน โดยคาดว่าระบบจะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมทดลองการใช้งานภายในปี 2024

 

 

 

          นอกจากด้านการวางเครือข่ายสื่อสารและระบบ GPS แล้ว ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีอีกหลายชนิดที่ได้รับการยกระดับอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เครื่องยนต์พลังงานนิวเคลียร์, การพัฒนาระบบลงจอดยาน, การทำเหมืองบนอวกาศ หรือแม้แต่การวางท่อส่งน้ำและออกซิเจนบนดวงจันทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตบนดวงจันทร์

 

          ในไม่ช้าด้วยทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน การใช้ชีวิตนอกโลกอาจไม่ได้เป็นเพียงความฝันอีกต่อไป

 

 

 

          ที่มา

 

          https://interestingengineering.com/innovation/nokia-send-4g-internet-moon

 

          https://interestingengineering.com/science/new-satellite-for-moon-to-earth-comms