posttoday

Star wars!? เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาดาวเทียมเพื่อความมั่นคงทางอวกาศ

24 เมษายน 2566

ความมั่นคงทางอวกาศ แนวคิดการป้องกันประเทศที่หลายคนอาจพากันขำขัน นอกจากอวกาศจะเป็นพื้นที่สากลแนวทางการป้องกันยังแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ล่าสุดญี่ปุ่นเริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาดาวเทียมเพื่อรักษาความปลอดภัยในอวกาศแล้วเช่นกัน

เทคโนโลยีอวกาศกลับมาได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ภายหลังความพยายามสำรวจอวกาศและจุดหมายในการตั้งอาณานิคมของนานาชาติ สิ่งนี้จะพลิกผันสร้างบทใหม่ของประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ สร้างความตื่นเต้นให้แก่คนจำนวนมากที่มีใจรักในดาราศาสตร์

 

          แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโดยมากการสำรวจอวกาศถือเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัว เทคโนโลยีอวกาศที่จับต้องและส่งผลกับชีวิตประจำวันของเราที่สุดยังคงเป็น ดาวเทียม แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศทำให้หลายชาติเริ่มตั้งคำถามในด้านความมั่นคงในอวกาศ โดยเฉพาะต่อบรรดาดาวเทียมที่กำลังถูกใช้งานในปัจจุบัน

 

          ล่าสุดจึงเริ่มเกิดแนวคิดในการสร้างดาวเทียมเพื่อรับรองความปลอดภัยของดาวเทียมขึ้นมา

 

Star wars!? เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาดาวเทียมเพื่อความมั่นคงทางอวกาศ

 

การใช้ประโยชน์จากดาวเทียมในปัจจุบัน

 

          หลายท่านทราบดีว่าทุกวันนี้เราได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดาวเทียมมากแค่ไหน ความก้าวหน้าในส่วนนี้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนมากมาย กระนั้นหลายท่านอาจยังเกิดข้อสงสัยว่า ดาวเทียมมีความสำคัญถึงขั้นต้องสร้างระบบป้องกันเพื่อปกป้องเป็นการเฉพาะงั้นหรือ?

 

          วันนี้เราจึงมาพูดถึงการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมในปัจจุบันว่ามีรูปแบบใดบ้าง

 

          1.การตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ

 

          เมื่อพูดถึงดาวเทียมสิ่งแรกที่คนเรานึกถึงย่อมเป็น การพยากรณ์อากาศ ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาช่วยให้เราประเมินสภาพอากาศและความเสี่ยงได้แม่นยำ เช่น การสำรวจทิศทางของกระแสลมและเมฆเพื่อสำรวจความแปรปรวน ตรวจสอบอุณหภูมิแต่ละพื้นที่ ไปจนคาดการณ์และเตือนภัยพิบัติทางสภาพอากาศ

 

          2.การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ

 

          อีกหนึ่งด้านที่ได้รับประโยชน์ไม่แพ้กันคือสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ดาวเทียมชนิดนี้ถูกใช้ในการเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนผิวโลก ช่วยรวบรวมข้อมูลทางธรณีวิทยาและนิเวศวิทยาของแต่ละท้องที่ เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาและอนุรักษ์ ไปจนถูกใช้เพื่อคาดการณ์ภัยพิบัติทางธรณีวิทยาและภัยธรรมชาติต่างๆ

 

          3.การสังเกตการณ์ดาราศาสตร์

 

          ดาวเทียมที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์จำพวกกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ดาราศาสตร์ ถูกใช้งานเพื่อการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลเทหวัตถุบนท้องฟ้า ได้รับการใช้งานทั้งในวงโคจรเพื่อตรวจสอบเทหวัตถุที่เข้าใกล้โลก รวมถึงการส่งออกสู่อวกาศเพื่อสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น

 

4.การสื่อสารโทรคมนาคม

 

          อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของดาวเทียมในปัจจุบันคือ การเป็นสถานีรับ-ส่งคลื่นและข้อมูลชนิดต่างๆ เป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายสื่อสารทั่วโลก ช่วยสนับสนุนถ่ายทอดและเชื่อมโยงสัญญาณหลายชนิดตั้งแต่วิทยุ, โทรทัศน์, โทรศัพท์ ไปจนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมต่างๆ

 

          5.การใช้งานทางการทหาร

 

          ดาวเทียมถูกใช้ในทางการทหารเสมอมานับแต่มีการคิดค้นดาวเทียมขึ้นมา ทั้งในด้านการระบุตำแหน่งพิกัดหรือช่องทางการสื่อสารต่างๆ นอกจากนี้ยังถูกใช้งานทั้งในด้านการตรวจสอบและจารกรรมข้อมูลทั้งในการถ่ายภาพข้าศึกและระบุตำแหน่งเป้าหมาย มีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับยุทธศาสตร์

 

          ปัจจุบันดาวเทียมกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญและรากฐานของสังคมยุคใหม่ มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยชี้วัดศักยภาพแข่งขัน รวมถึงเกี่ยวพันโดยตรงต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ

 

          นี่จึงเป็นสาเหตุให้ขอบเขตของการปกป้องประเทศไม่จำกัดอยู่เพียงภาคพื้น น่านน้ำ หรือฟากฟ้า แต่ขยายตัวไปสู่อวกาศในที่สุด

 

Star wars!? เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาดาวเทียมเพื่อความมั่นคงทางอวกาศ

 

 

          ดาวเทียมเพื่อป้องกันความมั่นคงแก่ดาวเทียม

 

          ส่วนนี้เกิดขึ้นจากการลงนามความร่วมมือของบริษัท Northrop Grumman จากสหรัฐฯ และ IHI Corporation แห่งญี่ปุ่น เพื่อสร้างดาวเทียมที่ใช้ในการตรวจสอบ ป้องกัน และเฝ้าระวังภัย ดาวเทียมหรืออากาศยานน่าสงสัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อดาวเทียมที่มีความสำคัญของประเทศ

 

          ดังที่กล่าวไปข้างต้นกับความสำคัญของดาวเทียมในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งอย่างญี่ปุ่น ไม่เพียงระบบสื่อสารโทรคมนาคม แม้แต่ดาวเทียมพยากรณ์อากาศหรือสำรวจทรัพยากรธรรมชาติก็รักษาชีวิตผู้คนได้มาก

 

          ดาวเทียมหลายดวงทวีความสำคัญสวนทางกับการป้องกันความปลอดภัย หลายครั้งเกิดเหตุเทหวัตถุหลุดเข้ามาในวงโคจร การขยายตัวของดาวเทียมและขยะอวกาศ ไปจนภัยคุกคามอื่นๆ ล้วนเป็นความเสี่ยงที่อาจสร้างความเสียหายดาวเทียมสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศโดยตรง

 

          แนวทางในการก่อวินาศภัยต่อดาวเทียมสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้ดาวเทียมขนาดเล็กพุ่งชน ทำให้หลุดจากวงโคจรหรือความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้,  การยิงคลื่นไมโครเวฟทำลายระบบอิเล็กทรอนิกส์, ส่งคลื่นวิทยุรบกวนสัญญาณ, ใช้แขนกลเข้างัดแงะทำลาย ฯลฯ

 

          ด้วยเหตุนี้ทางการญี่ปุ่นจึงได้ตัดสินใจเซ็นสัญญาเพื่อพัฒนาดาวเทียมลาดตระเวน เป็นดาวเทียมขนาดเล็กความคล่องตัวสูงสำหรับการเสริมสร้างความปลอดภัยทางอวกาศ ทำหน้าที่คล้ายตำรวจ โดยจะเคลื่อนที่ไปมาเพื่อตรวจตราและระบุวัตถุบินที่เข้าใกล้วงโคจรของดาวเทียม ทำให้หน้าที่เป็นแนวป้องกันดาวเทียมที่มีความสำคัญให้สามารถทำงานอย่างปลอดภัย

 

          พวกเขาระบุว่า การพัฒนาดาวเทียมชนิดนี้จะช่วยให้การระบุวัตถุบินน่าสงสัยทำได้ง่าย จึงสามารถคาดการณ์และรับมือภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นต่อดาวเทียมและอวกาศ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีอวกาศ ช่วยเพิ่มความมั่นคงให้แก่การใช้งานดาวเทียมได้อีกมากในอนาคต

 

Star wars!? เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาดาวเทียมเพื่อความมั่นคงทางอวกาศ

 

 

          ความมั่นคงทางอวกาศ ผลกระทบที่ตามมาในอนาคต

 

          อันที่จริงแนวคิด ความมั่นคงทางอวกาศ หรือโครงการ Star wars เกิดขึ้นครั้งแรกมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ในยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน กับโครงการวางดาวเทียมสกัดกั้นขีปนาวุธข้ามทวีปของข้าศึก แต่ขณะนั้นเทคโนโลยีไม่สูงพอและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตจึงถูกยุบไปในที่สุด

 

          มาจนปัจจุบันแนวคิดที่เคยเป็นเพียงเรื่องขำขันในอดีตถูกนำมาพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้ง ภายหลังโครงการความร่วมมือทางอวกาศนานาชาติ นำไปสู่ความก้าวหน้าและการตั้งคำถามเมื่อเกิดความขัดแย้ง จนทำให้ประเด็นความมั่นคงทางอวกาศได้รับการนำมาปัดฝุ่นและให้ความสนใจอีกครั้ง

 

          สำหรับญี่ปุ่นแนวคิดในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอวกาศของเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2020 กับการประกาศจัดตั้งหน่วยป้องกันภัยทางอวกาศ  หน่วยงานใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อรองรับภารกิจป้องกันภัยจากอวกาศ ด้วยความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศอย่างรอบด้านเพื่อรับมือภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น

 

          สิ่งนี้เกิดจากความพยายามในการขยายบทบาทกองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่น เปลี่ยนบทบาทจากกองกำลังทางการทหารให้มีความใกล้เคียงกับกองทัพเต็มตัว ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจำนวนมหาศาล ยกระดับขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองของประเทศครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

 

          สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากความผันวผวนของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ และความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งข้อพิพาททางพรมแดนนำไปสู่การส่งเรือลาดตระเวนเข้ารุกล้ำน่านน้ำของจีน การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และท่าทีแข็งกร้าวในการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องหันมาเอาใจใส่ในการป้องกันประเทศมากขึ้น

 

          แน่นอนความร่วมมือครั้งนี้เริ่มต้นจากการพัฒนาดาวเทียมสำรวจและลาดตระเวน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของดาวเทียมและระบบโครงสร้างพื้นฐาน แต่การขยับตัวครั้งนี้ก็นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ในอนาคตเมื่อความขัดแย้งกลายเป็นสงคราม พื้นที่ต่อสู้จะขยายจากพื้นโลกไปสู่อวกาศหรือไม่?

 

          และเมื่อถึงตอนนั้นผลกระทบและความเสียหายที่ตามมาจะนำไปสู่ผลลัพธ์เช่นไร?

 

 

          แน่นอนนี่เป็นเพียงการมองโลกในแง่ร้ายที่ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย มองอีกด้านดาวเทียมตรวจตรานี้อาจช่วยรับมือขยะอวกาศ ช่วยให้ดาวเทียมสำคัญหลีกเลี่ยงความเสียหาย ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขยายตัวของเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมในอนาคตได้เช่นกัน

 

 

 

          ที่มา

 

          https://ngthai.com/science/33270/space-technology/

 

          https://workpointtoday.com/abe-new-unit-will-defend-japan-from-space-tech-threats/

 

          https://newatlas.com/space/northrop-grumman-ihi-partner-develop-patrol-satellites/

 

          https://interestingengineering.com/innovation/northrop-grumman-ihi-patrol-satellites

 

          https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=2406&lang=TH

 

          https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=2406&lang=TH

 

          https://www.thairath.co.th/news/foreign/1897905?optimize=c