posttoday

ไม่ต้องปวดหัวเรื่องหาของ การเปลี่ยนแว่น AR เป็นเครื่องสแกน

23 มีนาคม 2566

เชื่อว่าหลายท่านต้องผ่านประสบการณ์หาของไม่เจอกันมาบ้าง ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันแต่สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจได้ไม่เบา ล่าสุดปัญหาเหล่านี้อาจเบาบางลงจากการเปลี่ยนแว่น AR เป็นเครื่องสแกนหาวัตถุ

การค้นหาสิ่งของภายในห้อง อาจเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของใครหลายคน บางครั้งเราอาจพยายามเก็บให้เป็นระเบียบ วางข้าวของที่ใช้งานไว้ในที่เดียวกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ต้องมาย้อนถามตัวเองอีกครั้งว่าของที่ต้องการใช้อยู่ตรงไหน ยังไม่รวมสถานการณ์พิเศษบางประเภทที่ข้าวของในบ้านอาจเคลื่อนย้ายโดยไม่ตั้งใจ

 

          แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการติดตั้งอุปกรณ์ RFID บนแว่น AR สามารถใช้สแกนหาสิ่งของในพื้นที่ได้

 

ไม่ต้องปวดหัวเรื่องหาของ การเปลี่ยนแว่น AR เป็นเครื่องสแกน

 

RFID อุปกรณ์ใกล้ตัวที่บางทีเราอาจมองข้าม

 

          ด้วยการทำงานของเทคโนโลยีนี้ต้องใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี RFID และ AR สำหรับหลายท่านที่ติดตามข่าวเทคโนโลยีอาจเคยผ่านตาเรื่องอุปกรณ์ AR หรือ Augmented Reality กันมาบ้าง แต่บางท่านอาจไม่รู้จักอุปกรณ์ RFID เราจึงมาอธิบายเพิ่มเติมกันเสียหน่อย

 

          RFID ย่อมาจาก Radio Frequency Identification เป็นระบบเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสามารถในการคำนวณและการรักษาความปลอดภัย อาศัยการอ่านและส่งผ่านข้อมูลผ่านคลื่นแม่เหล็กหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแทนการใช้กลไกทางกายภาพ โดยอาศัยคลื่นวิทยุเป็นตัวเชื่อมเพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูล

 

          ระบบการทำงานของอุปกรณ์นี้จะเริ่มจากการนำป้ายไปติดอยู่บนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น บัตร กล่อง หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ เพื่อช่วยในการติดตามและตรวจสอบข้อมูลของชิ้นนั้นจากป้ายที่ติดอยู่ ตั้งแต่ผู้ผลิต, สถานที่ผลิต, วันจำหน่าย, ส่วนประกอบ ฯลฯ ผ่านเครื่องอ่านข้อมูลที่กำหนดซึ่งได้รับการติดตั้งไว้

 

          ปัจจุบันระบบ RFID ถูกนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมมากมาย สามารถพบเห็นได้ทั่วไปแม้แต่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ระบบตรวจวัดความเร็วบนท้องถนน, ระบบเข้า-ออกอาคารสำนักงานต่างๆ, ไปจนตั๋วของระบบโดยสารประจำทางอย่างตั๋วรถไฟฟ้าและบัตรแมงมุม ล้วนได้รับความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีนี้ทั้งสิ้น

 

          และล่าสุดการใช้งานเทคโนโลยีนี้กำลังจะได้รับการพัฒนาไปอีกขั้นเมื่อมีการประยุกต์ใช้กับแว่น AR

 

ไม่ต้องปวดหัวเรื่องหาของ การเปลี่ยนแว่น AR เป็นเครื่องสแกน

 

X-AR สแกนหาวัตถุจากแว่น AR

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT กับการพัฒนา X-AR แว่น AR ที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมก็สามารถเปลี่ยนแว่นชนิดนี้ให้กลายเป็นอุปกรณ์ค้นหา และแจ้งตำแหน่งของวัตถุที่กำหนดซึ่งอยู่ภายในรัศมีให้แก่ผู้สวมใส่ได้

 

          ตัวอุปกรณ์นี้มีพื้นฐานจากแว่น AR อย่าง Microsoft HoloLens ได้รับการดัดแปลงติดตั้งอุปกรณ์อ่าน RFID กับเสาอากาศขนาดเล็ก โดยมีรูปแบบการทำงานคือการส่งสัญญาณวิทยุผ่านเสาอากาศกระจายออกไปยังบริเวณรอบข้าง จากนั้นจะสามารถส่งสัญญาณเข้าหาวัตถุที่ติดป้ายจากระบบ RFID ภายในรัศมีเพื่อระบุตำแหน่งพิกัดของชิ้นนั้นได้

 

          ขั้นตอนการใช้งานที่ต้องทำมีเพียงติดตั้งอุปกรณ์และเสาสัญญาณขนาดเล็กลงบนแว่น จากนั้นเปิดการทำงานหน้าจอจะแสดงตำแหน่งของวัตถุที่ต้องการหาและได้รับการติดตั้งลงบนป้ายตามที่กำหนดออกมาทันที สัญญาณวิทยุที่ใช้งานสามารถเดินทางผ่านวัตถุที่เป็นของแข็ง นั่นทำให้ระบบนี้ช่วยระบุตำแหน่งวัตถุได้แม่นยำแม้มีสิ่งกีดขวางบังอยู่ก็ตาม

 

          จากการทดสอบอุปกรณ์ต้นแบบ X-AR สามารถสแกนหาวัตถุในขอบเขตไม่เกิน 15 เซนติเมตรได้ชัดเจน โดยจะขึ้นบอกเป็นตำแหน่งบนหน้าจอของผู้สวมใส่ ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาซ้อนทับกับวัตถุบนโลกความเป็นจริง อีกทั้งยังมีความแม่นยำในการระบุตำแหน่งของสินค้ามากถึง 92 – 99% แม้จะมีสิ่งกีดขวางคอยกั้นอยู่หรือในพื้นที่มีข้าวของรกก็ตาม

 

          ตัวระบบได้รับการออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นสิ่งที่เห็นได้ลำบากหรือยากต่อการค้นหา และนำทางผู้ใช้งานไปหาอุปกรณ์ที่กำหนดเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานรวมถึงการซ่อมบำรุงต่างๆ สร้างประโยชน์มากมายในหลายแวดวงนับจากนี้

 

 

          ความน่าสนใจที่แฝงความน่ากลัว

 

          แน่นอนการคิดค้นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราระบุตำแหน่งของที่กำหนดถือเป็นเรื่องดี ในอนาคตนอกจากใช้งานในชีวิตประจำวันยังสามารถนำไปใช้ในอีกหลายภาคส่วน ตั้งแต่ในด้านการจัดระเบียบคลังสินค้า ค้นหาสินค้าที่ต้องการภายในร้าน หรือแม้แต่สนับสนุนการซ่อมแซมเครื่องยนต์กลไกและชิ้นส่วนต่างๆ

 

          สิ่งเหล่านี้จะช่วยย่นระยะเวลาการทำงานและเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตเรามากขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่วนคลังสินค้าและงานซ่อมบำรุงทุกชนิด เมื่อเราสามารถค้นหาสินค้าได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องไล่ดูทะเบียน หรือซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่เสียหายและเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ได้ทันทีจากการสแกนเพียงครั้งเดียว

 

          แต่นั่นก็นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนา อาจมีแนวโน้มในการนำไปใช้ทางอาชญากรรมได้ง่ายขึ้น หากคนร้ายแทรกแซงระบบค้นหาของผู้ใช้งานได้สำเร็จ อาจช่วยระบุตำแหน่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์กลไก หรือแม้แต่ตำแหน่งบุคคลได้โดยง่าย และอาจเป็นอันตรายต่อสังคมได้เช่นกัน

 

          นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่แม้จะมีความน่าสนใจสมควรได้รับการสนับสนุนให้ใช้งานแพร่หลาย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพราะเป็นไปได้สูงว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้จะถูกนำไปใช้ในงานโจรกรรมและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ในอนาคต

 

          อย่างไรก็ตามตัวผู้เขียนคาดหวังให้เทคโนโลยีนี้ออกมาใช้งานในเร็ววัน เพราะเหนื่อยกับการต้องนั่งหารีโมทเต็มที

 

 

          แนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทั้ง AR และ VR ได้รับการพัฒนาออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยจำกัดเพียงในรูปของสื่อและความบันเทิงก็เริ่มปรับเข้าสู่ชีวิตประจำวันและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น น่าคาดหวังกับอนาคตว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยผลักดันอนาคตของมนุษยชาติได้เพียงไร คงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามต่อไปนับจากนี้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.pospak.com/th/what-is-rfid-blog

 

          https://newatlas.com/vr/x-ar-hidden-items-rfid/

https:/

          /news.mit.edu/2023/augmented-reality-headset-enables-users-see-hidden-objects-0227