posttoday

GM คิดค้นทัชสกรีนทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออัตโนมัติ

21 มีนาคม 2566

ปัจจุบันคาดว่าทุกท่านน่าจะคุ้นเคยกับการใช้งานทัชสกรีนกันแล้ว ย่อมทราบดีว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญคือรอยเปื้อนบนหน้าจอที่ทำให้เราต้องเช็ดอยู่ตลอด ทั้งยังอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค แต่ล่าสุดมีการพัฒนาจอทัชสกรีนที่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออัตโนมัติ

ทุกวันนี้ หน้าจอสัมผัส หรือ ทัชสกรีน น่าจะเป็นหนึ่งในระบบที่ติดตั้งบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวัน เมื่อผ่านการใช้งานมาพักหนึ่งเราจึงทราบดีว่า ปัญหาที่ตามมาเมื่อมีการใช้งานหน้าจอทัชสกรีนคือ รอยนิ้วมือที่เกิดจากฝุ่น เหงื่อ หรือคราบไขมัน ลำบากให้เราต้องเช็ดออกวันละหลายรอบ รวมถึงการกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคประเภทต่างๆ

 

          แน่นอนว่าเรายังคงมองหาวิธีป้องกันหลากหลาย อาจมีแนวทางการติดฟิล์มป้องกันเพื่อลดผลกระทบจากรอยนิ้วมือลงบ้าง แต่นอกจากฟิล์มเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายแล้ว สารเคลือบยังสลายหายไปในระยะเวลาประมาณ 1 – 2 ปี เมื่อหมดก็จำเป็นต้องลอกทิ้งติดใหม่ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองขึ้นไปอีก ทั้งยังไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้

 

          แต่ล่าสุดปัญหานี้อาจหมดไปเมื่อมีการคิดค้นเทคโนโลยีในการป้องกันรอยเปื้อนและฆ่าเชื้อบนหน้าจอทัชสกรีนได้สำเร็จ

 

GM คิดค้นทัชสกรีนทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออัตโนมัติ

การป้องกันคราบและฝุ่นละอองบนพื้นผิวกระจก

 

          แนวคิดในการพัฒนากระจกที่มีคุณสมบัติป้องกันฝุ่นละอองและรอยนิ้วมือไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เดิมทีเทคโนโลยีนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับ โซล่าเซลล์ ที่อ่อนไหวต่อความสามารถในการดูดซับแสงเป็นพิเศษด้วยต้องนำแสงไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งหลายครั้งโซล่าเซลล์ยังได้รับการติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่สะดวกในการทำความสะอาด

 

          นี่เป็นผลงานของทีมวิจัย Fraunhofer ในเยอรมนีซึ่งคิดค้นสารเคลือบชนิดพิเศษที่มีส่วนประกอบสำคัญจาก ไทเทเนียมออกไซด์ สารประกอบซึ่งมีคุณสมบัติตอบสนองต่อน้ำสูง และสามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาเพื่อขจัดฝุ่นและคราบสกปรกบนพื้นผิวได้โดยอัตโนมัติ

 

          ขั้นตอนการทำงานของสารเคลือบชนิดนี้จะได้รับการกระตุ้นจาก รังสียูวี จะเปลี่ยนให้ไทเทเนียมออกไซด์อยู่ในสถานะดูดซึมน้ำได้ดี สามารถดึงไอน้ำในอากาศให้เข้าปกคลุมพื้นผิวที่เคลือบคล้ายอยู่ในสถานะม่านบางๆ เพื่อป้องกันการเกาะติดของฝุ่นและสิ่งสกปรก จากนั้นในเวลากลางคืนคุณสมบัตินี้จะคลายตัว ไอน้ำจะกลั่นออกมาเป็นหยดและชะล้างฝุ่นที่เกาะติดบนพื้นผิวโดยไม่ต้องออกแรง

 

          นอกจากคุณสมบัติในการป้องกันคราบสกปรกและทำความสะอาดตัวเองได้แล้ว สารเคลือบยังมีคุณสมบัติในการทำลายสารอินทรีย์และฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มาเกาะบนพื้นผิวอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปเคลือบกระจกได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งโซล่าเซลล์ หน้าต่าง รวมถึงกระจกชนิดอื่นที่มีแนวโน้มในการได้รับแสงแดดและรังสียูวีที่แน่นอน จึงเหมาะสมในการใช้งานกับกระจกที่ใช้งานภายนอกเป็นหลัก

 

          จนล่าสุดจึงเริ่มมีการดัดแปลงให้สามารถนำไปใช้งานกับระบบทัชสกรีนได้ในที่สุด

 

GM คิดค้นทัชสกรีนทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออัตโนมัติ

สู่ทัชสกรีนที่สามารถทำความสะอาดตัวเอง

 

          ผลงานนี้เป็นของบริษัทรถยนต์ที่หลายท่านคุ้นเคยกันดีอย่าง General Motors กับการจดสิทธิบัตรระบบทำความสะอาดหน้าจอทัชสกรีน จากระบบการกระตุ้นปฏิกิริยาด้วยแสงด้วยรังสียูวีจากหลอดไฟ LED โดยการสร้างสีที่ 4 จากสีในระบบแสง RGB

 

          แนวคิดนี้มีความใกล้เคียงกับสารเคลือบจากไทเทเนียมออกไซด์ที่เพิ่งได้รับการพูดถึง อาศัยหลักการทำงานโดยการกระตุ้นจากรังสียูวีแบบเดียวกันทุกประการ แต่ด้วยข้อจำกัดในการกระตุ้นกลไกการทำงานของสารเคลือบต้องอาศัยรังสียูวี นั่นทำให้ทิศทางการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นผลิตภัณฑ์กลางแจ้งเป็นหลัก

 

          สิ่งนี้ถูกทดแทนด้วยการออกแบบหลอดไฟ LED ชนิดพิเศษ ให้หลอดไฟสามารถฉายความเข้มข้นของรังสียูวีบนหน้าจอ ผู้ใช้งานสามารถตั้งให้ระบบเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติเพื่อเริ่มทำความสะอาดในเวลากลางคืน สั่งให้เปิดการทำงานด้วยมือ หรือแม้แต่ให้เปิดใช้งานตลอดเวลาก็สามารถกำหนดได้ดังใจ

 

          ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้สามารถขจัดคราบสกปรกและฝุ่นที่ติดบนหน้าจอ โดยเราไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดหรือหาผ้ามาเช็ดอีกต่อไป รวมถึงยังช่วยให้หน้าจอทัชสกรีนที่ใช้งานมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียเกาะติดบนพื้นผิวโดยอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มสุขอนามัยให้แก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อีกทาง

 

          ปัจจุบันสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่ทางบริษัททำการจดทะเบียนครอบคลุมการใช้งานตั้งแต่ในคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์เคลื่อนที่ทุกชนิด, โทรทัศน์, ตู้เอทีเอ็ม ไปจนเครื่องใช้ในครัวเรือนชนิดต่างๆ ซึ่งเราคงต้องรอดูกันต่อไปว่ากลไกนี้จะทำงานได้ดีเพียงไร

 

 

          สำหรับท่านที่คาดหวังให้ระบบนี้ได้รับการใช้งานในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอาจต้องรอกันสักนิด มีแนวโน้มสูงว่าเทคโนโลยีนี้จะได้รับการนำไปใช้งานในหน้าจอของรถยนต์บริษัท General Motors เป็นแห่งแรก คงต้องรอดูต่อไปว่าจะมีบริษัทใดคิดค้นเทคโนโลยีเดียวกันหรือนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานต่อยอด

 

          แต่ส่วนตัวผู้เขียนก็คาดหวังให้เทคโนโลยีได้รับการผลักดันมาใช้งานแพร่หลายในเร็ววันเช่นกัน

 

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://my-best.in.th/49690

 

          https://newatlas.com/materials/self-cleaning-solar-panels-ultra-thin-coating/

 

          https://newatlas.com/technology/self-cleaning-touch-screen-gm/