posttoday

จาก Midjourney สู่หุ่นยนต์เอไอที่สามารถวาดภาพด้วยพู่กัน

08 มีนาคม 2566

การเข้ามาของเทคโนโลยีเอไอเขย่าวงการต่างๆ มากมาย หลายภาคส่วนพากันกังวลต่ออนาคตที่จะมาถึง บ้างเริ่มต้องมองหาลู่ทางปรับตัวรองรับ ล่าสุดแรงสั่นสะเทือนจะกลับไปหาศิลปินอีกครั้ง เมื่อหุ่นยนต์เอไอสามารถวาดรูปด้วยพู่กันได้

ในสายตาคนส่วนใหญ่การตื่นตัวรับรู้เรื่องเอไออาจเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2022 แต่สำหรับแวดวงศิลปะประเด็นการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ได้รับการพูดถึงมานานกว่านั้น จากการมาเยือนของเอไออย่าง Midjourney จนสร้างข้อถกเถียงในแวดวงศิลปะกันยกใหญ่ จากชัยชนะจากภาพวาดของเอไอในงาน Colorado State Fair หมวด Digital Arts

 

          ปฏิกิริยาดังกล่าวนำไปสู่ความไม่พอใจจนเกิดการรวมกลุ่มฟ้องร้อง ทั้งจากบรรดานักวาดรายย่อยรวมตัวกันฟ้องบริษัท AI สายวาดภาพอย่าง Stability AI, DeviantArt และ Midjourney รวมถึงบริษัท Getty Images เองก็ฟ้องร้องบริษัท Stability AI ในข้อหาขโมยภาพไปเทรนเอไอโดยไม่ขอลิขสิทธิ์เช่นกัน

 

          แต่ล่าสุดความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์อาจไกลไปกว่านั้น เมื่อมีการคิดค้นหุ่นยนต์เอไอที่สามารถวาดภาพพู่กัน

 

จาก Midjourney สู่หุ่นยนต์เอไอที่สามารถวาดภาพด้วยพู่กัน

 

หุ่นยนต์ที่สามารถวาดภาพด้วยพู่กัน

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Carnegie Mellon University ได้พัฒนาหุ่นยนต์ FRIDA (The Framework and Robotics Initiative for Developing Arts) ที่มีการติดตั้งแขนกลในการหยิบจับวัตถุขับเคลื่อนด้วยเอไอ สามารถหยิบจับพู่กันขึ้นมาวาดลงบนกระดาษหรือผืนผ้าใบออกมาเป็นรูปภาพ ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการควบคุมด้วยนิ้วมือมนุษย์

 

          รูปแบบการทำงานของ FRIDA เมื่อทำการจับพู่กัน จะอาศัยการประเมินจากการจับเวลาและภาพจากกล้องที่ติดตั้งเพื่อทำการปรับเปลี่ยนแบบเรียลไทม์ โดยใช้โมเดลปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบเดียวกับ ChatGPT ที่สามารถตอบรับคำสั่งของมนุษย์ และ DALL-E เอไอที่มีความสามารถในการสร้างรูปภาพจากคำบรรยาย นำไปสู่หุ่นยนต์ที่สามารถวาดภาพได้ตามสั่ง

 

          ตัวหุ่นสามารถจับพู่กันเขียนออกมาเป็นรูปวาด อาศัยการป้อนข้อมูลจากคำอธิบายผ่านข้อความ รูปถ่าย ไปจนถึงเสียงเพลง โดยสามารถป้อนผลงานศิลปะบางชิ้นเพื่อใช้ให้เป็นแนวทาง จากนั้นตัวหุ่นจะทำการจับพู่กันขีดเขียนลงไปบนกระดาษ ออกมาเป็นรูปศิลปะให้เราพร้อมได้ยลโฉม

 

          การพัฒนาของ FRIDA ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นต้นแม้ตัวหุ่นจะเริ่มวาดภาพออกมาเป็นรูปร่างเรียกว่าเป็นงานศิลปะได้ แต่ตัวระบบยังคงมีข้อจำกัดในการทำงานอีกมาก ทั้งในด้านการแปลงข้อมูลเรียนรู้แบบดิจิทัลให้กลายเป็นของจริง ทักษะด้านการผสมสีที่ยังต้องอาศัยแรงงานมนุษย์ในการจัดการ รวมถึงการควบคุมฝีแปรงของพู่กันเบอร์ใหญ่ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก

 

          แต่ทางทีมวิจัยยังคงเร่งพัฒนาระบบให้สอดคล้องและรองรับงานศิลปะในทุกรูปแบบ โดยพวกเขากำลังพัฒนาระบบผสมสีอัตโนมัติให้กับตัวหุ่น และเพิ่มขีดความสามารถในการลงพู่กันให้มีความเฉียบคมตรงตามต้องการ โดยคาดหวังว่าในอนาคต ไม่เพียงเขียนภาพแต่พวกเขาต้องการพัฒนาให้ตัวหุ่นสามารถแกะสลักชิ้นงานได้อีกด้วย

 

จาก Midjourney สู่หุ่นยนต์เอไอที่สามารถวาดภาพด้วยพู่กัน

 

ความกังวลของผู้คน เมื่อหุ่นยนต์และเอไออาจเข้ามาแทนที่

 

          ทุกครั้งที่เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถเพิ่มขึ้น ปัญหาที่ได้รับการพูดถึงไม่แพ้กันคือการเข้ามาทดแทนมนุษย์จนเกิดการแย่งงาน กลายเป็นข้อวิตกแก่ผู้คนจำนวนมากทำให้เกิดการต่อต้านเทคโนโลยี นำไปสู่ประเด็นการฟ้องร้องตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

 

          แน่นอนส่วนนี้เป็นความสุ่มเสี่ยง ด้วยทางผู้พัฒนาเอไอไม่เคยขออนุญาตการนำข้อมูลไปใช้สำหรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มาก่อน จึงกลายเป็นความก้ำกึ่งในด้านข้อกฎหมาย เช่นเดียวกับประเด็นด้านศีลธรรมเกี่ยวกับการนำข้อมูลไปใช้ เช่น เริ่มมีการกดดันให้เจ้าของเสียงบรรยาย หรือ Voice Actor ในสหรัฐฯ เซ็นสัญญาให้สิทธิในการใช้เสียงนำไปเทรนเอไอจนกลายเป็นที่ลำบากใจ

 

          ในทางกฎหมายลิขสิทธิ์เทคโนโลยีเอไอยังมีส่วนคลุมเครือจนต้องตีความ แต่ในด้านการเข้ามาแทนที่มนุษย์โดยสิ้นเชิงนั้น ทางทีมวิจัยพากันโต้แย้งแสดงความไม่เห็นด้วย พวกเขากลับมองว่าการเข้ามาของ FRIDA จะเป็นการช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์มากกว่าจะเป็นการเข้ามาแทนที่คนเรา

 

          จริงอยู่เอไอตัวนี้สามารถสร้างผลงานศิลปะออกมาตามใบสั่งได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยสุดท้ายระบบของเอไอตัวนั้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คิดเอง เหมือนกับเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์อีกหลายชนิดที่ทำหน้าที่ผู้ช่วย คอยอำนวยความสะดวกเพิ่มคุณภาพชีวิตคนเราให้สูงขึ้น มากกว่าจะเป็นการเข้ามาทดแทนมนุษย์โดยตรง

 

          สิ่งที่ผู้พัฒนาคาดหวังจากการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นี้คือ การเพิ่มขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ของคนเราให้ชัดเจน ช่วยให้ชุดความคิดหรือจินตนาการภายในหัวของเราออกมาเป็นภาพได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมศักยภาพในการทำงานของมนุษย์ให้สามารถผลิตผลงานที่ต้องการออกมาโดยสะดวก และคาดหวังว่าหุ่นยนต์ของพวกเขาจะมีส่วนช่วยสร้างผลงานศิลปะต่อไป

 

 

          แน่นอนว่านี่เป็นเพียงหนึ่งในนวัตกรรมที่เกิดขึ้นด้วยการเติบโตของเอไอและคงไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ ในอนาคตปัญญาประดิษฐ์อาจสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่แก่สังคมและมนุษยชาติ ซึ่งเราคงได้แต่รอดูว่าเทคโนโลยีนี้จะนำทางเราไปสู่ทิศทางใด

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://arstechnica.com/tech-policy/2023/02/getty-sues-stability-ai-for-copying-12m-photos-and-imitating-famous-watermark/

 

          https://www.vice.com/en/article/bvmvqm/an-ai-generated-artwork-won-first-place-at-a-state-fair-fine-arts-competition-and-artists-are-pissed

 

          https://www.blognone.com/node/132606

 

          https://www.blognone.com/topics/artificial-intelligence

 

          https://interestingengineering.com/innovation/frida-ai-powered-robotic-arm-art

 

          https://www.cs.cmu.edu/news/2023/frida-robot