posttoday

บริการ AI ที่ช่วยให้เราคุยกับคนที่ตายไปแล้ว

05 มกราคม 2566

AI นับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจยิ่งในช่วงหลัง เมื่อปัญญาประดิษฐ์ทยอยเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นจนหลายคนเริ่มรู้สึกถูกคุกคาม วันนี้เราจะพามามองจากอีกมุม เมื่อมีการใช้ AI ช่วยให้เราได้คุยกับคนที่ตายไปแล้ว

ท่ามกลางความตื่นตัวจาก AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ซึ่งล้ำหน้าขึ้นทุกวัน ผู้คนพากันวิตกเมื่อเห็นเทคโนโลยีทวีความล้ำหน้าขึ้นทุกวันจนอาจเข้ามาแย่งอาชีพที่ทำอยู่ กระนั้นปัญญาประดิษฐ์ยังคงมีการใช้งานอย่างหลากหลาย และเริ่มขยับเข้ามาในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น

 

          ล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้เราสามารถพูดคุยกับคนที่ตายไปแล้วได้อีกครั้ง

 

บริการ AI ที่ช่วยให้เราคุยกับคนที่ตายไปแล้ว

จากปัญญาประดิษฐ์สู่บุคคลผู้ล่วงลับ

 

          สำหรับคอภาพยนตร์ไซไฟทั้งหลายอาจคุ้นเคยพล็อตประมาณนี้มาบ้าง เมื่อเรายังรู้สึกติดค้างหรือทำใจกับการจากไปของใครสักคนไม่ได้ จึงเริ่มมีการนำข้อมูลคนตายไปใช้ในการเทรนนิ่งเอไอ กลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีพฤติกรรมและการตอบสนองแบบเดียวกับเจ้าของข้อมูลนำไปสู่การตั้งคำถามมากมาย

 

          แนวคิดที่ฟังดูเป็นเรื่องเพ้อฝันแต่เรากำลังเข้าสู่ยุคที่สามารถพัฒนาเอไอให้เป็นคนที่ตายได้แล้วในปัจจุบัน

 

          บริษัทแรกที่ออกมาเรียกเสียงฮือฮาจากเรื่องนี้คือยักษ์ใหญ่แห่งวงการอย่าง Microsoft กับการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยสนทนากับคนที่ตายไปแล้วผ่าน Chatbot โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ในการรวบรวมและเรียนรู้ข้อมูลเพื่อตอบโต้บทสนทนา ช่วยให้คนที่จากไปเหมือนกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง

 

          แน่นอนว่า Microsoft ไม่ใช่เจ้าเดียวที่มีแนวคิดแบบนั้น บริษัทมากมายให้ความสนใจเทคโนโลยีในส่วนนี้และเริ่มพัฒนาเช่นกัน ตั้งแต่

 

          - บริษัท StoryFile กับการพัฒนาเอไอผู้เสียชีวิต ให้สามารถกลับมาพูดคุยต้อนรับแขกในงานศพของตัวเอง

 

          - บริษัท MyHeritage ที่ให้เราอัพโหลดผู้ถ่ายของผู้ตายให้กลับมามีชีวิตบนภาพเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง

 

          - บริษัท Artistry In Motion กับการจำลองภาพโฮโลแกรมของผู้ล่วงลับให้โผล่มาตรงหน้า

 

          - บริษัท HereAfter AI กับแอพพลิเคชั่นที่ให้เราสามารถพูดคุยกับคนที่จากไปผ่านมือถือ

 

          ทั้งหมดคือความพยายามในการให้เราสามารถสื่อสารกับคนตายได้อีกครั้ง แม้จะรู้ว่าสิ่งที่พูดคุยอยู่ตอนนี้เป็นเพียงตัวแทนคนที่จากไป แต่ผู้คนมากมายยังคงคาดหวังจะได้พบหน้า พูดคุย และอยู่ร่วมกับคนสำคัญของตัวเองอีกครั้ง นำไปสู่การคิดค้นเทคโนโลยีให้เราสามารถพูดคุยกับผู้เสียชีวิตได้ใกล้เคียงตอนมีชีวิตที่สุด

 

บริการ AI ที่ช่วยให้เราคุยกับคนที่ตายไปแล้ว

บริการที่ทำให้เราสามารถพูดคุยกับคนที่จากไปได้อีกครั้ง

 

          แนวคิดนี้เป็นของบริษัท DeepBrain AI จากประเทศเกาหลีใต้ กับบริการ Re;memory ที่เปิดโอกาสให้เราสามารถพูดคุยกับผู้เสียชีวิตได้ จากการนำปัญญาประดิษฐ์มาจำลองพฤติกรรมการตอบสนองของคนตาย จนให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังสนทนากับบุคคลผู้นั้นอยู่ผ่านวีดีโอคอล

 

          การใช้งานปัญญาประดิษฐ์จำลองผู้เสียชีวิตขึ้นมาโดยอาศัยข้อมูลจากบันทึกที่เหลืออยู่ในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย วีดีโอ จนถึงข้อความสนทนา จากนั้นจึงทำการสัมภาษณ์ด้วยชุดคำถามที่เตรียมไว้ล่วงหน้า คอยเก็บข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ของเอไอ เพื่อสร้างบทสนทนาและการตอบสนสองสมจริงที่สุดเท่าที่ทำได้

 

          จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์เพื่อเลียนแบบการเป็นบุคคลดังกล่าว พร้อมกันนั้นยังจำลองท่วงท่า, การเคลื่อนไหว, การแสดงออกทางสีหน้า จนถึงการขยับปากให้เป็นธรรมชาติ จากนั้นใช้เทคโนโลยีการจดจำและเลียนเสียงที่ได้รับจากบันทึก เพื่อสร้างการสนทนาแบบเรียลไทม์

 

          นั่นเองคือช่วงเวลาที่คนตายได้รับการคืนชีพให้กลับมามีชีวิต แม้เป็นเพียงบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนหน้าจอก็ตาม

 

          หลังผ่านการประมวลผลจากข้อมูลมหาศาลยาวนานหลายชั่วโมง Re;memory สามารถมอบประสบการณ์พบหน้าผู้ที่จากไปเป็นเวลาราว 30 นาที เปิดโอกาสให้เราได้ใช้เวลา พูดคุย ไปจนฉลองวันสำคัญและวันครบรอบต่างๆ รองรับการจัดทำวีดีโอที่มีผู้เสียชีวิตเป็นส่วนหนึ่ง จนถึงการจัดงานรำลึกทั้งหลายร่วมกับเอไออีกด้วย

 

          นี่จึงถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวให้ผู้ใช้งานสามารถใกล้ชิดและใช้เวลาร่วมกับคนสำคัญได้อีกครั้ง นอกจากนี้ไม่จำกัดเพียงคนตายทางบริษัทยังสามารถเลียนแบบผู้ที่ยังมีชีวิตได้เช่นกัน ทั้งผู้ประกาศข่าวชื่อดัง คิมจูฮา รวมถึงประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ยุนซอกยอล ล้วนถูกสร้างเวอร์ชั่นเอไอขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น

 

 

          แนวโน้มในอนาคตแห่งเทคโนโลยีที่ยังต้องตั้งคำถาม

 

          ฟังดูเป็นเรื่องดีหากเราสามารถย้อนกลับไปพูดคุยกับคนที่จากไปได้อีกครั้ง ต่อให้รู้ว่านี่เป็นเพียงตัวแทนจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายคนก็ยังยินดี และเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มเทคโนโลยีในปัจจุบัน เป็นไปได้สูงว่าปัญญาประดิษฐ์อาจสามารถลอกเลียนการตอบสนองให้สมจริงได้ไม่ยาก

 

          ข้อพิสูจน์ในส่วนนี้สามารถเห็นได้จาก ChatGPT ที่กำลังได้รับความนิยม อาจมีส่วนติดขัดแต่ศักยภาพและการตอบสนองของเอไอให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการพูดคุยกับมนุษย์ จากศักยภาพเรียนรู้รวดเร็วในอัตราอันรวดเร็ว ในไม่ช้าข้อมูลจะถูกนำไปพัฒนาให้เอไอเวอร์ชั่นเต็มยิ่งทรงประสิทธิภาพจนยากจะแยกแยะเข้าทุกที

 

          หอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่อาจได้รับการประยุกต์ใช้ร่วมด้วยเช่นกันคือ AR และ VR จริงอยู่เทคโนโลยีตอนนี้อาจทำให้เราพบหน้าคนตายได้เพียงบนหน้าจอ แต่ในอนาคตเมื่อ AR และ VR พัฒนาร่วมกับชีวิตประจำวันแบบเดียวกับสมาร์ทโฟน ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจสามารถให้เอไอคนตายมาโลดแล่นในโลกเสมือนจริงได้เช่นกัน

 

          แต่เทคโนโลยีนี้ก็ชวนให้ตั้งคำถามอีกหลายด้านทั้งความเหมาะสม ศีลธรรม ไปจนผลกระทบที่ตามมา

 

 

          จริงอยู่ในเชิงการแพทย์อาจไม่มีเทคโนโลยีใดที่เหมาะสมต่อการรักษาสภาพจิตใจจากการสูญเสียไปกว่านี้ แต่เป็นไปได้สูงเช่นกันว่าอาจทำให้เกิดภาวะหลงผิดจนแยกแยะความจริงไม่ได้ การปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันอาจห่างเหินยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ จนสุดท้ายเราอาจเห็นค่าปัญญาประดิษฐ์มากกว่ามนุษย์ด้วยกันหรือไม่?

 

          คำถามที่ไม่มีคำตอบแต่คาดว่าเราอาจได้เห็นผลลัพธ์ของเรื่องนี้กับตาเข้าสักวัน

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.independent.co.uk/tech/microsoft-chatbot-patent-dead-b1789979.html

 

          https://www.technologyreview.com/2022/10/18/1061320/digital-clones-of-dead-people/

 

          https://futurism.com/ai-dead-woman-talk-people-funeral?fbclid=IwAR2BMn9nCE4Bx4URnxRipd0PTe1wyWlVAv2W4BJNnkBsRJwsPYYQnepOrFs

 

          https://www.matichonweekly.com/column/article_377163

 

          https://www.washingtonpost.com/health/2022/11/12/artificial-intelligence-grief/

 

          https://interestingengineering.com/innovation/ai-service-lets-you-converse-with-dead