posttoday

หุ่นยนต์รูปร่างเหยี่ยว ทางแก้ของปัญหาบินชนนก

08 พฤศจิกายน 2565

บินชนนก หนึ่งในปัญหาสำคัญในแวดวงการบิน ถือเป็นอุบัติเหตุอันเรียบง่ายแต่ไม่เคยแก้ตก ในอดีตเคยเกิดเหตุสลดจากสาเหตุนี้มามากมายและยังคงต้องเฝ้าระวังกันในอนาคต แต่ล่าสุดมีการเสนอทางแก้ปัญหาโดยการใช้หุ่นยนต์เหยี่ยวเพื่อขับไล่นกจากพื้นที่

หนึ่งในปัญหาสร้างความปวดหัวแก่นักบินมานักต่อนักคือ นก การมีนกบินผ่านขวางขณะกำลังพุ่งไปด้านหน้า หรือร้ายกว่าในกรณีนกเกิดหลุดเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบินซึ่งกำลังลอยอยู่บนฟ้าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เป็นเหตุให้มีการคิดค้นวิธีแก้ไขมาหลากหลายเพื่อขจัดปัญหานี้อย่างยั่งยืน

 

          ล่าสุดมีการคิดค้นหุ่นยนต์เหยี่ยวเพื่อไล่นกโดยเฉพาะแล้วก็จริง แต่มาดูกันว่านกสร้างปัญหาให้เครื่องบินแค่ไหน?

หุ่นยนต์รูปร่างเหยี่ยว ทางแก้ของปัญหาบินชนนก

Bird strike เรื่องสุดเลวร้ายของผู้ทำการบิน

 

          Bird strike หรือ บินชนนก ถือเป็นอุบัติเหตุที่พบได้ทั่วไปเมื่อทำการบิน อาจฟังดูน่าตลกชวนเกิดข้องกังขาสำหรับบางท่านว่า เหตุใดเครื่องบินซึ่งเราใช้งานบางครั้งมีขนาดใหญ่กว่านกทั่วไปจนเทียบกันไม่ได้ แต่นกตัวเดียวกลับทำให้เกิดความเสียหายที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของคนขับและผู้โดยสาร

 

          สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากเมื่อเกิดการบินเราจำเป็นต้องเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เมื่อเกิดการกระทบเข้ากับวัตถุจะสร้างพลังงานจลน์ตามหลัก E = 1/2mv2 โดยมีปัจจัยหลักของแรงกระแทกจากมวลและความเร็ว นั่นทำให้เมื่อเกิดการบินชนนกเข้า แม้บางครั้งอาจไม่ได้เป็นนกตัวใหญ่แต่ความเร็วที่สูงจะสร้างแรงปะทะและความเสียหายร้ายแรง ประกอบกับพื้นฐานการบินบนอากาศ เมื่อสูญเสียแรงขับเคลื่อนย่อมหมายถึงการร่วงหล่นที่ทำให้คนขับและผู้โดยสารเสียชีวิตได้โดยง่าย

หุ่นยนต์รูปร่างเหยี่ยว ทางแก้ของปัญหาบินชนนก

สถิติการเกิดอุบัติเหคุจากการบินชนนกเริ่มได้รับการรวบรวมมาตั้งแต่ปี 1912 ถือเป็นอันตรายอันดับหนึ่งซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่แวดวงการบิน ในวงการบินพลเรือนไทยประเมินว่ามีค่าเสียหายเกิดจากอุบัติเหตุประเภทนี้เกิดขึ้นกว่าปีละ 4 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับทางสหรัฐฯที่คาดว่ามีความเสียหายจากนกเกิดขึ้นปีละถึง 4.92 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

 

          ความเสียหายร้ายแรงที่สุดจากการชนนกคือ เครื่องบิน L-188 ของ Eastern Air Lines ในสหรัฐฯปี 1960 จากเครื่องที่บินขึ้นไปชนนกระหว่างทำการบิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 66 จาก 72 คน และทำให้ องค์การบริหารการบินแห่งชาติ(FAA) ต้องออกข้อกำหนดด้านความปลอดภัยเข้มงวดยิ่งขึ้น

 

          ในประเทศไทยเองอุบัติเหตุที่เกิดจากเครื่องบินชนนกครั้งโด่งดังคือ เครื่องบิน F-5 ของกองทัพอากาศตกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2021 เครื่องทำการชนวัตถุบินกลางอากาศขณะบินอยู่ในระดับความสูง 500 ฟุต ระดับความเร็ว 400 น็อต(554 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ส่งผลให้เครื่องเสียหายกลางอากาศจนนักบินต้องดีดตัวออกจากเครื่อง

 

          จากตัวอย่างข้างต้นคงทำให้ทุกท่านเห็นภาพและเข้าใจได้ไม่ยากว่าการบินชนนกอันตรายเพียงไร

หุ่นยนต์รูปร่างเหยี่ยว ทางแก้ของปัญหาบินชนนก

 

          RobotFalcon แนวทางใหม่ในการรับมือนกในสนามบิน

 

          ผลงานนี้เป็นการออกแบบของ University of Groningen, University of Tuscia, Roflight, Lemselobrink และ กองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์ กับหุ่นยนต์เหยี่ยวซึ่งสามารถควบคุมได้จากระยะไกลในลักษณะโดรน ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อขับไล่นกขนาดเล็กซึ่งอาจมาขัดขวางเส้นทางการบิน

 

          ก่อนหน้านี้ความพยายามในการไล่นกออกจากพื้นที่สนามบินคือเรื่องที่เกิดขึ้นตลอด มีความพยายามในการใช้โดรนเพื่อขับไล่นกออกจากพื้นที่แต่กลับไม่ได้ผลลัพธ์เท่าที่ควร จึงเริ่มมีแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากความกลัวของนก โดยการเลือกพัฒนาโดรนรุ่นใหม่ให้เป็นหุ่นยนต์ที่มีต้นแบบจาก เหยี่ยวเพเรกริน สัตว์นักล่าซึ่งนกในพื้นที่ต่างพยายามหลีกเลี่ยง

 

          ตัวหุ่นสร้างขึ้นจากวัสดุ พลาสติกเสริมใยแก้ว และ โพลีโพรพิลีน ก่อนนำมาทาสีให้ดูใกล้เคียงกับเหยี่ยวจริง ส่วนกำลังขับเคลื่อนมีการติดตั้งใบพัดบริเวณปีกทั้งสองข้าง อาศัยเครื่องยนต์เพื่อให้หุ่นยนต์เหยี่ยวตัวนี้สามารถบินได้ อีกทั้งพวกเขายังจำลองการเคลื่อนไหวของเหยี่ยวเพื่อให้หุ่นยนต์มีความสมจริงเท่าที่ทำได้

 

          หลังพัฒนาเสร็จสิ้นจนมีการนำไปลองใช้จริงพบว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการขับไล่ฝูงนกที่มารวมตัวกันในพื้นที่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที โดยค่าเฉลี่ยในการขับไล่นกจากสนามบินจะอยู่ราว 70 วินาที/ครั้ง เป็นผลการทดลองที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 3 เดือน ช่วยให้การเคลียร์พื้นที่รันเวย์เพื่อนำเครื่องขึ้นรวดเร็วขึ้นมาก

 

          อีกทั้งตลอดชั่วระยะเวลาที่ทำการทดสอบไม่พบว่านกในพื้นที่แสดงความคุ้นชิน หรือไม่ได้รับผลกระทบจากหุ่นยนต์เหยี่ยวเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะถูกนำออกไปขึ้นบินกี่ครั้งนกทั่วไปก็ยังหวาดกลัวอยู่ ไม่ว่าเหยี่ยวปลอมตัวนี้จะถูกใช้งานบ่อยแค่ไหน

 

          นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่อาจช่วยป้องกันความเสียหายให้แก่เครื่องบินอีกมาในอนาคต

 

 

 

          แน่นอนว่าระยะเวลาการใช้งานหุ่นยนต์เหยี่ยวนี้อาจสั้นจนเราไม่มั่นใจผลในระยะยาว แต่ก็ถือเป็นอีกตัวเลือกในการป้องกันอุบัติเหตุ แม้ตัวหุ่นยนต์จะถูกใช้งานเพียงในพื้นที่รอบสนามบินเพื่อเคลียร์รันเวย์เป็นหลัก แต่ก็เคยมีตัวอย่างอุบัติเหตุชนนกเกิดขึ้นในช่วงเวลาเทคออฟจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย การหาทางรับมือป้องกันปัญหานี้ล่วงหน้าจึงเป็นตัวเลือกที่ไม่เลว

 

          แต่สำหรับประเทศไทยหากคิดนำมาใช้งานเราอาจต้องเปลี่ยนพันธุ์นกที่นำมาทำเป็นหุ่นยนต์กันเสียหน่อย

 

 

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.blockdit.com/posts/5d57a171f68bf70cb483e649

 

          https://thaiarmedforce.com/2021/12/05/bird-strike-and-why-it-so-fatal/

 

          https://www.bangkokbiznews.com/politics/975459

 

          https://interestingengineering.com/innovation/robotfalcon-chasing-birds-airports

 

          https://techxplore.com/news/2022-10-robotfalcon-effective-flocks-birds-airports.html