posttoday

ธนาคารโลกชี้ “เทรนด์การเงินเพื่อความยั่งยืน” มาแน่

30 มีนาคม 2566

ธนาคารโลกระบุ ถ้าเราสามารถลดผลกระทบด้านด้านสิ่งแวดล้อมได้ก็จะประหยัดงบประมาณในการผลิตลงได้ และสถาบันการเงินก็พร้อมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ

ธนาคารโลกชี้ “เทรนด์การเงินเพื่อความยั่งยืน” มาแน่

 

คุณรัชฎา อนันตวราศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสภาคสถาบันการเงิน ธนาคารโลก กล่าวในหัวข้อ Go Green : Global Overview ที่เวทีสัมมนา Go Green 2023 : Business Goal to the Next Era โดยกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2566 ว่าด้วยใช้หลักการทางการเงินเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาความยั่งยืน ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ว่าถ้าเราสามารถลดผลกระทบด้านด้านสิ่งแวดล้อมได้ก็จะประหยัดงบประมาณในการผลิตลงได้อย่างแน่นอน และสถาบันการเงินก็พร้อมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจมีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะประเทศไทยและความตกลงปารีส ที่ได้ลงนามร่วมกับ 197 ประเทศ ใช้ BCG model เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย SDG ของสหประชาชาติ

 

“ตอนนี้เราสามารถบรรลุได้หัวข้อเดียวคือ No Poverty ซึ่งยังมีอีกหลายหัวข้อที่เรายังทำไม่สำเร็จและต้องทำให้สำเร็จให้ได้”

 

โมเดลเศรษฐกิจ BCG Economic Model  หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

 

และพูดถึง ESG Financial ที่มาจาก: 

 

E (Environment) สิ่งแวดล้อม - ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานฟอสซิล

S (Social) สังคม - คำนึงถึงการใช้แรงงานเด็ก สิทธิของแรงงาน การละเมิดสิทธิมนุษยชน

G (Governance)  ธรรมาภิบาล - ความรับผิดชอบต่อสังคมและจรรยาบรรณ เป็นต้น

 

โดยบอกว่า ภาคการเงินในปัจจุบันสนับสนุนการลงทุนด้าน  ESG ที่กำลังเป็นเทรนด์โลกและเป็นเทรนด์ที่ภาคการเงินควรให้การสนับสนุนมากที่สุด

 

ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถส่งออกไปยังยุโรปได้  เพราะผู้บริโภคยุโรปสนใจกับประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจยุโรปต้องดำเนินการด้านสังคมและความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ไม่ใช่เพียงสินค้าและบริการที่ผลิตในยุโรปเอง แต่ยังรวมไปถึงเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้า ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การแปรรูปในประเทศที่สามรวมทั้งไทยที่ส่งออกไปขายตลาดยุโรป ก็ต้องปรับตัวเพื่อดำเนินการตรมมาตรฐานด้านสังคมและความยั่งยืนมากขึ้นไปด้วยและถ้าเรามีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอเราก็จะมุ่งไปสู่ทิศทางนั้นได้

 

ธนาคารโลกชี้ “เทรนด์การเงินเพื่อความยั่งยืน” มาแน่

 

และระบุว่า ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน ในอนาคตเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะมีการนำความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมมาประเมินด้วย

 

ความท้าทายต่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน:

  • ความรู้ด้านเทคนิค - ข้อมูลเชิงระบบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) โคงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริม BCG Economic Model
  • จุดเชื่อม - National Sustainable Finance Taxonomy ที่สอดคล้องกับ ASEAN Taxonomy 
  • การเงิน - งบประมาณภาครัฐ การประเมินความเสี่ยงด้านสิรงแวดล้อมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME และผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน


 

ภาควิทยาศาสตร์กับภาคการเงิน ต้องเจอกันตรงจุดที่เข้าใจร่วมกันก็จะทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้ามาได้

 

“เราต้องมีจุดเชื่อม จุดเชื่อมคือส่วนสำคัญ เพราะมันคือเกณฑ์มาตรฐาน ระหว่างวิทยาศาสตร์กับการเงินต้องเห็นตรงกัน ธนาคารต้องคำนึงการให้สินเชื่อภาคธุรกิจไปดำเนินธุรกิจต่อ ซึ่งก็คือ หากภาคธุรกิจไหนมีโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐาน ธนาคารก็สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ เป็นการสนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่ธุรกิจนั้นๆ”

 

เรื่องของภาษี ต่างประเทศเขาก็มีภาษีในอุตสาหกรรมการผลิตด้วย เช่น EU Taxonomy ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมการผลิตทุกภาคส่วนว่า จะต้องจ่ายหากคุณสร้างมลพิษให้แก่โลก และที่สำคัญประเทศไทยเราก็มีแล้ว Thailand Taxonomy แต่จะยังเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนเยอะที่สุด คือ ภาคการขนส่งและภาคพลังงาน

 

ส่วนการเงินเพื่อความยั่งยืน และตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนตอนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น มีโอกาสสูงในการเติบโต ถ้ามีตลาด ก็จะดึงเงินลงทุนเข้ามาได้

 

เทรนด์ที่กำลังมาในตลาดการเงินก็คือ Green Bond คือ พันธบัตรสีเขียว หรือ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนหรือชำระคืนหนี้สินเดิม (Re-financing) ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอีกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมคือ Blue Bond หรือพันธบัตรสีน้ำเงิน คือการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ หรือ พวกสภาพแวดล้อมทางทะเล 

 

ในเรื่องของ หลักทรัพย์เพื่อความยั่งยืน ความท้าทายของประเทศไทยคือ เรื่องของข้อมูลที่ยังขาดแคลนข้อมูลอยู่ และเรื่องของผลตอบแทน