กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (IRA) สำคัญต่อธุรกิจสีเขียวอย่างไร
กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ หรือ IRA ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกากำลังจะออกดอกออกผล และจะเริ่มส่งอิทธิพลอย่างมากต่อแนวโน้มธุรกิจสิ่งแวดล้อมในปีนี้ แต่จะเป็นไปในทิศทางไหนอย่างไร ไปหาคำตอบกัน
กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ หรือ IRA (Inflation Reduction Act) ของสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญต่อแนวโน้มธุรกิจสีเขียวในปี 2566 อย่างไร จากคำประกาศประจำปีของ GreenBiz ในหัวข้อ "State of Green Business 2023"
กฎหมาย Inflation Reduction Act เป็นกฎหมายที่ใช้งบประมาณจำนวน 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายในการใช้นโยบายภาษีหลากหลายรูปแบบเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน
เมื่อมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก การคำนวนภาษีในบางรายการของนิติบุคคลก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายของกฎหมายไม่ได้เป็นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะยาวด้วย
หนึ่งในประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือการที่สหรัฐฯ ตระหนักดีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และนับจากการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ประธานาธิบดีไบเดนก็กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสทันทีเมื่อได้รับตำแหน่งในต้นปี 2564
ดังนั้น ด้วยเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว กฎหมายฉบับนี้จึงใช้นโยบายการคลัง ทั้งในด้านการใช้มาตรการเงินอุดหนุน (Subsidies) และการใช้มาตรการทางจูงใจทางภาษีผ่านมาตรการเครดิตภาษีหลากหลายรูปแบบ (Tax Credits) โดยอาจสรุปได้ ดังนี้
สิทธิประโยชน์สำหรับครัวเรือน
เมื่อมีการใช้จ่ายตามรายการที่รัฐกำหนด ครัวเรือนอาจได้เครดิตคืนราว 28,500 ดอลลาร์สหรัฐ เช่น ซื้อรถไฟฟ้าจะได้เครดิตเงินคืน $7,500 (หรือหากเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามือสองก็ยังได้คืน $4000) หรือหากมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 30 ของราคาแผงโซลาร์เซลล์
นอกจากนี้ หากมีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน จะได้รับเครดิตเงินคืน $14,000 โดยหากมีการปรับปรุงที่พักอาศัยทั้งหลังก็สามารถได้รับเงินคืนกว่าร้อยละ 50 ของเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ซึ่งหากเป็นครอบครัวที่มีรายได้ต่ำอาจได้รับเงินคืนกว่าร้อยละ 80
สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรม
เดิมที มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบมาตรการบังคับและควบคุม (command and control) ประกอบกับการใช้กลไกการลงโทษในรูปแบบต่าง ๆ ครั้งนี้ สหรัฐฯ จึงเปลี่ยนรูปแบบผ่านมาตรการจูงใจทางภาษีแทน โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเน้นใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่สะอาด หรือ “Clean Energy Technologies” แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในแบบเดิม
อย่างไรก็ดี การจะได้สิทธิประโยชน์ ผู้ผลิตก็ยังคงต้องผลิตตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น การจะสามารถเข้าร่วมโปรแกรม EV Tax Credit (เครดิตภาษีจากรถไฟฟ้า) ได้ รถคันดังกล่าวต้องใช้การประกอบจากอุปกรณ์และแร่ธาตุ (เช่น ผงลิเทียม และโคบอลต์) ตามแหล่งที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม หลัง IRA ผ่านสภาตราเป็นกฎหมายเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน (2022) ก็ไม่ใช่ทุกคนจะมั่นใจว่า แท้แล้วใครจะได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่ภาคธุรกิจกำลังหาทางหาไอเดีย ภาคส่วนสิ่งแวดล้อมหลายแห่งกำลังใช้ประโยชน์จากเงินกู้และการลดหย่อนภาษีที่กฎหมายกำหนด และใช้เงินเพื่อตรวจสอบเทคโนโลยีทั้งของใหม่และของเก่าที่มีอยู่ทั้งหมด ดังตัวอย่างต่อไปนี้:
การดักจับคาร์บอน
หรือ Carbon Capture ซึ่งมีอยู่ทุกแห่งหนในทุกวันนี้ จาก 0 เป็น 100 ในปีที่ผ่านมา และแม้ว่า “เทคโนโลยีคาร์บอนจะดักจับเงินทุนได้หลายพันล้าน” แต่เทคโนโลยีคาร์บอนและการดักจับก็มีมาประมาณ 50 ปีแล้ว กระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมและนำกลับมาใช้ใหม่หรือจัดเก็บไว้ แทนที่จะปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศก็ยัง “ถือว่าแพงเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพมานานแล้วที่จะเรียกได้ว่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาสภาพอากาศที่ได้ผลจริงๆ” และตอนนี้กลับกลายเป็นภาคเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง
ว่าแต่เพราะอะไร? ว่ากันว่าเบื้องต้นต้องขอบคุณกฎหมาย IRA ที่ "จะกระตุ้นให้นักลงทุนเพิ่มการใช้จ่ายในการดักจับคาร์บอนและจะกระตุ้นการระดมทุนในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย"
นอกเหนือจากการจัดหาเงินทุนให้กับภาคสีเขียวแล้ว IRA ยังแก้ไขเครดิตภาษี 45Q ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่เดิมอุดหนุนบริษัทด้านเทคโนโลยีคาร์บอน 50 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนที่ดักจับและจัดเก็บได้ ซึ่งแรงจูงใจนี้นับว่าต่ำเกินไปที่จะสร้างให้เกิดกระแสรายได้ที่ยั่งยืน
“ผลจากกฎหมาย IRA ในปี 2022 ได้ช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้สูงถึง 180 ดอลลาร์ต่อตัน ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดเกณฑ์การตัดสินสิทธิ์ของโครงการลง และปลดล็อกตลาดที่ทำกำไรกับบริษัทต่างๆ มากขึ้น” และที่น่าสนใจก็คือ บริษัทน้ำมันและก๊าซ เช่น Occidental Petroleum และ Talon Energy กลายเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในพื้นที่นี้ ด้าน ExxonMobil ได้ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์กับบริษัทพลังงานของรัฐของอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนาศูนย์กลางการกักเก็บคาร์บอนในประเทศ ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายแห่งชาติคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิในปี 2060
ในขณะเดียวกัน การดักจับคาร์บอน “ยังคงเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่เชื่อมการเปลี่ยนผ่านระหว่างเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน” ได้อีก
ระบบพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal)
เนื่องจาก IRA รวมเครดิตภาษีให้กับพลังงานปลอดคาร์บอนทุกรูปแบบ พลังงานความร้อนใต้พิภพจึงถูกนำมาแต่งตัวใหม่ เพราะหากพูดถึงโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพก็ต้องนับถอยหลังไปเป็นร้อยปีนับตั้งแต่ปี 1904 ซึ่งซาราห์ โกลเดน รองประธานฝ่ายพลังงานของ GreenBiz กล่าวว่า คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.4% ของอุตสาหกรรมพลังงาน แต่จากข้อมูลของโกลเดพบว่า เรื่องนี้กำลังจะเปลี่ยนไปเนื่องจากกลุ่มธุรกิจและรัฐบาลกำลังผลักดันและพยายามใช้ไฟฟ้าที่ปราศจากคาร์บอนให้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้การเข้าถึงพลังงานความร้อนใต้พิภพมีราคาถูกลงและง่ายขึ้น
“คนหัวรั้นกล่าวว่า การจัดการกับอุปสรรคทางเทคโนโลยีสามารถกระตุ้นพลังงานความร้อนใต้พิภพให้เพิ่มขึ้นเป็น 20 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั่วโลก” โกลเดนเขียนในรายงาน “State of Green Business 2023" โดยบรรดาสตาร์ทอัพจำนวนมากมองว่า นี่เป็นทางเลือกคาร์บอนที่มีศักยภาพ เช่นเดียวกับกระทรวงพลังงานสหรัฐ (DOE)
ในเดือนกันยายน 2565 DOE ได้ประกาศเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ หรือ Enhanced Geothermal Systems (EGS) ให้เป็นทางเลือกพลังงานทดแทนที่ถูกใช้แพร่หลายในสหรัฐอเมริกา โดยลดต้นทุนลง 90% เป็น 45 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี พ.ศ. 2578 แผนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Energy Earthshots Initiative ของ DOE ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายอุปสรรคทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
โครงการริเริ่ม Earthshots ก่อนหน้านี้ยังรวมไปถึงการใช้พลังงานไฮโดรเจน การแก้ปัญหาคาร์บอนเชิงลบ (carbon negative solutions) และการจัดเก็บพลังงานในระยะยาว (long-term energy storage) ด้วย
ส่วนข้อเสียในการใช้พลังงานความร้อนจากใต้ดินก็คือ หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจะก็อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมพลังงาน อย่างไรก็ตาม โกลเดนเชื่อว่า อุตสาหกรรมพลังงานพร้อมที่จะเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ความร้อนใต้พิภพเพิ่มขึ้น
กล่าวโดยสรุป IRA นอกจากจะเป็นกฎหมายที่ใช้งบประมาณจำนวน 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ แล้ว สาระสำคัญต่อโลกข้อหนึ่งก็คือ การแสดงเจตนาหรือท่าทีในการลดพลังงานครั้งสำคัญของสหรัฐฯ นับตั้งแต่มีการตรากฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สนับสนุนการลงทุน และส่งเสริมพลังงานสะอาด ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา (American Reinvestment and Recovery Act 2009) และที่สำคัญยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนการลงทุนด้วยเทคโนโลยีสะอาดให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาจากจีนอย่างมีนัยสำคัญ
อ้างอิง:
www.wolterskluwer.com
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1021039