posttoday

Green Cosmetics: สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ทำร้ายโลก

17 กุมภาพันธ์ 2566

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 488 พันล้านดอลลาร์ และมีส่วนช่วยสร้าง GDP และมิติทางเศรษฐกิจมากมาย แม้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การผลิตและการบริโภคก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากมายเช่นกัน

Green Cosmetics: สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ทำร้ายโลก

สถานการณ์ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล

ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลทั่วโลกถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในตลาดผู้บริโภค เนื่องจากเราทุกคนต่างใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลที่หลากหลายในชีวิตประจำวันเพื่อสุขอนามัยที่ดี ไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ครีมบำรุงผิว รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เมคอัพที่ใช้ตกแต่งใบหน้า ในปี 2561 อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 488 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณหนึ่งหมื่นแปดพันล้านบาท) และมีส่วนช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมิติทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและภาพรวมของธุรกิจทั่วโลก แต่การผลิตและการบริโภคในจำนวนมากย่อมมาพร้อมกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากตาม 

กระบวนการผลิตที่ไม่ยั่งยืนล้วนก่อให้เกิดภัยคุกคามและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำและอากาศ การจัดหาวัตถุดิบและการค้าที่ไม่เป็นธรรม การทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์ ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์มากที่สุด มีบรรจุภัณฑ์จำนวนไม่น้อยกว่า 120 พันล้านชิ้นต่อปีที่มาจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลก ร้อยละ 95 ของบรรจุภัณฑ์เพื่อความงามถูกโยนทิ้งหลังจากใช้เพียงครั้งเดียว และมีพลาสติกเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล การศึกษาวิจัยอื่น ๆ ยังพบว่าแหล่งกำเนิดมลพิษของสารเคมีและสารตกค้างรวมถึงไมโครพลาสติกจากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลถูกพบในน้ำเสียและโรงบำบัดน้ำเสียและถูกปล่อยเข้าสู่สิ่งแวดล้อมทางน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ได้

Green Cosmetics: สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ทำร้ายโลก

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ประกอบกับเทรนด์การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและออแกนิคทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผู้บริโภคมีแรงจูงใจในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการศึกษาในประเทศไทย ความต้องการเครื่องสำอางออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินั้นเพิ่มสูงขึ้นตามความสนใจด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพในการใช้งานเท่านั้น แต่ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญในการพิจารณาสินค้าว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ในขณะเดียวกัน นโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลทางบวกต่อความตั้งใจในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ (อ้างอิงจากผลวิจัยปริญญาระดับดุษฎีบัณฑิตของ Suphasomboon, 2022) แนวคิดทางด้านความยั่งยืนจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในภาคธุรกิจ 

Green Cosmetics: สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ทำร้ายโลก

ปัญหาของการฟอกเขียว (Greenwashing)

การใช้คำว่า “ออร์แกนิก” และ “ธรรมชาติ” ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ใดอย่างชัดเจน และไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานภาครัฐ นี่จึงเป็นช่องว่างของโอกาสในการแอบอ้างหรือสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหรือออร์แกนิกเพื่อโน้มน้าวจิตใจทำให้ผู้บริโภคเชื่อ จึงส่งผลให้เกิดการฟอกเขียว (greenwashing) อย่างแพร่หลายในสังคมทุกวันนี้ การฟอกเขียวและความตระหนักเกี่ยวกับการกล่าวอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเท็จกำลังเติบโตขึ้นทั่วโลก จากผลสำรวจของการกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากเว็บไซต์ 500 แห่งทั่วโลกพบว่าประมาณ 40% เข้าข่ายการฟอกเขียว บางประเทศพยายามที่จะลดผลกระทบของขบวนการฟอกเขียวผ่านกฎระเบียบ อย่างเช่น Federal Trade Commission Green Guides (สหรัฐอเมริกา), Unfair Commercial Practices Directive (ยุโรป) และ Guidance on Green Claim (สหราชอาณาจักร) อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่กฎระเบียบดังกล่าวมักมุ่งเน้นไปที่แนวปฏิบัติทางการค้าในการช่วยให้ธุรกิจปฏิบัติตามเมื่อมีการเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาของการฟอกเขียวยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องเพราะการฟอกเขียวไม่ได้มีคำจำกัดความในระดับสากลหรือมาตรฐานและตัวบ่งชี้ใดที่จะช่วยตรวจจับได้

 

Green Cosmetics: สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ทำร้ายโลก

มาตรฐานในการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าบทบาทของมาตรฐานฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ออแกนิกที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายระดับโลก อย่างเช่น USDA, COSMOS, Soil Association, และ ECOCERT มีความสำคัญในการทำให้ผู้บริโภคได้รับความไว้วางใจหรือความมั่นใจในการเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกด้านของความยั่งยืน แง่มุมของความยั่งยืนจากมุมมองของการผลิตซับซ้อนกว่านั้นมาก เนื่องจากแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานมีผลกระทบต่อความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ การคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์จะช่วยส่งเสริมการผลิตที่มีความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานได้ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรมและรักษาสมดุลทางธรรมชาติ กระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมสูตรและส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมี ความสามารถในการรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ของบรรจุภัณฑ์ การขนส่งและการจายสินค้าและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การบริโภคและการทิ้งผลิตภัณฑ์หลังการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ

เมื่อปี 2565 ประเทศไทยเองได้พัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน Circular Mark เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการแข่งขันในตลาด โดยมี 5 อุตสาหกรรมบุกเบิกในกลุ่มของการเกษตร-อาหาร วัสดุก่อสร้าง พลาสติก บรรจุภัณฑ์ และแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์ ที่ได้รับการรับรองฉลากนี้ อย่างไรก็ตาม ระบบฉลากสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่สามารถครอบคลุมไปถึงประเด็นผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคโดยตรงได้ การศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ขั้นตอนของการบริโภคส่งผลกระทบด้านความยั่งยืนอย่างมาก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ในกลุ่มการชำระล้าง เช่น สบู่และแชมพู ที่ต้องใช้น้ำมากขึ้น มากกว่าครึ่งหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกและการปล่อยน้ำเกิดขึ้นที่ระดับการบริโภค ดังนั้นการกระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนมาใช้น้ำน้อยลงระหว่างการสระและอาบน้ำด้วยผลิตภัณฑ์นวัตกรรม อย่างเช่น แชมพูแห้ง (dry shampoo) เพื่อประหยัดเวลาและน้ำในการล้าง ถือเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยส่งเสริมให้มีการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกัน

 

Green Cosmetics: สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ทำร้ายโลก

ช่องว่างทางนโยบายด้านความยั่งยืน

ในขณะที่รัฐบาลบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน บราซิล และแอฟริกาใต้ ได้กำหนดให้มีการรายงานความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) เป็นข้อบังคับแล้ว ในส่วนของประเทศไทยยังต้องการการดำเนินการอีกมาก เพราะยังไม่ได้มีส่วนในการสนับสนุนแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองสัตว์ การรายงานด้านความยั่งยืน บทบัญญัติทางกฎหมายด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) รวมไปถึงการควบคุมการใช้คำศัพท์เช่นคำว่าธรรมชาติและออร์แกนิกในการกล่าวอ้างหรือบนฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเทศไทยจึงมีช่องว่างทางนโยบายที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขและสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมีการประเมินในเชิงปริมาณด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้มีความยั่งยืนมากขึ้น

 

ดร. ธวัลหทัย สุภาสมบูรณ์ และ ดร. สุจิตรา วาสนาดำรงดี

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย