posttoday

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาที่อาจสายเกินแก้?

30 ธันวาคม 2565

ถึงแม้จะมีการควบคุมอุณหภูมิของโลกตามข้อตกลงปารีส มิให้เกิน 1.5-2 องศาเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้นอย่างที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในบันทึกประวัติศาสตร์”

The Earth is at a point of no return for global climate change: The point of no return on climate action

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาที่อาจสายเกินแก้?

1. สถานการณ์ปัจจุบัน: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ภาวะโลกรวนและสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme weather events)

- ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายมิติโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง “การเปลี่ยนแปลงที่สามารถพิสูจน์ได้ทางสถิติของสภาพภูมิอากาศจากภาวะปกติหรือเกินไปจากความแปรผันตามธรรมชาติ และการเปลี่ยนไปนั้นมีความต่อเนื่องยาวนานเกินทศวรรษ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติหรือการเปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมของมนุษย์

- มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้นจริง โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) รายงานการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างต่อเนื่องทั้งในชั้นบรรยากาศ พื้นผิวโลกและผิวน้ำในมหาสมุทรทุกภูมิภาคทั่วโลก สำหรับรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC พบว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2001 – 2020 อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส หรือ0.99 [0.84 to 1.10] °C เทียบกับยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม

- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของบรรยากาศและพื้นผิวโลกทั้งอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นดินและมหาสมุทร เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีนัยสำคัญต่อระบบภูมิอากาศของโลก ส่งผลต่อความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ (Climate variability) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ย ลม  พายุ ภัยแล้ง คลื่นความร้อน หรือการเกิดมหาอุทกภัย และเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events) ในรูปแบบต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วโลก 

สำหรับประเทศไทย รายงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรของประเทศเยอรมัน (German Watch) ได้ประเมินและจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงระยะยาวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Long-term climate risk index: CRI) พบว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2000 - 2019 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 10 อันดับแรกของโลก (ลำดับที่ 9) 

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาที่อาจสายเกินแก้?

ตัวอย่างสถานการณ์สภาวะอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ณ เมือง Dagupan City ของประเทศฟิลิปปินส์ ในปี ค.ศ. 2021 (อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 51 องศาเซลเซียส) การเกิดคลื่นความร้อนในทวีปยุโรป กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 10 อันดับแรกของโลก

-  เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 1998 ถึง 2007 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,908 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ (Climate related disaster) สร้างความเสียหายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภัยพิบัติประเภทอื่น คิดเป็นมูลค่า 2,245 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 77 ของมูลค่าเสียหายทั้งหมด  (Centre for Research on the Epidemiology of Disasters, 2020) และภัยพิบัติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นได้แก่ อุทกภัยและพายุ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2011 ถูกจัดอันดับอยู่ใน 5 อันดับแรกและมีมูลค่าความเสียหายรวมสูงถึง 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. เป้าหมายระดับสากลตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)

ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจากการประชุม Conference of the Parties (COP)* ครั้งที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่มุ่งเน้นให้ประเทศภาคีเกิดการเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสหรืออย่างน้อยพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (1.5°C warming limit) เทียบกับยุคก่อนการปฎิวัติอุตสาหกรรม 

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาที่อาจสายเกินแก้?

3. วิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสายเกินแก้? The Earth will reach the point of no return, and it will be too late for climate actions

3.1 สืบเนื่องจาก ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ระบุให้ประเทศภาคีทั่วโลกควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมิให้เกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนการปฎิวัติอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC ยังรายงานว่าถึงแม้จะมีการควบคุมอุณหภูมิของโลกมิให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้นอย่างที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในบันทึกประวัติศาสตร์” (There will be an increasing occurrence of some extreme events unprecedented in the observational record with additional global warming, even at 1.5°C of global warming. Projected percentage changes in frequency are larger for rarer events (high confidence)

3.2 และภายใต้ทุกสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่สัมพันธ์กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ ดังนี้ ในกรณีที่ดีที่สุดหรือภายใต้นโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ (Best-case scenario: SSP1-1.9) อุณหภูมิโลกจะแนวโน้มสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่ ในกรณีที่แย่ที่สุดที่ไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ (very high GHG emissions scenario: SSP5-8.5)อุณหภูมิโลกจะสูงถึง 3.3 – 5.7 องศาเซลเซียส

4. สรุปประเด็นทิ้งท้าย

- สังคมอาจมองวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ยากที่จะแก้ไข เคยชินต่อปัญหาที่เกิดขึ้นหรือเชื่อว่าแก้ไขด้วยระดับบุคคลไม่ได้ ขาดความเชื่อมโยงระหว่างปัญหากับสาเหตุเชิงบุคคลที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

- สำหรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/ภัยพิบัติ ความคิดของคนไทยบางกลุ่มยังมีความเชื่อเรื่องของโชคชะตา (Fatalism) หรือเชื่อในโชคชะตาว่ามนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาได้ (อ้างอิงจากผลวิจัยปริญญาระดับดุษฎีบัณฑิตของ Kittipongvises, 2013)

- การสื่อสารและรับรู้ความเสี่ยงเรื่องวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกมองว่าเป็นประเด็นไกลตัว มิใช่ความรับผิดชอบของระดับบุคคล (sense of powerlessness) หรือเป็นความรับผิดชอบของประเทศกำลังพัฒนา(risk externalization) และปัญหาดังกล่าวอาจยังไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่บรรทัดฐานทางสังคม (social norm) เมื่อเทียบกับประเด็นอื่นๆในสังคม

- ขาดการถ่ายทอดข้อมูลแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนของเป้าหมายที่รัฐบาลร่วมแสดงเจตจำนงหรือความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ

- สรุป: จากข้อ 3.2 คงเป็นไปได้ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะควบคุมอุณหภูมิของโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสหากไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจังภายใต้นโยบายสังคมคาร์บอนต่ำตั้งแต่วันนี้ ตอนนี้

 

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาที่อาจสายเกินแก้?

 

ผศ.ดร.สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการหลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความยั่งยืน (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย