อนาคตแห่งวงการแพทย์? เมื่อ ChatGPT จะถูกใช้ในการวินิจฉัยผู้ป่วย
เราทราบดีว่าทุกวันนี้ ChatGPT มีขีดความสามารถขนาดไหน ทุกสายงานทยอยตกอยู่ในความเสี่ยงและผลกระทบจากการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ แต่ล่าสุดเอไอกำลังจะก้าวสู่ความท้าทายใหม่ เมื่อมีแนวคิดใช้ ChatGPT ให้คำปรึกษาทางการแพทย์
การมาถึงของ ChatGPT ถือว่ามีความสำคัญจนอาจพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างยกให้นี่เป็นจุดเปลี่ยนและหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี จากขีดความสามารถหลากหลายรอบด้านจนเกือบครอบจักรวาล ฟังดูเป็นเรื่องดีแต่ก็สร้างความกังวลไม่แพ้กัน
ส่วนที่นำไปสู่การตั้งคำถามมากที่สุดคือการที่ เอไอ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ อาจเข้ามาทดแทนแรงงานในระบบ เมื่อประเมินจากเทคโนโลยีอาจทำให้ตำแหน่งงานหายไปเป็นจำนวนมหาศาล นำไปสู่การตกงานขนานใหญ่และปัญหาสังคมอีกมากในอนาคต
แต่คงไม่มีใครคาคิดเช่นกันว่า ปัจจุบันจะมีแนวคิดนำเอไอมาใช้ในการประเมินและวินิจฉัยโรคให้แก่ผู้ป่วย
การใช้งาน Chatbot ในวงการแพทย์
แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากทีมวิจัยของ Yale University กับการนำปัญญาประดิษฐ์อย่าง Chatbot อย่าง ChatGPT มาใช้งานทางการแพทย์ โดยมีจุดหมายในการสร้างศูนย์การแพทย์ที่ใช้เอไอมาช่วยสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่หมอและเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้ป่วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันความก้าวหน้าทางอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ผู้ป่วยบางส่วนค้นหาข้อมูลและตรวจสอบอาการตัวเองล่วงหน้าก่อนมาพบแพทย์ ผนวกกับในช่วงปีที่ผ่านมามีการเข้ารับคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงเริ่มมีความคิดนำเทคโนโลยีนี้มาช่วยสนับสนุนทางการแพทย์
แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด ตั้งแต่การต้องใช้งานช่องทางออนไลน์ไปจนความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ นำไปสู่แนวคิดในการนำเทคโนโลยี Chatbot มาปรับปรุงเข้ากับระบบศูนย์การแพทย์เพื่อตอบสนองให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย สู่ระบบวินิจฉัยโรคอัจฉริยะที่สามารถจตรวจอาการผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ
จากการทดสอบป้อนข้อมูลทางการแพทย์เพื่อให้มีการวินิจฉัยอาการพบว่า โมเดล GPT-3 ที่ใช้งานใน ChatGPT ช่วงเวลานั้น มีขีดความสามารถในการวินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้องอยู่ที่ 88% ใกล้เคียงกับการวินิจฉัยโดยหมอวิชาชีพที่มีความแม่นยำอยู่ที่ราว 96% ในขณะที่คนทั่วไปที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมสามารถทำได้เพียง 54% เท่านั้น
ปัจจุบันแพทย์จำนวนมากต่างใช้งานระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการสร้างตารางนัดหมาย เก็บรวบรวมข้อมูล ไปจนการตรวจสอบอาการต่างๆ หากสามารถนำ Chatbot เข้าสู่ระบบได้ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนกสารตรวจสอบและระบุอาการขั้นต้นให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแบ่งเบาภาระและแก้ปัญหาหมอในระบบขาดแคลน
ข้อดีของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในวงการแพทย์ สู่ระบบวินิจฉัยโรคอัจฉริยะ
อาจมีการตั้งข้อสงสัยกันไม่น้อยเหตุใดจึงมีการนำเทคโนโลยีมาทดแทน และมันสามารถเชื่อถือได้เพียงไรเมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิต ในส่วนความแม่นยำทางการวินิจฉัยอาจต้องยอมรับ เมื่อแพทย์วิชาชีพยังคงมีประสิทธิภาพสูงกว่า กระนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าหากนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้ จะช่วยเพิ่มความสะดวกและขีดความสามารถการรักษาอีกมากเช่นกัน
หลายท่านอาจรู้สึกการทำแบบนี้เป็นเรื่องยุ่งยากแต่แท้จริงเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำกันอยู่แล้ว เมื่อเกิดการเจ็บป่วยหลายครั้งเราตัดสินใจเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การใช้งานเอไอมาส่งเสริมโดยพื้นฐานแล้วจึงแทบไม่มีส่วนแตกต่างจากเดิม แถมเพิ่มความความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลยิ่งขึ้น
อีกทั้งปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการเทรนมามีคุณสมบัติครบถ้วนในฐานะแพทย์ มีการทดสอบให้ ChatGPT ลองทำการทดสอบ UMSILE การสอบสามชุดที่ใช้ในการประเมินการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ในสหรัฐฯ พบว่า ChatGPT สามารถทำคะแนนได้ระหว่าง 52.4 – 75% ในการทดสอบ 3 ครั้ง ขณะที่ระดับคะแนนเฉลี่ยสำหรับผ่านการทดสอบอยู่ที่ 60% เท่านั้น ในทางทฤษฎีจึงถือว่าเอไอมีความรู้พอสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ได้เช่นกัน
ด้วยพื้นฐานที่มาจากระบบ Chatbot ยอดนิยมอย่าง ChatGPT ผู้ใช้งานบางส่วนจะสามารถปรับตัวเข้ากับระบบนี้ได้ดี นอกจากนี้ระบบยังสามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาและวินิจฉัยอาการได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต แตกต่างจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีตารางทำงานแน่นอน จนอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกเมื่อเกิดข้อสงสัยหรือความจำเป็นเร่งด่วน
นี่จึงถือเป็นระบบรับคำปรึกษาออนไลน์ที่ช่วยลบข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ช่วยให้หมอสามารถทุ่มสมาธิรักษาดูแลผู้ป่วยอาการหนักจริงๆ, ลดความแออัดของผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล, แก้ปัญหาหมอขาดแคลนตามพื้นที่ห่างไกลจนเข้าไม่ถึงการรักษา และวางระบบรองรับกรณีเกิดโรคระบาดใหญ่ในอนาคต
ข้อจำกัดของระบบ Chatbot ที่หลายคนยังกังขา
ความกังวลของคนต่อระบบ Chatbot อย่าง ChatGPT ใช่จะไม่มีมูล หลายท่านย่อมรู้สึกว่า การปรึกษาหรือฝากฝังชีวิตตัวเองเอาไว้กับคอมพิวเตอร์ที่เป็นจักรกล ไม่มีทางเชื่อมือได้เทียบเท่าการวินิจฉัยและรักษาด้วยมือคน อาจทำให้เกิดความรู้สึกกังขาและไม่ไว้ใจอยู่ไม่น้อย
ประเด็นต่อมาคือจริงอยู่ปัจจุบันการใช้งาน ChatGPT มีอยู่ทั่วไป หลายท่านอาจใช้งานทั่วไปจนคุ้นเคยแต่ไม่ใช่กับทุกคน อาจมีบางท่านขาดความชำนาญจนแจ้งข้อมูลไม่ละเอียดพอ ส่งผลให้เกิดเป็นการวินิจฉัยพลาดและการรักษาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ขาดความชำนาญทางเทคโนโลยี แม้มีการเทรนเอไอทางการแพทย์ก็อาจไม่ช่วยนัก
อีกหนึ่งข้อกังวลอยู่ตรงเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เมื่อเรารับคำปรึกษาทางการแพทย์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดเผยข้อมูลทางสุขภาพ หากเกิดความสะเพร่าหรือโจมตีทางไซเบอร์ เป็นไปได้สูงที่ข้อมูลส่วนนี้อาจหลุดออกไปสู่ภายนอก สร้างความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับประเทศที่มีความปลอดภัยไซเบอร์ต่ำ
นอกจากนี้จุดอ่อนสำคัญของ Chatbot คือ ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล ต้องยอมรับว่าในอินเทอร์เน็ตมีความเข้าใจผิดและข้อมูลเท็จปะปนเป็นจำนวนมาก เช่น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคบางชนิด ความเข้าใจผิดต่อการใช้ยาบางประเภท หรือข้อมูลปลอมเกี่ยวกับวัคซีน หากเอไอนำข้อมูลผิดพลาดเหล่านี้มาใช้งานก็อาจสร้างผลเสียได้เช่นกัน
อีกทั้งหลายครั้งเอไอไม่สามารถแยกแยะงานวิจัยปลอม งานวิจัยเท็จ หรือแม้แต่งานวิจัยหลอกที่ถูกแต่งขึ้นมาโดยปัญญาประดิษฐ์เหมือนกันซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด หากข้อมูลส่วนนี้เข้าสู่ฐานข้อมูลของระบบหรือถูกนำไปเรียนรู้ อาจนำไปสู่อันตรายต่อผู้ป่วยเป็นวงกว้าง ส่งผลเสียทั้งต่อทางกฎหมาย วงการแพทย์ และชีวิตของคนหมู่มาก
นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ยังคงถูกกังขาในประสิทธิภาพการทำงานจนปัจจุบัน
แน่นอนเราไม่ปฏิเสธว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ได้มาก บางสายอาชีพอาจถูกทดแทนตำแหน่งงานโดยสิ้นเชิงเมื่อเอไอเติบโตขึ้น แต่เราจำเป็นต้องใช้งานอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพราะนี่เป็นเทคโนโลยีใหม่อันทรงพลังที่เราไม่สามารถคาดเดาผลกระทบของมันได้
มิเช่นนั้นแล้วคำกล่าวที่ว่าเอไอจะทำลายมนุษยชาติอาจไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงไปเสียทีเดียว
ที่มา
https://interestingengineering.com/innovation/chatgpt-medical-data
https://interestingengineering.com/innovation/chatgpt-medical-licensing-exam