เปิด2มุม ราชทัณฑ์-ทนายกฤษฎางค์ ปมกล้องวงจรปิดกรณีบุ้ง เนติพรเสียชีวิต
เปิดความเห็น2ฝ่าย กรมราชทัณฑ์ - ทนายกฤษฎางค์ ประเด็นกล้องวงจรปิด รพ.ราชทัณฑ์ คลี่ปม บุ้ง เนติพร ผู้ต้องหาคดีม.112 เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารชี้แจง กรณีทนายความขอรับข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด ในห้วงเวลาการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง เนติพร นักกิจกรรมทางการเมือง ดังนี้
ตามที่นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ หรือทนายด่าง และนางสาววีรดา คงธนกุลโรจน์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ ได้เดินทางไป ขอข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ทำการตรวจรักษา นางสาวเนติพรเสน่ห์สังคมนั้น
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า กรณีดังกล่าวทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้แจ้งให้ ทนายความได้รับทราบว่า ยังไม่สามารถส่งมอบข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ แก่ทนายความของนางสาวเนติพรฯ ตามที่ร้องขอได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาให้เกิด ความถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งปรากฏอยู่ในภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดได้แก่ สิทธิส่วนบุคคลของผู้ต้องขังซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ และสิทธิส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจรักษาในขณะเกิดเหตุ รวมทั้งภาพไม่เหมาะสมของผู้ที่เสียชีวิต ในช่วงเวลาที่กำลังตรวจรักษาอาการเจ็บ ก่อนเกิดเหตุเสียชีวิต
โดยกรณีสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าว ถือเป็นกรณีละเอียดอ่อนซึ่งหากเผยแพร่ไปสู่สาธารณะอาจเป็นฐานข้อมูลและคงอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตหรือโลกโซเชี่ยล (ดิจิทัลฟุตพริ้นท์) โดยไม่ปรากฏหลักประกันว่าแม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็อาจจะไม่สามารถนำออกจากระบบดังกล่าวได้
อีกทั้งยังเป็นการยากที่จะตรวจสอบได้ว่าข้อมูลดังกล่าวยังอยู่ในระบบโซเชี่ยลมีเดียหรือไม่ ดังนั้น จึงถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต ญาติผู้เสียชีวิต และอาจเสียหายแก่ทางราชการในด้านของการควบคุมและตรวจรักษาผู้ต้องขังภายในเรือนจำ
ดังนั้น กรมราชทัณฑ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งการพิจารณาให้ข้อมูลดังกล่าวแก่บิดามารดาของผู้เสียชีวิต และเรียนเชิญนัดหมายให้ไปตรวจสอบและปรึกษาหารือร่วมกันกับทางทัณฑสถานฯ และเพื่อให้การยืนยันว่าทางครอบครัวผู้เสียชีวิตมีความต้องการให้ทางกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่าการเปิดเผยข้อมูลภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดตามที่ ทนายความร้องขอได้หรือไม่อย่างไรนั้น ต้องถือปฏิบัติตามหลักการที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอื่น และของผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ที่กำหนดไว้ตาม ม.15 (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ประกอบกับ ม.7 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ตัดสิทธิของผู้ที่ยื่นขอข้อมูลดังกล่าวที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น และขอให้ติดตามข้อมูล
ทางการแพทย์และผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเพื่อจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน
ด้านทนายกฤษฎางค์ ระบุว่า การไม่ให้กล้อง เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และโง่เขลาที่ไม่เปิดเผยรายงานเรื่องนี้ และเหตุของกรมราชทัณฑ์ฟังไม่ขึ้น เพราะหากกังวลว่ามีเจ้าหน้าที่ก็สามารถใส่ตัวเบลอหรือปิดหน้าได้ และหากเป็นเรื่องความมั่นคง การที่กรมราชทัณฑ์ได้พานักข่าวไปสำรวจไปดูห้องทั้งหมด แม้ไม่ได้ถ่ายภาพ แต่ก็เป็นการเผยแพร่รายละเอียด
นอกจากนี้เห็นว่า กรมราชทัณฑ์ ปิดโอกาสในการเคลียร์ความบริสุทธิ์ ความตั้งใจจริงของกรมราชทัณฑ์ ต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตามด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้เหตุการตายจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์มาค่อนข้างสมบูรณ์ การขอภาพจากกล้องวงจนปิดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมจึงต้องฟังเสียงทุกฝ่าย แต่เมื่อกรมราชทัณฑ์ปิดโอกาส ก็จะต้องเดินหน้าอธิบายกับสังคมเท่าที่มีข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์ที่มีอยู่ ว่าเสียชีวิตเพราะอะไร นอกจากประเด็นเรื่องการใส่ท่อหายใจผิด
การปิดบังข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้จะปิดฟ้าด้วยฝ่ามือได้ เพราะข้อเท็จจริงอยู่ในเอกสารอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการต่อสู้ต่อไปในการให้ได้มาซึ่งภาพกล้องวงจรปิด และการไม่ให้ ก็ถือเป็นผลเสียของทางราชการ และทราบมาว่ามีคำสั่งไม่ให้เปิดเผย เป็นผู้มีอำนาจมากกว่า กรมราชทัณฑ์ แต่เมื่อไม่ได้ ก็จะใช้เอกสารที่ได้รับมาประกอบกับรายงานผลการชันสูตรของ รพ.ธรรมศาสตร์เท่านั้น และจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง ในสัปดาห์หน้า
"พ่อและแม่ของบุ้ง และทนายความ ไม่ได้มีความประสงค์ใดๆนอกจากอยากรู้การตายที่แท้จริง และหากมีความบกพร่องการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ยังไม่ถูกพิพากษาว่าผิด หรือถูกพิพากษาว่าผิด หากเกิดการรักษาผิดพลาดก็ต้องแก้ไขจะได้ไม่มีใครเสียชีวิตในระบบแบบนี้อีก"