posttoday

'บิ๊กโจ๊ก'ริบหรี่กับเก้าอี้'ผบ.ตร.'หลังคำสั่ง'ให้ออกจากราชการ'

19 เมษายน 2567

'บิ๊กโจ๊ก'ขาดคุณสมบัติเข้ารับการเสนอชื่อเป็นผบ.ตร.คนที่15 ในทันทีหลังมีคำสั่งให้ออกจากราชการ หนทางที่แมว9ชีวิตจะกลับมาใหม่ได้ ต้องพิสูจน์ตัวเองทั้งคดีวินัยและอาญา ว่าไม่ได้ทำผิดและศาลยกฟ้อง หรือคณะกรรมการวินิจฉัยว่าไม่ผิด

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามในคำสั่งที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย.67 ให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมพวกรวม5คน ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันฟอกเงิน โยงเว็บพนันออนไลน์ BNKMASTER  เท่ากับดับทางก้าวขึ้นสู่ตำรวจ ผบ.ตร.คนที่15 ทันที

คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หมายความว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ต้องยุติการเป็นรองผบ.ตร.และพ้นจากการรับราชการตำรวจ เข้าสู่กระบวนการสอบสวนในคดีอาญาและถูกดำเนินการสอบสวนทางวินัย เท่ากับขาดคุณสมบัติ ไม่มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อทั้งที่ก่อนหน้านี้ถือเป็นรองผบ.ตร.ผู้มีอาวุโสสูงสุด 

เหตุผลให้ออกจากราชไว้ก่อนในประการสำคัญตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ทำให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ขาดคุณสมบัติคือมีพฤติการณ์ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง ประกอบกับได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาที่เป็นเหตุให้สั่งพักราชการจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ต่อจากนี้ไปพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกหลายปีเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตัวเอง โอกาสกลับมาอีกครั้งของแมว9ชีวิตจึงได้ว่าเรียกว่า 'ริบหรี่'

แม้กฎ ก.ตร.ข้อ 12 วางหลักว่าด้วยการดำเนินการหลังสอบวินัยเสร็จสิ้นเมื่อได้สั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วแต่หากภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาเป็นประการใดๆแล้ว ไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการ  การสั่งให้กลับมารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกัน ซึ่งการสั่งให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับการขึ้นไปให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง  

สำทับกับกรณี พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ MORNING NATION ออกอากาศทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ในประเด็นแคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 15 ซึ่งตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2567 ระบุไว้ว่าจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567  

ขณะนี้ต้องถือว่า "บิ๊กโจ๊ก" พ้นจากหน้าที่ราชการ เพราะฉะนั้นหากกระบวนการพิจารณา ไม่ว่าจะเรื่องคดีอาญา และเรื่องวินัยร้ายแรง ไม่เสร็จสิ้น ก็จะขาดคุณสมบัติ เพราะว่าไม่ได้ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. เงื่อนไขการถูกดำเนินคดี การถูกตั้งกรรมการทางวินัย และการถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน ท่านก็ขาดคุณสมบัติได้รับการคัดเลือกจากท่านนายกฯ

ถามว่าการต่อสู้คดีของ "บิ๊กโจ๊ก" ต้องใช้ระยะเวลากี่ปี และยังมีโอกาสกลับมารับราชการตำรวจหรือไม่ พล.ต.อ. เอก กล่าวว่า เวลานี้ "บิ๊กโจ๊ก" ถูกกล่าวหา 2 ส่วน ส่วนแรกถูกกล่าวหากระทำความผิดอาญา จนถูกศาลออกหมายจับ และอีกส่วนเป็นคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. หากมีการแจ้งข้อกล่าวหากระบวนการ ป.ป.ช. จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี รวมไปถึงกระบวนการชั้นศาลอีกประมาณ 5 ปี และอาจจะล่าช้ากว่านี้ สุดท้ายหากศาลตัดสินว่าไม่ได้กระทำความผิด "บิ๊กโจ๊ก" สามารถกลับเข้ารับราชการในระยะเวลาที่เหลืออยู่

ส่วนกรณีการถูกตั้งกรรมการวินัยร้ายแรง สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าคดีอาญา สุดท้ายหากมีการพิจารณาว่า "บิ๊กโจ๊ก" ไม่มีความผิด ก็ต้องสั่งให้ท่านกลับเข้ารับราชการทันที โดยไม่ต้องรอคดีอาญา แต่หากผลออกมาว่ามีความผิด แม้ว่าคดีอาญายังไม่สิ้นสุด ก็สามารถลงโทษท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นไล่ออก ปลดออก

สำหรับคำสั่งให้ออกจากราชการ "บิ๊กโจ๊ก" สามารถใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ได้ ภายใน 30 วัน แต่หากบิ๊กโจ๊ก ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ก็สามารถยื่นฟ้องศาลปกครองได้

สรุปเงื่อนไขสำคัญที่จะกลับเข้ามารับราชการ หมายถึงทั้งคดีวินัย และคดีอาญา ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำความผิด และศาลพิพากษายกฟ้อง หรือคณะกรรมการวินิจฉัยว่าท่านไม่ผิด