“นพดล” ห่วงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ชง 4 ข้อเสนอ กมธ.ต่างประเทศ
“นพดล ปัทมะ” เป็นห่วงสถานการณ์ชายแดนไทย ย้ำ 4 ข้อเสนอ กมธ.ต่างประเทศ แนะรัฐบาลตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด มีแผนรองรับผู้หนีภัยสงคราม หวั่นกระทบความมั่นคง และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลจากการสู้รบ พร้อมผลักดันการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
นายนพดล ปัทมะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์ที่กองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ได้ยึดเมืองเมียวดี ตรงข้ามแม่สอด และในขณะนี้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมาแล้วบางส่วนนั้น ในเรื่องนี้ คณะ กมธ.ต่างประเทศ ได้เคยมีข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อ ซึ่งยังใช้ได้ทุกข้อ คือ
1) รีบตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด
2) มีแผนรองรับผู้อพยพหนีภัยสงครามและผลกระทบการสู้รบในเมียนมา
3) ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทั้งคนเมียนมาและชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลจากการสู้รบ
4) ผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาโดยผ่านกลไกทรอยก้าพลัส ไทยควรเป็นหัวหอกเชิญประธานอาเซียน จีน อินเดีย เข้ามาผลักดันการเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมา ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตรงเป้าที่สุด และได้จังหวะเวลาที่สุด
นายนพดล กล่าวต่อว่า ในขณะนี้เหตุการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สู้รบกับทางรัฐบาลทหารเมียนมานั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีคำถามว่าเรามีแผนรองรับที่ทันการและครอบคลุมหรือไม่ เนื่องจากการสู้รบน่าจะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องในฤดูแล้งและจะมีคนหลบหนีภัยสงครามมาเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้น อาจจะมีคนหนีการเกณฑ์ทหารในเมียนมาข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งถามว่าระบบการตรวจสอบและการขึ้นทะเบียนคนเข้าเมืองทันการและสามารถรองรับได้เพียงใด มิฉะนั้นในอนาคตเราก็จะมีบุคคลที่เข้าเมืองแต่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะกระทบต่อปัญหาความมั่นคงในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา ตนจึงขอตอกย้ำข้อเสนอ 4 ข้อ ที่คณะ กมธ.ต่างประเทศ เคยเสนอไปแล้วเพื่อให้ภาครัฐไปดำเนินการ โดยเฉพาะ ข้อ 1) เร่งรัดการมีกลไกระดับชาติจะเป็นในรูปแบบกรรมการหรือมีเจ้าภาพในรูปแบบอื่นเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในเมียนมาอย่างใกล้ชิดเพื่อมีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ
และข้อ 2) ภาครัฐน่าจะสื่อสารแผนรองรับการอพยพหนีภัยสงครามและหนีการเกณฑ์ทหารว่าน่าจะมีจำนวนเท่าใด เพราะในขณะนี้มีข้อมูลว่ามีชาวเมียนมา ที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ผ่านช่องทางคนเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายและซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ บ้างแล้ว ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จะมีผลกระทบในระยะยาว
“ในขณะที่มีผู้หนีภัยสงคราม เราก็ต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าการหลบภัย อาหาร อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าต้นเหตุของปัญหาคือการสู้รบ คิดว่าเวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมมากในการที่จะผลักดันกระบวนการสันติภาพในเมียนมา โดยการตั้งทรอยก้าพลัส เพื่อโน้มน้าวทุกฝ่ายในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในเมียนมา เพราะถ้ามีการสู้รบกันต่อไปคนที่ต้องรับภาระมากที่สุดก็คือประเทศไทย ซึ่งเรามีความปรารถนาดี อยากเห็นสันติภาพ เสถียรภาพ และเอกภาพในเมียนมา”
ดังนั้นไทยควรเป็นหัวหอกหลักในการร่วมมือคุยกับทางประธานอาเซียน จีน อินเดีย และควรดำเนินการทันที เพราะข้อเสนอในเรื่องนี้ นักวิชาการและผู้สันทัดกรณีเรื่องเมียนมาก็ได้เสนอแนะรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้ก็จะปูทางไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและตรงจุดที่สุด รวมทั้งจะเพิ่มพูนบทบาทของไทยในเวทีโลกด้วย
ไทยหนุนการแก้ไขปัญหาเมียนมาด้วยสันติวิธี
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยว่า ไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใครในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายยืนหยัดคู่ความสงบสุข การแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีเสมอมา
ดังนั้น ต่อประเด็นเรื่องเครื่องบินเมียนมาเป็นการปฏิบัติภารกิจฝ่ายพลเรือน ขอนำเครื่องบินพลเรือนเพื่อขอขนส่งสิ่งของพลเรือนตามปกติ ไม่ได้เป็นการรองรับภารกิจพิเศษ หรือมีการขนกำลังทหารหรืออาวุธ แต่อย่างใด
“รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายอย่างชัดเจนเสมอมา ไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร มุ่งหวังให้ทุกฝ่ายดำเนินการในทางสันติวิธี แต่ในทางมนุษยธรรม ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือพลเรือน ตามแนวทางหลักการสากลเพื่อสันติสุขของโลกตามที่ได้ดำเนินการตลอดมา” นายชัย กล่าว