posttoday

วิโรจน์ ชี้งบจัดซื้ออาวุธบางอย่างจำเป็น-“เรือฟริเกต” มองเป็นโอกาสประเทศ

10 มีนาคม 2567

"วิโรจน์" เปิดสัมมนาบทบาทกองทัพกับท้องถิ่น ชี้งบจัดซื้ออาวุธบางอย่างจำเป็น ย้ำ กมธ.ทหาร มีบทบาทสำคัญประสานให้ประชาชน กับกองทัพ กลับมาไว้เนื้อเชื่อใจ แจง "เรือฟริเกต" 1.7 หมื่นล้าน มองเป็นโอกาสประเทศ มั่นใจ "ก้าวไกล" ทำงานร่วมกับกองทัพได้ "เชตวัน" จี้คืนสนามธูปเตมีย์

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เปิดงานสัมมนา “การใช้พื้นที่ทหาร บทบาทหน้าที่ของทหารกับท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศ” ที่ห้องอาหารพริ้มเพลิน จังหวัดปทุมธานี โดยระบุว่า การใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพส่วนใหญ่บางอย่างมีความจำเป็น 

ล่าสุด จะจัดซื้อปืนก็มีความจำเป็น แต่พอประชาชนทราบก็มีกระแสต่อต้าน ไม่อยากให้ซื้อ อยากให้ปรับลดงบประมาณ ซึ่งตนเองก็ตั้งคำถามว่า ถ้าตำรวจไม่มีปืน แล้วตำรวจจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น กองทัพ และทหาร ก็เหมือนกัน ที่ตนมองว่า หลายสิ่งหลายอย่างมีความจำเป็นต้องซื้อ แต่พอจะซื้อ ประชาชนก็เกิดแรงต้านทันที เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจ ระหว่างพลเรือน กับทหารสั่นคลอนไม่ไว้วางใจกัน ทำให้การจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งที่มีความจำเป็นต่อความมั่นคง และการปฏิบัติหน้าที่ของทหารถูกลดทอนประสิทธิภาพลง 

ดังนั้น ตนจึงมองว่าบทบาทของกรรมาธิการทหารที่สำคัญที่สุด คือ การประสานให้ประชาชน กับกองทัพกลับมามีความไว้เนื้อเชื่อใจ และเข้าอกเข้าใจกันในเชิงเหตุผล ตรวจสอบซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประชาชน ตรวจสอบกองทัพอย่างสมเหตุสมผล อย่างมีเนื้อหาสาระ ไม่ได้ตรวจสอบในลักษณะที่มีการอคติ หรือเกลียดชัง

ส่วนกรณีที่กรรมาธิการทหาร ไม่คัดค้านงบประมาณในกรรมาธิการงบประมาณฯ 2567 ต่อการจัดซื้อเรือฟริเกต วงเงิน 17,000 ล้านบาท ที่พรรคก้าวไกล เชื่อว่า ถ้ารัฐบาล กับพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสนับสุนน งบประมาณสำหรับเรือฟริเกตก็ต้องผ่าน แต่ปรากฎว่า ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ยกมือให้ผ่าน แต่พรรครัฐบาล ตัดงบเรือฟริเกต ตนจึงเชื่อว่า รัฐบาลจะนำงบส่วนนี้ไปเข้าสู่งบกลาง ถือเป็นการตีเช็กเปล่าไปให้นายกรัฐมนตรี

“ตนไม่ได้สนับสนุนให้ซื้อเรือฟริเกต แต่มองว่าการจัดซื้อสมเหตุสมผล เพราะเรือฟริเกตลำนี้จะถูกต่อในประเทศไทย ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่จะมีการต่อเรือรบในประเทศไทย ทำให้เกิดการจ้างงานมูลค่าหลายพันล้านบาท และจะทำให้ลดต้นทุนในการบำรุงรักษาในระยะยาว และเรือฟริเกตปัจจุบันนี้เข้าใจว่ามีกองทัพเหลือน้อยมาก ดังนั้น สาเหตุที่สนับสนุนฟริเกต เพราะไม่ใช่เรือดำน้ำ ซึ่งเป็นการนำผลเงินประโยชน์ให้ต่างชาติ โดยที่ไทยไม่ได้ผลประโยชน์กลับมา” นายวิโรจน์ กล่าว 

นายวิโรจน์ ยังแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลตัดงบเรืแฟริเกตเข้างบกลาง เพราะความฝันที่ประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลางการต่อเรือจะจบลง และนายกรัฐมนตรี ก็เคยระบุว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ไม่เป็นไรมาก ถ้ามีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งที่โครงการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ ต่อให้เป็นหมื่นล้าน หรือแสนล้านก็ต้องจ่าย หรือต้องกู้มาลงทุน เพราะไม่เกี่ยวกับเงินมากหรือน้อย แต่อยู่ที่ความจำเป็น และเกิดประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ 

ทั้งนี้ ประชาชนจะไว้วางใจกองทัพได้ก็ต่อเมื่อกองทัพมีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลกับสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และชี้แจงตอบกลับในลักษณะที่เข้าอกเข้าใจประชาชน แต่ถ้ายังปิดหูปิดตาประชาชน ความไว้เนื้อเชื่อใจไม่เกิดขึ้น พร้อมขอบคุณกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ที่วันนี้ให้ความร่วมมือกับกรรมาธิการฯ ดีมาก และผู้บัญชาการทหารบก ก็กำลังสร้างความสัมพันธ์ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการสื่อสารของกองทัพกับประชาชนบางครั้งมีข้อจำกัด แต่ถ้าสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และให้กรรมาธิการฯ ช่วยประชาสัมพันธ์ก็จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากที่สุด 

นายวิโรจน์ ยังสนับสนุน และคาดหวังให้กองทัพอากาศ โอนที่ดินสนามกอล์ฟของกองทัพอากาศให้กับท้องถิ่น แต่ถ้ากองทัพ ยังดำเนินการต่อ ก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่า จะมีการจัดสรรสวัสดิการให้กับนายทหารอย่างไรให้โปร่งใส หรือเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการ ในอัตราราคาที่เป็นธรรมได้หรือไม่ 

ขณะที่ พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ในฐานะตัวแทนส่วนท้องถิ่น ระบุว่า ตนเต็มใจอย่างยิ่งที่มาร่วมงาน เพราะถือเป็นประโยชน์ต่อชาวปทุมธานีทั้งหมด เห็นว่าหากกองทัพอากาศ โอนที่ดินสนามกอล์ฟของกองทัพอากาศให้กับท้องถิ่น ตามมี่นายวิโรจน์ ระบุ อบจ.ปทุมธานีก็พร้อม เพราะตนอยากเห็นการพัฒนา และเชื่อว่าอยู่ที่การหารือ 

ขณะเดียวกัน จังหวัดปทุมธานีเอง ถือว่ายังไม่มีสนามกีฬาที่เป็นของจังหวัด ที่ชาวปทุมธานีไม่ต่ำกว่า 500,000 คน จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ เพื่อทำเป็นศูนย์กีฬา ที่ออกกำลังกายของประชาชน เป็นปอดของประชาชนไม่ต้องเสี่ยงอุบัติเหตุจากการออกกำลังกายในสถานที่ไม่เหมาะสม พร้อมย้ำว่า อบจ.พร้อม และตั้งงบประมาณผูกพันไว้รอแล้ว

นอกจากนี้ ได้ชื่นชมผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่มีความเข้าใจการพัฒนาเมือง และเข้าใจพลเรือนอย่างมาก พร้อมยืนยันว่าไม่อยากให้เกิดความเป็นปรปักษ์ ระหว่างพลเรือนและกองทัพ แต่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และตระหนักว่า ปทุมธานี มีความเป็นเมือง และมีประชาชนหนาแน่น ซึ่งขณะเมื่อกองทัพอากาศมาใช้ประโยชน์พื้นที่ในอดีต ความหนาแน่นของประชากร ไม่ได้หนาแน่นเหมือนในปัจจุบัน แต่เมื่อประชากรหนาแน่นขึ้น ก็มีความต้องการสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และสวนสาธารณะ แต่ปัจจุบันการพัฒนาสาธารณูปโภคไม่ทัน การกระจายอำนาจเป็นอุปสรรค ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ต่อเนื่อง จึงต้องมองไปที่บ้านใหญ่ หรือกองทัพอากาศ ที่ครองพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่กองทัพอากาศก็ครองพื้นที่ตั้งแต่ก่อนจำนวนประชากรจะแน่น 

ดังนั้น จึงจะต้องเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ไม่สนใจว่า ใครจะอยู่ก่อน หรืออยู่หลัง ซึ่งผู้บัญชาการทหารอากาศ ก็ยอมรับว่า กองทัพต้องปรับตัว เพื่อให้ทหาร และพลเรือน เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน และยืนยันว่าการพูดคุยระหว่างกันเป็นไปอย่างดี พรรคก้าวไกล สามารถทำงานร่วมกับกองทัพได้

นายวิโรจน์ ยังตั้งคำถามถึงรัฐบาลหลังจากกองทัพอากาศ มีแผนส่งมอบสนามงูให้รัฐบาลว่า จะนำสนามงูไปใช้ประโยชน์อะไร พร้อมเสนอว่า อาจจะขอพื้นที่จากกองทัพอากาศเพิ่ม เพื่อนำไปทำเป็นรันเวย์สนามินการเมือง เพื่อลดความหนาแน่นของอากาศยาน สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ และประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบินดอนเมือง ก็จะได้รับประโยชน์ เช่นเดียวกับ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ที่ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ 

แต่หากจะพัฒนาเป็นศูนย์กีฬา หรือ สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ซึ่งหากได้พูดคุยกับกองทัพอากาศด้วยความเข้าอกเข้าใจ ก็สามารถเปลี่ยนแปลง ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์มีสนามวิ่ง มีสวนสาธารณะ ฟิตเนส สนามแบตมินตัน ในราคาถูก เพื่ออะลุ้มอะล่วยระหว่างสวัสดิการกองทัพ กับการใช้ประโยชน์ของประชาชน และมั่นใจว่า ไม่เสียหาย 

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสวัสดิการกองทัพว่า สวัสดิการของกองทัพเป็นเรื่องประหลาด ที่ให้กองทัพประกอบกิจการ และนำกำไรที่ได้มาจัดสรรในกองทัพ เช่น  สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ที่ควรเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่ข้าราชการควรได้รับหรือไม่ 

ซึ่งตนเองคิดว่าไม่ใช่ เพราะหากต้องการจะออกกำลังกาย ก็ยังมีสถานที่อื่นที่สามารถทำเป็นพื้นที่ส่วนกลางได้ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดกองทัพไม่ของบประมาณ เพื่อเป็นสวัสดิการให้ข้าราชการ ซึ่งหากกันงบประมาณรัฐไว้ 120 ล้านบาท ก็สามารถได้รับสวัสดิการได้ โดยที่กองทัพไม่จำเป็นต้องประกอบกิจการ และแบกรับความเสี่ยงในการประกอบกิจการ หรือหากกองทัพต้องการสร้างความเข้าใจอันดีกับประชาชน กองทัพก็ควรคืนสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการ และกลับไปทำหน้าที่ที่ควรดำเนินการ

นายจิรัฏฐ์ ขอให้กองทัพเริ่มปรับตัว ยึดความคิดแบบเดิมไม่ได้ เช่น การเข้ามาวุ่นวายกับการเมือง ฯลฯ ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงการรัฐประหาร เพราะหากกองทัพไม่ปรับตัว ก็จะอาจจะอยู่ร่วมกับพลเรือนไม่ได้

นายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการทหาร กล่าวถึงเป้าหมายการทวงคืนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ มาเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ว่า เนื่องจากตนเองเห็นพื้นที่ขนาดใหญ่ของกองทัพกว่า 625 ไร่ใจกลางเมือง ที่ควรทำประโยชน์ได้มากกว่าสนามกอล์ฟ ที่ประชาชนไม่กี่คนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับจำนวนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเกือบ 300,000 คน แต่ไม่มีพื้นที่ออกกำลังกาย และต้องไปใช้พื้นที่ที่อันตราย หรือซอยตันออกกำลังกาย หรือวิ่งหลังสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ แต่ไม่สามารถไปใช้ประโยชน์ประชาชนได้ ดังนั้น พื้นที่สนามกอล์ฟใหญ่ขนาดนี้ จึงควรนำมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ เหมือนสวนรถไฟ ที่การรถไฟคืนพื้นที่ให้ กทม.นำมาใช้ประโยชน์ 

ส่วนแผนการภายหลังหากกองทัพอากาศคืนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ให้รัฐบาลนั้น นายเชตะวัน ยอมรับว่า ตนเองไม่ได้มีแผนว่า หากรับฐบาลได้พื้นที่แล้ว และจะจัดสรรมาพื้นที่มาใช้ประโยชน์ใดบ้าง แต่ไม่ว่าจะดำเนินการใดๆ ก็ควรจะต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และผู้บัญชาการทหารอากาศ ควรสอบถามประชาชนด้วยหากจะนำไปดำเนินการเป็นศูนย์กีฬาว่า ประชาชน ต้องการกีฬาใดบ้าง

ส่วนการดูแลบุคลากรในสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ หลังยกเลิกกิจการ นายเชตะวัน เห็นว่า จะต้องมีระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน เหมือนโครงการพัฒนาถนนต่างๆ ที่จะต้องถูกเวนคืน และผู้ดำเนินโครงการจะต้องไปชดเชยเยียวยา ฝึกอาชีพใหม่ หรือหากจะพัฒนาสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ เป็นศูนย์กีฬา ก็อาจจะสามารถจ้างงานต่อได้

นายเอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวคิดการแก้ปัญหาในสนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือ สนามงู ว่า มีที่มาจากการความคิดว่า สนามบินดอนเมือง ที่มีสนามกอล์ฟใกล้รันเวย์ ดีจริงหรือไม่ จึงได้ไปกับผู้เชี่ยวชาญ พบว่า นักบินต้องการให้รันเวย์โล่ง เพื่อความปลอดภัยทางการบิน จึงได้เสนอเป็นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ได้ตั้งแง่ว่า กองทัพอากาศจะต้องคืนพื้นที่ พร้อมขอบคุณผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ตอบรับข้อเสนอ และกองทัพพร้อมพัฒนาพื้นที่พร้อมกับพลเรือน ซึ่งอาจจะเป็นการคืนพื้นที่ให้การท่าอากาศยานนำไปพัฒนาพื้นที่ 

“การตอบรับของกองทัพอากาศ ถือเป็นก้าวแรกที่มีนิมิตรหมายที่ดี และหวังว่ากองทัพบก และกองทัพเรือ จะมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกับกันกองทัพอากาศในพื้นที่อื่นๆ ที่กองทัพครอบครอง และคายธุรกิจกองทัพ โดยไม่อ้างสวัสดิการ เพราะตนเองก็เป็นลูกทหารอากาศ โตมาในพื้นที่กองทัพ มีความหวงแหนในพื้นที่กองทัพ แต่วันนี้ตนเองคิดว่าหากกองทัพนำธุรกิจเหล่านั้นไปให้นายทหารชั้นผู้น้อย และครอบครัว ได้รับผลประโยชน์ มากกว่าตกไปอยู่กับนายหหารระดับสูง” นายเอกราช กล่าว