posttoday

นายกสั่งลดงบพีอาร์-ดูงานตปท.ในงบปี 68 สะเทือนภารกิจเซลล์แมนประเทศไทย?

07 มีนาคม 2567

นายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยประกาศอาสาเป็นเซลล์แมนประเทศไทย ได้เดินทางโรดโชว์ต่างประเทศดึงดูดนักลงทุน แต่ข้อสั่งการล่าสุดที่ให้หน่วยราชการประหยัดงบประมาณ ลดงบพีอาร์-ดูงานตปท.จะกระทบภารกิจนี้หรือไม่?

หลังจาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 6 มีนาคม 2567 ถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และทุกหน่วยงานราชการ โดยระบุถึงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจ้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ขอให้ทุกส่วนราชการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และซับซ้อนในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำยังคงมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายลงทุน จึงขอให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ งบประมาณด้านการฝึกอบรมและดูงาน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ โดยให้ใช้การส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์หรือการจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ ให้มากขึ้น พื่อจะได้นำงบประมาณในส่วนที่ปรับลดลงนี้ไปจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

นายกสั่งลดงบพีอาร์-ดูงานตปท.ในงบปี 68 สะเทือนภารกิจเซลล์แมนประเทศไทย?

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 ก็ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศหลายครั้ง หลังประกาศตัวเป็น "เซลส์แมนประเทศไทย" เพื่อเดินสายเจรจาดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ จนถึงปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้

วันที่ 18-24 ก.ย.2566 นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

วันที่ 28 ก.ย.2566 เดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชา พบกับสมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่

วันที่ 8-9 ต.ค.2566 เดินทางไปพบผู้บริหารและนักธุรกิจของฮ่องกง

วันที่ 10-12 ต.ค.2566 เยือนเพื่อนบ้านอาเซียน ประเทศบรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์

วันที่ 16-18 ต.ค.2566 เดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF ครั้งที่ 3

วันที่ 19-21 ต.ค.2566   เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

วันที่ 29-30 ต.ค.2566  เยือน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

วันที่ 12-19 พ.ย.2566  ร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

วันที่ 14-19 ธ.ค.2566 ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว

15-19 ม.ค.2567 เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจําปี 2567 ที่นครซูริก สมาพันธรัฐสวิส

3-4 ก.พ.2567 เข้าประชุมงาน Sri Lanka – Thailand Business Forum ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

4-14 มี.ค.2567 เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ และเดินทางต่อไปยังสหพันธรัฐเยอรมนีและฝรั่งเศส

 

ซึ่งหากนับตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงวันสิ้นสุดทริปเดินทางเยือนฝรั่งเศสในวันที่ 14 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้น 205 วัน (โดยไม่นับวันหยุดหรือวันลา) ในจำนวนนี้ ได้ใช้เวลาเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศถึง 53 วัน หรือกว่า 1 ใน 4 ของระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายกรัฐมนตรี เดินทางไปต่างประเทศบ่อยเกินไป ในขณะที่ยังมีปัญหาในประเทศหลายอย่างที่รอการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ยังซบเซา แต่ น.ส.ชญาภา สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า การเดินทางไปราชการต่างประเทศของนายกฯ ได้พบปะหารือผู้นำนานาประเทศและภาคเอกชนจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายที่จะประกาศว่าประเทศไทยพร้อมเปิดรับการลงทุนเต็มที่ สามารถสร้างความเชื่อมั่น และเชิญชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติมาลงทุนได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โดยที่ยังไม่ต้องใช้งบก้อนใหญ่จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67

ต้องจับตาว่า หนังสือสั่งการของนายกรัฐมนตรีฉบับล่าสุดนี้ จะกระเทือนภารกิจเดินทางไปต่างประเทศของตัวนายเศรษฐาเองด้วยหรือไม่?