posttoday

สส.ชยพล จี้ทร. กู้เรือหลวงสุโขทัยหาสาเหตุการล่ม จ่อชงเรื่องเข้า กมธ.ทหาร

26 กุมภาพันธ์ 2567

ชยพล สท้อนดี สส.กทม. เขต 8 พรรคก้าวไกล จี้กองทัพเรือตอบให้ชัด จะกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" หรือไม่ ย้ำการกู้เรือเป็นจิ๊กซอว์ให้เห็นสาเหตุแท้จริง จะอ้างไม่มีงบไม่ได้ จ่อชงเรื่องเข้า กมธ.การทหารอาทิตย์นี้

ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล แถลงข่าว Policy Watch โดยนายชยพล สท้อนดี สส.กทม. ในหัวข้อนิราศ (เรือหลวง) สุโขทัย จากเรือรบสู่ปะการังเทียม เพื่อตั้งข้อสังเกตและเสนอแนะต่อการกู้เรือหลวงสุโขทัย โดยไล่เรียงเหตุการณ์ว่า ปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์เรือสุโขทัยอับปางลง พร้อมกำลังพล 106 นาย จากการไปร่วมงานเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพร องค์บิดาของกองทัพเรือไทย ในวันนั้นเรือหลวงสุโขทัยวิทยุแจ้งว่าเครื่องยนต์มีปัญหาใช้งานไม่ได้ 1 เครื่อง จนกระทั่งควบคุมเรือไม่ได้ เริ่มเอียง 60-70 องศา ซึ่งเป็นเวลากว่า 8 ชั่วโมง ที่เรือรบพบปัญหา จนกระทั่งลงไปนอนจมอยู่กับปะการัง สูญเสียกำลังพลมากกว่า 20 นาย ยังคงสูญหายอยู่อีก 5 นาย เรือรบอันทรงเกียรติมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทหายไปกับท้องทะเล 

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อดีตสส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้เคยอภิปรายถึงประเด็นการล่มของเรือหลวงสุโขทัยไว้ โดยสรุปใจความปัญหาได้ 3 ประเด็น คือ

1.สภาพอากาศ ที่รายงานกองทัพเรือได้รายงานว่าคลื่มลมจะสูงประมาณ 2.5 เมตร แตกต่างจากรายงานของเอกชน ที่ระบุไว้ว่าคลื่นจะสูงถึง 6 เมตร 

2.สภาพความพร้อมของเรือ เนื่องจากเรือหลวงสุโขทัย มีการของบประมาณในการซ่อมบำรุงมาโดยตลอด แต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่หลายจุด

3. เป็นความผิดพลาดของการสั่งการ เพราะเมื่อดูจากแผนที่แล้ว จุดที่เรือหลวงสุโขทัยล่ม จะใกล้กับท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ทำไมถึงได้ยังคงสั่งการให้เรือฝืนสังขาร ห้ามล่มห้ามจม แหวกพายุกลับไปสัตหีบ จนนำมาสู่การอัปปางในที่สุด

สส.ชยพล จี้ทร. กู้เรือหลวงสุโขทัยหาสาเหตุการล่ม จ่อชงเรื่องเข้า กมธ.ทหาร

​สำหรับ ปัญหาสำคัญของเรือหลวงสุโขทัย คงหนีไม่พ้นเรื่องการซ่อมบำรุงเรือที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เรื่องการซ่อมบำรุงแผ่นเหล็กที่ถูกกร่อนจนบางต่ำกว่ามาตรฐาน  ซึ่งรวมๆแล้วเรือหลวงสุโขทัยมีคิวรอการซ่อมอยู่ถึง 19 รายการ จึงเป็นเหตุอันเชื่อได้ว่าเรือนั้นไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน แต่กลับฝืน เพราะอยากออกไปร่วมภารกิจที่ไม่ใช่เรื่องการรบ แต่เป็นเพียงงานพิธีการ

​จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ตนอยากขอเชิญทุกคนร่วมกันย้อนดูท่าทีของกองทัพเรือตลอด 1 ปีที่ผ่านมากันบ้าง เพื่อจะได้ช่วยกันวิเคราะห์ถึงเจตนาอันแท้จริง ว่ากองทัพเรือนั้นคิดอะไรอยู่

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 18 ธ.ค. 2565 อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เรียกประชุมด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยได้เริ่มกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงกันในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 และลงนามตั้งกรรมการสอบสวนกันในวันที่ 26 ธ.ค. 2565 

จากนั้นประมาณวันที่ 11 ม.ค. 2565 กองทัพเรือได้เริ่มเปิดให้บริษัทได้ยื่นซองประมูลโครงการกู้เรือหลวงสุโขทัยเป็นครั้งแรก มีการแจ้งว่าผลการสอบสวนมีความคืบหน้าไปกว่า 90% ขั้นตอนของการสอบปากคำพยานทั้งหมดเกือบ 300 คนเสร็จสิ้น เหลือเพียงแค่การกู้เรือ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบ ซึ่งกองทัพเรือคาดว่าจะเริ่มกู้เรือกันได้ในเดือน เม.ย. ปี 2566 เป็นอย่างช้า โดยระหว่างนี้มีการตั้งข้อสังเกตจากนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ว่ามีการล็อคสเป็กในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ทำให้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาขอสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

สส.ชยพล จี้ทร. กู้เรือหลวงสุโขทัยหาสาเหตุการล่ม จ่อชงเรื่องเข้า กมธ.ทหาร

ช่วงวันที่ 21 ก.ย. 2566 จู่ๆ กองทัพเรือก็เริ่มต้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าเอกสารไม่ครบ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ค้านสายตาคนรอบข้างมาก เพราะสามารถส่งภายหลังได้ จนกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ต้องขอเชิญกองทัพเรือเข้ามาชี้แจง เพราะการขาดเอกสารที่ไม่ใช่ใจความสำคัญนั้นสามารถยื่นตามทีหลังมาได้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งกระบวนการให้ต้องเสียเวลา ทั้งที่กองทัพเรือเองก็ย้ำมาตลอดว่าการกู้เรือเป็นภารกิจด่วน แต่ทำไมกลับล้มกระดานเอาเสียเอง ทำให้ต้องเริ่มต้นนับจากหนึ่งใหม่ ซึ่งตนได้ตรวจสอบการทำข้อกำหนดและขอบเขตการจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) ก็พบว่าเป็นอะไรที่ค้านสายตา เพราะเป็นการจ้างกู้และลำเลียงเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางไปที่สัตหีบ จ.ชลบุรี ปรับแต่งสภาวะตัวเหลือให้มีความปลอดภัยลอยลำได้ด้วยตัวเอง

นายชยพล ยังกล่าวว่ามีเอกสารจาก JUSMAGTHAI ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลการใช้งานยุทโธปกรณ์ของสหรัฐอเมริกาภายในประเทศไทย 2 ฉบับ มีเนื้อหาคือการทวงถามรายงานข้อเท็จจริงในกรณีเรือหลวงสุโขทัยอัปปาง และการเตือนว่าตามสัญญาการใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา ก่อนจะให้บุคคลที่สามมายุ่งกับยุทโธปกรณ์ของสหรัฐได้ ต้องได้รับคำยินยอมจากรัฐบาลของสหรัฐก่อน พร้อมย้ำว่า JUSMAG ก็ได้ส่งหนังสือมาแจ้งกองทัพเรือไทย ให้ทำตามข้อตกลงการใช้อาวุธ โดยส่งหนังสือมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 โดยระบุว่าให้ส่งรายงานโดยระบุข้อมูลคือ วันที่เกิดเหตุ ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขข้อผิดพลาดโดยกองทัพเรือ และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งทางอเมริกาก็รอกองทัพเรือไทยมาเกือบปี ถึงส่งจดหมายทวงถามอีกฉบับในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยมีเนื้อหาย้ำตามเดิม แสดงว่าที่ผ่านมาตลอด 1 ปี กองทัพเรือ นอกจากจะประวิงเวลา เตะถ่วงเรื่องของการกู้เรือแล้ว ก็ยังคงช้าเรื่องของการสรุปข้อเท็จจริงที่ควรต้องชี้แจงให้กับประชาชนและกับประเทศคู่ค้าด้วย

นายชยพล ระบุว่า ที่ผ่านมาตลอด 1 ปี กองทัพเรือไทยไม่ได้สื่อสารกับกองทัพอเมริกาเท่าที่ควร จนต้องออกจดหมายเตือน เพื่อย้ำให้ชัดอีกครั้ง ส่อเจตนาเหมือนจงใจวางกับดักให้ตัวเองต้องสะดุด เพื่อผลัดวันต่อ ไม่ให้กู้เรือได้สักที หากไม่ได้เปิดข้อมูลเอกสารตรงนี้ กองทัพเรือไทยก็คงเดินหน้าประมูลราคาต่อ เพื่อรอล้ม ที่ผ่านมา ผบ.ทร. ไม่มีการระบุว่ากองทัพเรือสหรัฐจะร่วมการกู้เรือครั้งนี้ หรือจะยังคงมีการกู้เรืออยู่หรือไม่

นายชยพล ย้ำว่า การกู้เรือ เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุการล่มของเรือหลวงสุโขไทย เป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญ ที่ต้องมีเท่านั้น ถึงจะสามารถเปิดรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดให้กับประชาชนได้ ตนไม่เข้าใจ เมื่อมิตรประเทศอย่างสหรัฐได้มาถึงที่แล้ว ทำไมให้ช่วยไม่สุดทาง ทำไมถึงจบแค่การปลดอาวุธ แต่ไม่กู้จิ๊กซอว์นี้ขึ้นมา ตอนนี้ท่าทีของกองทัพเรือเอง ไม่มีความชัดเจนเลยว่าจะยังกู้อยู่หรือไม่ ขัดกับคำพูดตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่ขอให้ทุกคนอดใจรอไม่นาน จะกู้เรือขึ้นมาอย่างแน่นอน 

นายชยพล กล่าวว่า จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น คงต้องถามจริงๆว่าเรายังคาดหวังความชัดเจนจากกองทัพเรือได้อยู่หรือไม่ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องขอให้กองทัพเรือออกมายืนยันให้ชัด ว่าสรุปแล้วเราจะได้รู้ความจริงกันเมื่อไหร่

จากกรณีเรือดำน้ำจีนที่ชอบพูดกันนักว่าต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางการฑูต จะแก้สัญญาหรือต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติมากไม่ได้ แต่ทำไมพอเป็นเรื่องเรือหลวงสุโขทัยกลับต้องให้มีจดหมายทวงเป็นปีๆ ถึงจะยอมเปิดทางให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยเหลือ ถ้าไม่เปิดข้อมูลเอกสารการทวงถามจาก JUSMAGTHAI และเอกสารข้อตกลงการใช้ยุทโธปกรณ์ของอเมริกา ก็คงยังรำวงกับการตั้งโครงการประมูลกู้เรือทั้งที่รู้ว่าขัดข้อตกลง ส่งผลต่อความสัมพันธ์ด้านการทหารโดยตรง แต่ก็ไม่เห็นจะทำท่าทีเกรงอกเกรงใจใดๆ

ส่วนจะมีโอกาสเรียกกองทัพเรือเข้ามาชี้แจงเรื่องนี้ในกรรมาธิการหรือไม่ นายชยพล กล่าวว่า เรื่องนี้ยังเพิ่งเริ่ม อาจจะต้องมีการสื่อสารไปถึงกองทัพเรือให้ออกมาชี้แจงถึงความตั้งใจจริงในการกู้เรือว่าจะกู้หรือไม่ แต่คาดว่าอาจจะมีการยกขึ้นพูดคุยในชั้นกรรมาธิการในสัปดาห์นี้

พร้อมย้ำว่ากองทัพเรือไม่สามารถอ้างได้ว่าติดขัดเรื่องงบประมาณ เพราะมีการของบประมาณไปแล้ว ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะบอกว่าไม่พอก็เป็นเรื่องที่ตลก ตอนแรกจะจ้างบริษัทภายนอก 100% มีการประเมินแล้วว่าใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาท