posttoday

ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาจำคุก4เดือนคดีแฟลชม็อบปี62

05 กุมภาพันธ์ 2567

ศาลแขวงปทุมวัน พิพากษาจำคุกพิธา-ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์ กับพวกรวม8คน คดีแฟลชม็อบ ปี 62 ปรับ 20,200 บาท รอลงอาญา2ปี

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 ที่ศาลแขวงปทุมวัน ศาลอ่านคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.767/2563 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.771/2563 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.776/2563 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ นางสาวณัฏฐา หรือ โบว์ มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง จำเลยที่ 1 นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ชิวรักษ์ นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร จำเลยที่ 2 นายธนวัฒน์ วงค์ไชย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง จำเลยที่ 3 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประธานคณะก้าวหน้า จำเลยที่ 4 นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เลขาธิการคณะก้าวหน้า จำเลยที่ 5 นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ โฆษกคณะก้าวหน้า จำเลยที่ 6 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล จำเลยที่ 7 และนายไพรัฏธุโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร สส.นครปฐม บอดี้การ์ดนายธนาธร จำเลยที่ 8 โดยคดีทั้งสามสำนวนศาลสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งแปดร่วมกันนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) บัญชีของจำเลยแต่ละคน ซึ่งเป็นการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ มีข้อความเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน ในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เวลา 17.00 นาฬิกา โดยจำเลยทั้งแปดร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไปร่วมชุมนุมสาธารณะที่บริเวณสกายวอล์ค ซึ่งการจัดการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการสถานีรถฟฟ้า หรือสถานีขนส่งสาธารณะ 

เวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ในรัศมี 15. เมตร จากพระราชวังสระปทุม อันเป็นพระราชวังที่ประทับหรือพำนักของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป ซึ่งจะกระทำมิได้ตามกฎหมาย และจำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลรับผิดชอบการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะตลอดจนดูแลรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุม และก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน

จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งแปดที่เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม แม้ต่างคนต่างเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นโดยผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook และทวิตเตอร์ (Twitter) ของตน แต่พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงถึงเจตนาของจำเลยทั้งแปดว่า เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะและร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุม จำเลยทั้งแปดจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และจำเลยทั้งแปดต้องตรวจสอบว่าสถานที่ใดสามารถจัดการชุมนุมสาธารณะได้โดยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และเป็นสถานที่ที่เหมาะสม

แม้จะฟังได้ว่าไม่ได้มีการปิดกั้นหรือขัดขวางการสัญจรของประชาชนผู้ที่ใช้ทางสาธารณะและทางเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ย่อมคาดหมายได้ว่าจะต้องมีประชาชนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ย่อมเล็งเห็นได้ว่าโดยสภาพของพื้นที่ดังกล่าวย่อมกระทบต่อสัญจรของประชาชนและกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการสถานีรถไฟฟ้า จำเลยทั้งแปดไม่สามารถดูแลรับผิดชอบการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเข้าออกต่อประชาชนที่จะใช้ทางเดินสาธารณะ ซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า จุดเกิดเหตุบริเวณที่มีการปราศรัยและบริเวณที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่ในรัศมี 15- เมตร จากพระราชวังสระปทุม 
    
จำเลยทั้งแปดในฐานะที่เป็นแกนนำเป็นผู้จัดการชุมนุมปรากฏตัวเข้าร่วมชุมนุมและอยู่บริเวณดังกล่าวตลอดเวลา แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 8 จะไม่ได้ขึ้นปราศรัยร่วมกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่เชิญชวนหรือนัดให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งแปดจึงเป็นตัวการร่วมในการจัดการชุมนุมสาธารณะและจัดการปราศรัยโดยใช้โทรโข่งและเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 

จำเลยทั้งแปดต้องตระหนักถึงหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จำเลยทั้งแปดเพิกเฉยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมายก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24ชั่วโมง และไม่ขอรับอนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และถือว่าจำเลยทั้งแปดทราบดีว่า บริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวันเป็นพื้นที่อยู่ในระยะรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุมซึ่งการชุมนุมสาธารณะจะกระทำไม่ได้ตามกฎหมาย 

จำเลยทั้งแปดจงใจไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย โดยมีเจตนาจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะขึ้นในบริเวณดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และผลแห่งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะก่อให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชน ไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมจนก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร 

จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งแปดกระทำผิดฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุม ซึ่งเป็นพระราชวังของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไปประทับหรือพำนัก ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการใช้บริการสถานีรถไฟฟ้า ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนไม่ดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุมสาธารณะ

 

พิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 8 (2), 17 (7), 27, 31 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งแปดเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท 

เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา และสถานะทางสังคม จำเลยทั้งแปดเป็นผู้มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งแปดเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งความผิดที่กระทำสืบเนื่องมาจากต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกและความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมร้ายแรง กรณีมีเหตุอันควรปรานีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยทั้งแปดได้กลับตัวและเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้ขอบเขตตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 

และจำเลยทั้งแปดมีความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28, พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 9 วรรคหนึ่งฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24ชั่วโมง ปรับเป็นพินัยคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันโฆษณาหรือแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับเป็นพินัยคนละ 200 บาท รวมค่าปรับเป็นพินัย คนละ 10,200 บาท หากไม่ชำระค่าปรับทางพินัยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาให้จัดการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มาตรา 30, 31 ข้อหาความผิดทางพินัยอื่นให้ระงับการปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มาตรา 16 (1) 

ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ต่อจากโทษของจำเลยดังกล่าวในแต่ละคดีตามฟ้องนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าคดีที่ขอให้นับโทษต่อศาลในแต่ละคดีได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ ให้ยกคำขอให้นับโทษต่อของโจทก์

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 5 ต่อ 2 ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ และขอให้พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 

ต่อมาวันที่ 13 ธ.ค.2562 นายธนาธรนัดหมายประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้เข้าร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบโดยใช้สกายวอร์ก เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่จัดการชุมนุมในช่วงเวลา 17.00-18.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. 2562 เมื่อถึงเวลามีผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุมที่หอศิลป์ 

จากนั้นพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เรียกทั้ง 4 คนมารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ต่อมาอัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวันเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2563 โดยมีทั้งหมด 5 ข้อหา ประกอบด้วย 

1.ข้อหาร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง 
2.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ
3.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ
4.ทำการชุมนุมสาธารณะในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากพระราชวัง
5.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือว่าละเมิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมชนสาธารณะ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493

จำเลยเตรียมยื่นอุทธรณ์สู้คดี

ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความ กล่าวภายหลังศาลพิพากษาว่า จำเลยยังติดใจในประเด็นเรื่องของระยะ 150 เมตรของเขตพระราชทานว่าวัดจากจุดไหน  ซึ่งพฤติการณ์ ดังกล่าวมีการ เทียบเคียงกับคดีอื่น ที่มีการชุมนุมสถานที่เดียวกัน จุดเดียวกัน ซึ่งศาลอาญากรุงเทพฯใต้เคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ทั้งที่เป็นการชุมนุมจุดเดียว

อีกทั้งในประเด็นเรื่องของการไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่  ศาลแขวงจังหวัดเชียงรายเคยมีคำวินิจฉัยว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเพียงแต่ต้องแจ้ง พนักงานสอบสวนให้ทราบเท่านั้น แต่หากมีการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็ถือว่าเจ้าหน้าที่รับรู้แล้ว ซึ่งคดีนี้ตำรวจรับรู้ ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 แล้วว่ามีการชุมนุม เนื่องจากจำเลยมีการโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์  และความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะทนายคิดว่าจำเลยควรที่จะอุทธรณ์คดี เรื่องนี้ไม่ต้องการเอาชนะ เเต่ต้องการความจริง ตนเคารพคำพิพากษาศาลเเต่เคารพข้อเท็จจริงมากกว่า ส่วนอัยการจะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักกว่าเดิมหรือไม่ต้องถามทางอัยการ 

ส่วนนายพิธา กล่าวว่า จากการหารือกับจำเลยคนอื่น ว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์คดีเพราะมีประเด็น ข้อเท็จจริงเรื่องของระยะของการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อนของ 150 เมตรว่าวัดจากจุดไหน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่นๆ พร้อมระบุว่าการที่ศาลตัดสินในลักษณะนี้ ไม่ทำให้พระก้าวไกลเสียเครดิตทางการเมือง เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง ตนเองอยากโฟกัสเรื่องงานเพราะสัปดาห์หน้าจะไปสภาอภิปรายเรื่องของปัญหาการประมง


ด้านนายปิยบุตร คดีนี้มีหลายประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ต่อพร้อมเทียบเคียงกับคดีปิดสนามบิน มีผลกระทบจำนวนมากและเป็นความผิดชัดเจนแต่ศาลพิจารณาสั่งปรับคนละ 20,000 บาท ส่วนคดีการชุมนุมคดีนี้ เป็นการชุมนุมใช้ระยะเวลาไม่นานหลังเลิกชุมนุมก็มีการช่วยกันเก็บขยะ ศาลใช้ระยะเวลาอ่านคำพิพากษานานกว่าการชุมนุมดังกล่าวด้วยซ้ำสุดท้าย ถูกจำคุกถึง 4 เดือนปรับ 20,200 บาท เป็นเหตุผลที่จะต้องอุทธรณ์คดีเพื่อให้ศาลสูงพิจารณา ส่วนเรื่องความไม่เหมาะสมของกฎหมายก็อยากจะฝากให้พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขในสภาต่อไป