posttoday

ก้าวไกลตั้งคำถาม โครงการแลนด์บริดจ์ หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย กระทบสิ่งแวดล้อม

21 ตุลาคม 2566

ก้าวไกลตั้งคำถามผลกระทบและความคุ้มค่า "โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge)” ชี้ควรประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย

พรรคก้าวไกลโพส Facebook Fanpage แสดงความคิดเห็นต่อโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ  “โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge)” โดยมีเนื้อหาดังนี้

ประชาชนที่ติดตามข่าวในช่วงที่ผ่านมา คงเคยได้ยินชื่อโครงการ “แลนด์บริดจ์” (Land Bridge) หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม ที่ระบุในเว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าจะ “บูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ (ท่าเรือชุมพร กับ ท่าเรือระนอง) ให้เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย”

ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยในขณะที่ผู้เสนอโครงการได้พูดถึงประโยชน์มากมายที่ประเทศจะได้รับ แต่เหรียญมีสองด้าน อีกฝั่งหนึ่งก็ยังมีคนตั้งคำถาม และต้องการให้โครงการนี้ถูกศึกษาอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อนผู้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการ

จึงเป็นที่มาที่วานนี้ (20 ตุลาคม) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการดังกล่าว โดย สส.พรรคก้าวไกลหลายคนได้ร่วมอภิปรายสนับสนุน เพื่อให้มีการพิจารณาผลกระทบและความคุ้มค่าของโครงการอย่างรอบคอบ

ศึกษาและประเมินผลกระทบ ให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้เกี่ยวข้อง

ชุติมา คชพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายว่า จากข้อมูลล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีการตั้งกรอบเวลาไว้ว่าจะเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ให้พร้อมเปิดใช้งานภายในเดือนธันวาคม 2573 ซึ่งตนหวังว่าจะยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เพราะยังคงมีคำถามมากมายต่อโครงการนี้ แน่นอนว่าความฝันของเราคือการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ การเปิดเส้นทางขนส่งใหม่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก การสร้างงานสร้างรายได้ และการกระจายความเจริญ

แต่ความเป็นจริงยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่ เพราะยังคงมีข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่จะสูญเสียไป รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่ชาวจังหวัดระนองและชุมพรจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน อีกทั้งยังต้องศึกษาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลพลอยได้ด้วยหรือไม่ จะมีอุตสาหกรรมอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นจากโครงการนี้ หรือจะมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์อะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติมบ้าง

ข้อกังวลทั้งหมดนี้ทำให้โครงการแลนด์บริดจ์จะต้องได้รับการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกคน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหากโครงการนี้ต้องเกิดขึ้นจริงๆ

ประชาชนต้องมีส่วนร่วมประเมินสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ ศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายแสดงความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนา เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ที่กำลังจะขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก เป็นพื้นที่เปราะบางซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพันธุ์พืชหายาก ทำให้มีความเสี่ยงที่ไทยจะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินจากยูเนสโก อีกทั้งยังอาจกระทบต่อการท่องเที่ยว การกระจายรายได้ถึงชุมชน รวมถึงป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนได้ดีที่สุด

ส่วนการพัฒนาระบบท่อส่งน้ำมัน ทุกวันนี้เรายังเห็นปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเลเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลขึ้นในโครงการนี้ รัฐบาลได้วางแผนระบบการกำจัดคราบน้ำมันที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และจะมีกองทุนเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่

ส่วนการขนส่งทางบกและทางรางซึ่งต้องผ่านพื้นที่ป่า ก็ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงสัตว์ป่าด้วยการสร้างทางเดินให้สัตว์ป่าด้วย และสุดท้าย หากรัฐบาลจะมุ่งเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ควรต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) อย่างรอบด้าน โดยเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

2 รายงานเสียงแตก แลนด์บริดจ์คุ้มหรือไม่

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นข้อมูลว่า มีการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์มาแล้วหลายครั้ง เช่น รายงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ทำการศึกษาที่เพิ่งเสร็จไปเมื่อเดือนเมษายน 2565 และมีอีกงานศึกษาในปีงบประมาณ 2566 โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งทั้งสองรายงานประเมินความคุ้มค่าของโครงการออกไปสองทางแตกต่างกัน

รายงานของสภาพัฒน์ฯ ระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และไม่เหมาะที่จะลงทุน เช่นเดียวกับโครงการคลองไทยที่ไม่คุ้มค่ายิ่งกว่า ขณะที่รายงานของ สนข.กลับระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 16.18% คืนทุนภายในระยะเวลา 40-49 ปี นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่ปรากฏในมติของคณะรัฐมนตรีที่ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นอัตราการคืนทุนถึง 17.43% ภายในระยะเวลา 24 ปี

ดังนั้น การที่รายงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการศึกษามีผลขัดแย้งกันเช่นนี้มาจากสมมุติฐานของปริมาณความต้องการที่เรือขนส่งสินค้าจะเปลี่ยนเส้นทางมาใช้แลนด์บริดจ์ แทนการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา

งานของสภาพัฒน์เห็นว่าจะมีเรือมาใช้ไม่มาก เนื่องจากระยะเวลาลดลงไม่มากและมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

งานของ สนข. คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มสูง และเติบโตเทียบเท่าท่าเรือตันจุงเปเลปัสในมาเลเซีย

จึงเป็นที่มาของความจำเป็นที่สภาฯ จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาลงรายละเอียดต่อไป