posttoday

มหาดไทยเคาะ8มาตรการระยะสั้นคุมปืนตีทะเบียนแบลงค์กัน

05 ตุลาคม 2566

อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ให้กรมการปกครอง ร่างหนังสือสั่งการ 8มาตรการระยะสั้น งดออกใบอนุญาต ขึ้นทะเบียนแบลงค์กัน คุมกำเนิดร้านปืนเกิดใหม่ เจ้าหน้าที่พกได้คนละ1กระบอก นักกีฬาต้องฝากไว้ที่สนามยิงปืน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยหลังประชุมพิจารณาควบคุมการครอบครองพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน หลังเกิดเหตุกราดยิงที่พารากอนว่า ได้กำหนดมาตรการระยะสั้น คือ

1.ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ (นายอำเภอในต่างจังหวัด/อธิบดีกรมการปกครอง ใน กทม.) งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด (สำหรับผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่จะสั่งนำเข้าเพิ่มเติม) และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้า สิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก 

2. ขอให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ไปแสดงและทำบันทึกต่อ นายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้าน 

3.ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กัน และบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด ทั่วประเทศให้มีการกวดขัน ตรวจสอบ ทั่วประเทศ  

4.ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬา ระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ 
(4.1) ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้น ได้รับการอนุญาต นักกีฬาทีมชาติ
(4.2) อาวุธปืนที่ใช้ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ ไปยืมใครไม่ได้
(4.3) ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนามเด็ดขาด 
(4.4) สำหรับกรณีสนามยิงปืนในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ขอให้ดำเนินการ กวดชัน ตรวจสอบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน ซึ่งหมายถึงต้องฝากอาวุธไว้ที่สนามยิงปืน จะนำออกไปภายนอกไม่ได้

5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาต ให้มีอาวุธปืนติดตัว  

6. กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายดำเนินการโครงการอาวุธปืนสวัสดิการให้กับประชาชนทั่วไป แต่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความจำเป็นต้องใช้ สามารถพกได้คนหนึ่งกระบอกและห้ามโอน และหากเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเจ้าของปืนเสียชีวิต ปืนดังกล่าวจะตกเป็นของทายาทต่อไป 

7. ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาต สั่งนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งหมายถึงจะไม่อนุญาตให้เปิดร้านขายปืนรายใหม่เกิดขึ้นเพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชนและลดการเข้าถึงอาวุธปืนของประชาชนให้มากที่สุด ดังนั้นต่อไปจะมาอ้างเรื่องอันตรายและขอพกอาวุธปืนก็จะไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะการอนุญาตให้คนพกอาวุธปืนได้ ก็เหมือนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้น 

8.ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปราบปราม และ ปิดเว็บไชต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปีนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนตัดแปลงเป็นอาวุธปืน โดยขอให้ รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน 

สำหรับมาตรการระยะยาว 

แก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 

(1) ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้อ อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ 
(2) ความหมาย บทนิยาม ของคำว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ไม่ให้หมายความรวมถึงแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย 
(3) กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถตัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอ ต่อนายทะเบียนอาวุธปืน 
(4) ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้น จะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย 
(5) ให้ใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป. 4 ที่มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัว กับนายทะเบียน ในทุก 5-10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต เช่นเดียวกับใบขับขี่รถยนต์

นายอนุทิน ระบุว่า มาตรการระยะสั้น 8 ข้อ อธิบดีกรมการปกครองจะไปร่างหนังสือสั่งการเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด คนที่พกปืนมากกว่า 1 กระบอกก็ห้ามพกพา ห้ามเอาไปไหนมาไหน และห้ามซื้อใหม่ ใครมีก็เก็บไว้ที่บ้านและเก็บไว้ให้ดี  

“คนที่พกปืนในที่สาธารณะถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น ประชาชนในประเทศนี้ไม่สามารถที่จะพกปืนไปไหนมาไหนได้ตามสะดวกโดยอ้างว่าป้องกันตัวเมื่อฟังจากรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนที่มีใบอนุญาตหรือใบพกปืนไม่เคยมีใครทำผิดผู้ที่ก่อเหตุคือคนที่ทำผิดกฎหมายทั้งนั้น ปืนไม่ใช่ของตัวเองเป็นปืนเถื่อนถือว่าตั้งใจทำผิดกฎหมาย”