posttoday

3จว.ชายแดนใต้รอลุ้นเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯส่อใช้กฎอัยการศึกคุมแนวตะเข็บ

05 ตุลาคม 2566

ใกล้ครบ1เดือนใช้พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯคุมพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้'สุทิน'โยนครม.ตัดสินใจไปต่อหรือพอแค่นี้ ขณะที่'สมศักดิ์'ระบุรัฐบาลยังไร้ธง รอรายงานสถานการณ์ในพื้นที่รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่ขอสงวนพื้นที่ติดใช้แดนให้คงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใกล้ครบกำหนด 1 เดือนหรือไม่โดยหลักเป็นเรื่องของรัฐบาล หากมีนโยบายอย่างไร กระทรวงกลาโหมไม่ขัดข้อง ขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ไม่ต้องการที่จะต่อยาวเพราะเคารพเสียงประชาชนและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นรัฐบาลก็ทำที่จำเป็นและกระทรวงกลาโหมก็เห็นสอดคล้องกัน 

"ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์จากในพื้นที่เป็นหลัก แต่หากสถานการณ์ยังเหมือนเดิมอยู่ก็จำเป็นต้องต่ออายุ หากสถานการณ์ดีขึ้นก็ไม่ต้องต่อ หลักคิดบนพื้นฐานเพียงเท่านี้" นายสุทิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสุทินให้ความเห็นว่า กรณีไม่มีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครื่องมือพิเศษที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ในพื้นที่โดยเฉพาะตามแนวชายแดนคือกฎอัยการศึกแต่ประชาชนจะรับได้หรือไม่ 

ก่อนนี้เมื่อวันที่ 18กันยานยน2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือนมีการมอบหมายให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) มีอำนาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จัดแนวทางการดำเนินงานให้เร็วและรัดกุมยิ่งขึ้น

ส่วนท่าที นายสมศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่3ตุลาคม 2566 ว่า ยังไม่มีธง ยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่ขอสงวนพื้นที่ที่ติดชายแดนในการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาก่อน

ผลการขยายการใช้กฎหมายพิเศษเพียง 1 เดือน พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับว่า มีผลกระทบต่อการทำงานของทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ โดยเฉพาะการติดตามคดีความมั่นคง แต่ถ้าจะยกเลิกก็ต้องปรับสภาพการทำงานให้ได้ โดยมีการแจ้งเหตุผลให้รัฐบาลรับทราบในข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือต่อทีละ 1 เดือน 3 เดือน หรือถ้าคงไว้บางพื้นที่ก่อน จะเป็นอย่างไร จากนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลตัดสินใจ

พร้อมระบุอีกว่า ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมีแผนเตรียมการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในบางอำเภอทุกปีอยู่แล้ว ปัจจุบันก็ยกเลิกไปเกือบครึ่งทาง จากทั้งหมด 37 อำเภอ ซึ่งก็มีเหตุกลับมาอีกบ้าง แต่ไม่รุนแรงนัก

อ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ มองว่า น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับที่พรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ และคงต้องชัดเจนมากขึ้น ว่าพื้นที่ไหนจะกลับไปใช้กฎหมายปกติ พื้นที่ไหนอาจต้องคงกฎหมายพิเศษไว้ก่อน แต่ก็มองว่าตำรวจยังต้องการ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อขยายผลการควบคุมตัว การสืบสวนสอบสวน และในฐานะที่เคยร่วมร่างกฎหมายความมั่นคงมา เห็นว่า ถ้ารัฐต้องการใช้กฎหมายนี้แทนจริงๆ ก็อาจต้องแก้ไขปรับปรุงให้สอดรับกับการปฏิบัติงาน เพราะดูจะใช้งานยากกว่า โดยนำเอาส่วนดีของกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมเข้าไปด้ว

อ.ปณิธาน ยังบอกด้วยว่า พ.ร.บ.มั่นคง มีอยู่ 2 ส่วนคือ ที่บังคับใช้ปกติ กับอีกส่วนที่ต้องทำแผนเพื่อประกาศพื้นที่ จริงๆ ก็คล้ายกับการทำงานของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เจ้าหน้าที่อาจไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั่นเอง

ส่วนฝั่งของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะใช้กฎหมายอะไร เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอภิสิทธิ์ หรือสิทธิพิเศษใดๆ เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน ทำผิดก็ถูกฟ้องร้อง แต่ต้องยอมรับว่า ผลสัมฤทธิ์จากการใช้กฎหมายพิเศษนั้นมีอยู่จริง และใช้ได้ผลในการขยายความเชื่อมโยงของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่