posttoday

'วัชระ'ชนะคดี'เรืองไกร'ปมฟ้องเท็จ-เบิกความเท็จ ศาลชี้ใช้สิทธิโดยสุจริต

12 กันยายน 2566

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง"วัชระ เพชรทอง"คดี"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ"กล่าวหา ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ ชี้ใช้สิทธิโดยสุจริตตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เวลา 10.15 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้พิพากษาศาลอาญานั่งบัลลังก์ 909 อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ 331/2564 คดีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะโจทก์ ฟ้องนายวัชระ เพชรทอง จำเลย ข้อหาฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ อันเนื่องมาจากพ.ร.บ.คำสั่งเรียกให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมาให้การเรื่องชายชุดดำ ศาลพิพากษายกฟ้อง
 

ตอนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ ศาลแขวงดอนเมืองพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ 8 เดือน ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2563 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จในคดีอาญาตามฟ้องหรือไม่
 

นางสาวศกิมินาภรณ์ สุวรรณรงค์ และนางสาวชิดชนก ภู่รินันท์ เป็นข้าราชการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ในขณะนั้น มิได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายใดเชื่อว่าเบิกความตามความเป็นจริงว่า ขณะลงมติมีคณะกรรมาธิการครบถ้วนตามกฎหมายแล้วมิใช่เป็นการใช้อำนาจเป็นการเฉพาะตัว อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแต่อย่างใด จำเลยจึงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรองประธานกรรมาธิการกรณีออกหนังสือหรือคำสั่งเรียกนายธาริตเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย 

จำเลยเบิกความว่า โจทก์เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับจำเลย และในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์ย่อมทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์สมคบกับนายธาริตโดยแบ่งหน้าที่กันกลั่นแกล้งเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของจำเลย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยโดยมิพักต้องคำนึงถึงขนาดว่าต้องมีพยานยืนยันตัวโจทก์รู้เห็นกับนายธาริตหรือไม่ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่อาจทำให้จำเลยต้องเข้าใจเช่นนั้นได้ การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาต่อโจทก์ และนายธาริต จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อปกป้องการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย 

ซึ่งการฟ้องเท็จคือการนำเอาความเท็จอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญาที่เป็นเท็จมาฟ้อง มิใช่ถือเอาผลแพ้ชนะแห่งคดีมาเป็นข้อชี้ขาด แม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ก็หาใช่หลักฐานแห่งการฟ้องเท็จไม่ นอกจากนี้ไม่ปรากฏจำเลยรู้ว่าข้อความที่ฟ้องและเบิกความนั้นเป็นเท็จ แต่ได้บรรยายฟ้องและเบิกความตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และที่ปรากฏจากเอกสารราชการภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งยกคำร้อง อันเป็นการใช้สิทธิป้องกันตนและส่วนได้เสียของตน

ฉะนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญากล่าวหาโจทก์ว่าแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและหมิ่นประมาท จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามกฎหมาย หาใช่แกล้งกล่าวหาโจทก์ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ
ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การที่จำเลยเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จด้วย
พิพากษายกฟ้อง

นายวัชระ กล่าวว่า ขอบคุณนายเรืองไกรที่ฟ้องคดี ทำให้ได้ใช้สิทธิขอเอกสารจากหน่วยราชการต่างๆนำไปส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กรณีนายเรืองไกรถูกร้องเรียนว่าเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้คุยโม้โอ้อวดว่าได้รับรถเบนซ์จากผู้ใหญ่ใจดี 2 คันซ้อน ๆ สีดำ 1 คัน สีขาว 1 คัน แต่ปรากฏว่าจดทะเบียนในชื่อนายเรืองไกรเพียง 1 คัน อีก 1 คันจดทะเบียนในชื่อของบุคคลใด นายเรืองไกรกล้าเปิดเผยหรือไม่อย่างนี้ซุกทรัพย์สินหรือไม่ ปปช. ต้องรีบสรุปสำนวนได้แล้วขอความกรุณา ปปช. อย่าได้ประวิงเวลา.

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษา คดี อ.240/2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โจทก์ฟ้องนายวัชระ เพชรทอง จำเลย ข้อหาฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ ศาลพิพากษายกฟ้องเช่นกัน