posttoday

ส่องกระแสโซเชียลในสมรภูมิเลือกตั้ง66

22 พฤษภาคม 2566

การหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง66 ที่ผ่านมา นอกจากการลงพื้นที่แล้ว โซเชียลมีเดียถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บริบทของการเมืองไทยได้เปลี่ยนไปมาก ซึ่งจากการสำรวจพบว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มียอด Engagement เกี่ยวกับการเลือกตั้งสูงสุด ถึง 63%

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์จากการฟังเสียงประชาชนในสังคมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม DXT360 โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2566 พบว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีการพูดถึงการเลือกตั้งผ่านแพลตฟอร์ม TikTok สูงถึง 297,603,177 ครั้ง ทั้งจากการกล่าวถึง (Mention) และ การมีส่วนร่วม (Engagement) หรือคิดเป็น 63% ตามมาด้วย Facebook 18%, Twitter 15%, Instagram 3% และ YouTube 1%

ส่องกระแสโซเชียลในสมรภูมิเลือกตั้ง66

เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ แม้ว่าTikTok จะมีจำนวนการกล่าวถึง (Mention) น้อยที่สุด แต่การมีส่วนร่วมหรือยอด Engagement กลับสูงที่สุด ทั้งจากการกด Like, กดแชร์คลิปวิดีโอ รวมถึงการแสดงความคิดเห็น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพื้นที่บน TikTok เปรียบเสมือนทำเลทองที่ช่วยให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถประชาสัมพันธ์นโยบายตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ ช่องทาง Facebook ผู้คนนิยมเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและกด react จากสื่อสำนักข่าวต่าง ๆ เป็นหลัก ส่วน Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการกล่าวถึง (Mention) ในสัดส่วนที่มากที่สุด เนื่องจากผู้ใช้นิยมแสดงความคิดเห็นผ่านการทวีตซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าช่องทางอื่น ๆ เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการติดตามข่าวสารและรายงานสถานการณ์สดอย่างรวดเร็ว

ทางฝั่ง Instagram ที่ตามมาเป็นอันดับ 4 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเด่นในเรื่องการโพสต์รูปภาพ ไม่ค่อยตอบโจทย์ผู้ใช้งานในช่วงการเลือกตั้ง66 มากนัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในส่วนของ การปราศรัย หรือการดีเบตผ่านเวทีต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมในการรับชมผ่านวิดีโอ

ส่วนอันดับสุดท้ายตกเป็นของ YouTube ที่ถึงแม้จะเป็นช่องทางหลักในการรับชมสื่อวิดีโอ แต่การขยายตัวด้านสื่อวิดีโอและคลิปสั้นของ Facebook และ TikTok ที่รุกคืบขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนไม่นิยมจดจ่ออยู่กับการดูคลิปยาวๆ ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดูมากกว่า

ส่องกระแสโซเชียลในสมรภูมิเลือกตั้ง66

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่กระแสดีและได้รับความสนใจมากที่สุดโดยเฉพาะกระแสบนโซเชียลหนีไม่พ้น”พรรคก้าวไกล” ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคภูมิใจไทย และ พรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่รายชื่อแคนดิเดตนายกคนที่ 30 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นำโด่งมาเป็นอันดับ 1 จากการถูกกล่าวถึงและได้รับความสนใจมากที่สุดบนโซเชียล ตามมาด้วยประยุทธ์ จันทร์โอชา, เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร และ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามลำดับ

ส่องกระแสโซเชียลในสมรภูมิเลือกตั้ง66

นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว แฮชแท็กที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดคือ #เลือกตั้ง66 ตามมาด้วย #พรรคก้าว และ #เลือกตั้ง2566 ขณะเดียวกันแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม-ต้องติดคุก ยังถูกกล่าวถึงทะลุ 22,996.08% เมื่อเทียบกับช่วง 30 วันที่ผ่านมา จากการที่ประชาชนให้ความสนใจจับตาการทำงานของ กกต. เป็นพิเศษ เนื่องจากมีความไม่เชื่อมั่นเกิดขึ้น 

ส่องกระแสโซเชียลในสมรภูมิเลือกตั้ง66

จากข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ว่ากระแสความตื่นตัวของคนไทยที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนแปลง จึงมีการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนบนสังคมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางต่าง ๆ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า เสียงบนโซเชียลที่มีต่อความนิยมชื่นชอบในตัว ‘พิธา’ และ พรรคก้าวไกล ได้แปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงจริงให้แก่พรรคก้าวไกลจนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้