posttoday

หมอยง เผยโควิด 19 ปรับเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล

04 พฤษภาคม 2566

เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ RSV ไข้หวัด rhinovirus โรคประจำฤดูกาลดังกล่าวจะสร้างปัญหาได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง อายุมาก มีโรคประจำตัวและเด็กเล็ก

หมอยง หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

หมอยง เผยโควิด 19  ปรับเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล

3 พฤษภาคม 2566

โรคโควิด 19  ได้ปรับเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ RSV ไข้หวัด rhinovirus

โรคประจำฤดูกาลดังกล่าวจะสร้างปัญหาได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง อายุมาก มีโรคประจำตัวและเด็กเล็ก เห็นได้ชัดจากไข้หวัดใหญ่ RSV

เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก เช่นเป็นปีนี้แล้วปีต่อไปหรืออีก 2 ปีต่อไปก็เป็นได้อีก แต่ถ้าร่างกายแข็งแรงความรุนแรงก็น้อย

ไข้หวัดใหญ่ถึงแม้จะมีวัคซีน ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดี จึงยังคงมีการระบาดทุกปีและมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปตลอดเช่นเดียวกับโควิด 19  เมื่อเป็นแล้วก็ยังเป็นซ้ำได้อีก โดยทั่วไปการเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ความรุนแรงจะลดลงยกเว้นในกลุ่มเปราะบาง RSV ความรุนแรงจะพบได้ในการเป็นครั้งแรกในเด็กขวบปีแรก หรือเด็กเล็กและปีต่อๆไป ความรุนแรงก็จะลดลง และจะไปพบความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

ฤดูกาลที่เป็นประเทศที่มีฤดูหนาว เช่น ซีกนอกเหนือและซีกโลกใต้ก็จะพบมากในฤดูหนาว ประเทศไทยไม่มีฤดูหนาวที่ชัดเจน มีร้อนมากกับร้อนน้อย จึงพบโรคได้เกือบตลอดทั้งปี แต่จะพบสูงสุดในฤดูฝนตั้งแต่ปลายพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน

โรคทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ RSV โควิด 19  ไวรัสก็มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปตลอดเช่นเดียวกัน เพื่อหลบหลีกภูมิต้านทานเดิม และทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำใหม่ได้ แต่ถ้าร่างกายแข็งแรงดีความรุนแรงก็จะน้อยหรือไม่มีอาการ

การดูแลร่างกาย ให้แข็งแรง สุขอนามัย ป้องกันการติดเชื้อและลดการระบาดของโรค รวมทั้งการให้วัคซีนป้องกันในกลุ่มเสี่ยงและเปราะบางจึงเป็นวิธีการที่จะลดความสูญเสียของโรคดังกล่าว แต่ขณะเดียวกัน RSV ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันถึงแม้จะมีการได้พยายามพัฒนากันมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ หมอยง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 2 พฤษภาคม 2566 โรคโควิด 19  ได้ปรับตัวเป็นโรคประจำฤดูกาล และสำหรับประเทศไทยจะเริ่มระบาดเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงนักเรียนเปิดเทอมแรก และในปีนี้ประกอบกับมีการหาเสียงเลือกตั้ง มีการรวมคนหมู่มาก โอกาสที่จะแพร่กระจายได้มาก โรคจะพบมากขึ้น ในปลายเดือนนี้หลังเลือกตั้ง และนักเรียนเปิดเทอมแล้ว

สำหรับสายพันธุ์ที่พบขณะนี้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็น XBB โดยเฉพาะ XBB.1.5 ได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ที่ระบาดตั้งแต่ต้นปีมาคือ BA.2.75 แล้ว แต่สายพันธุ์ทั้งหมดก็ยังเป็นลูกหลานของ โอมิครอน โดยที่สายพันธุ์ไหนติดได้ง่ายกว่า หลบหลีกภูมิต้านทานได้เก่งกว่าก็จะเข้ามาแทนที่ สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว XBB.1.16 ก็ยังพบน้อยมาก

ทุกสายพันธุ์ที่กระจายทั่วโลกขณะนี้ ความรุนแรงของโรคลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม (มากกว่า 90%) ผู้ที่เป็นรุนแรงหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงหรือที่เราเรียกว่า 608

วัคซีนที่มีอยู่ขณะนี้ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ดังนั้นกลุ่มเสี่ยง เปราะบาง  ควรจะได้รับวัคซีนป้องกัน และให้ถือเป็นวัคซีนประจำฤดูกาลที่จะต้องฉีดก่อนเข้าสู่ฤดูฝนคือในเดือนนี้ เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถให้พร้อมกันได้โดยฉีดกันคนละตำแหน่งหรือคนละข้างแขน

วัคซีนที่ใช้อยู่ขณะนี้ถ้าเป็น mRNA วัคซีน จะเป็นชนิด 2 สายพันธุ์ bivalent คือสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น รวมกับ โอมิครอน ที่ใช้อยู่ในบ้านเราถ้าเป็นไฟเซอร์ก็จะเป็น BA.1 ส่วนของ Moderna ก็จะเป็น BA.5 โดยของ Moderna จะมีปริมาณ RNA เพียงครึ่งหนึ่ง (50 mcg) ของวัคซีนสายพันธุ์เดี่ยวที่เราเคยใช้ในอดีต (100 mcg)

ในบุคคลที่แข็งแรงดีและมีอายุน้อยกว่า 60 ปี การฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ เพราะความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่ากลุ่มเสี่ยง 608

ในที่สุดในระยะเวลาอันใกล้นี้เชื่อว่า องค์การอนามัยโลกคงจะเลิกนับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อ เพราะตัวเลขที่รายงานเข้าสู่องค์การอนามัยโลก ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก รวมทั้งของประเทศไทยก็ไม่ได้นับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อแล้ว นับเฉพาะผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผู้ที่เสียชีวิต จำนวนผู้ที่ติดเชื้อมีมากกว่าจำนวนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายสิบเท่า

นอกจากนี้ หมอยง ยังได้ตอบคำถามคาใจแฟนข่าว "โควิด 19  ควรฉีดวัคซีนหรือไม่ เป็นคำถามบ่อย"อ้างอิงจากโพสต์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566 ว่า 

สถานการณ์ชั่วโควิด 19 มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้เข้าปีที่ 4  เริ่มต้น ความรุนแรงของโรคสูง จึงจัดว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เราแย่งหาว่าวัคซีน ต่อมาเมื่อความรุนแรงของโรคลดลง ในอีก 2 ปีต่อมาก็เปลี่ยนเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และในปัจจุบันนี้โควิด 19 ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นโรคประจำฤดูกาล

การให้วัคซีนก็ปรับเป็นการให้วัคซีนแบบโรคประจำฤดูกาล จะให้ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลของโรค และจะปรับเป็นปีละครั้งเช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ ฤดูกาลของโรคที่จะมีการระบาดเพิ่มสูงขึ้น ในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน เช่นซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ที่มีฤดูหนาว การระบาดของโรคก็จะเกิดขึ้นในฤดูหนาว

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ถึงแม้ว่าจะอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร แต่ก็ไม่มีฤดูหนาวที่แท้จริง มีร้อนมาก กับร้อนน้อย การระบาดของโรคในประเทศไทยจึงพบได้ตลอดปี แต่จะพบสูงสุดในต้นฤดูฝน หรือการเปิดเทอมแรกของนักเรียน
วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดโรคได้เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่

แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ การให้วัคซีนจึงมุ่งเน้นในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง 608 ผู้คนที่อยู่หนาแน่นเช่นในเรือนจำ เรือนทหาร และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงติดทั้งโรคง่าย ควรให้ตามฤดูกาลปีละ 1 ครั้ง

เวลาที่เหมาะสมในการให้วัคซีนสำหรับประเทศไทย ก็คือก่อนที่จะมีการระบาดของโรคที่จะเกิดขึ้นในการเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ดังนั้นเวลาที่ให้วัคซีนที่เหมาะสมประจำปีจึงเป็นปลายเดือนเมษายน พฤษภาคม ของทุกปี

ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนมานานแล้วเกินกว่า 3-6 เดือนขึ้นไป และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรให้วัคซีนประจำฤดูกาลปีละ 1 ครั้ง ในปีนี้สามารถเริ่มให้ได้เลยก่อนที่จะมีการระบาดของโรค โดยใช้สายพันธุ์ที่ใกล้เคียงที่สุดที่มีอยู่ แล้วค่อยไปให้ปีหน้าอีก 1 ครั้ง ทุกอย่างก็จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่

ในคนปกติก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจเช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มเปราะบางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อลดความรุนแรงของโรค
 
อ้างอิงบทความชุดนี้ ย้อนไปเมื่อ 12 ธันวาคม 2565  หมอยง หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

โควิด 19 บทเรียนที่ได้จากเวลาผ่านไป 3 ปี (ล่าสุด ในวันนี้เราก้าวสู่โควิดปีที่ 4)
หยิบยกนำมาเสิร์ฟให้คอข่าวชาวเนชั่นออนไลน์ ได้ย้อนอ่าน ได้ทบทวนทุกความทรงจำร้ายๆ ที่ไม่น่าจดจำสักนิด เกี่ยวกับวายร้ายโควิด-19 โควิดโอมิครอน ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย 

จากระยะเวลาที่ผ่านมา 3 ปี เราได้เรียนรู้ เกี่ยวกับโรคโควิด 19 และเปลี่ยนแปลงความเข้าใจมากขึ้น ดังนี้

1.โรคโควิด 19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ การติดเชื้อซ้ำ หรือมีอาการของโรคซ้ำ เกิดขึ้นได้ เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ RSV ไม่เหมือนกับโรคหัด ตับอักเสบ เอ สุกใส ที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานป้องกันโรคตลอดชีวิต

2.ภูมิคุ้มกันหมู่ที่มีการพูดกันมาก ในระยะแรก เพื่อหวังจะยุติการระบาดของโรค ไม่สามารถใช้ได้กับ covid-19 ถึงแม้ว่าประชาชนเกือบทั้งหมดมีภูมิต้านทาน โรคก็ยังเกิดอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้หายไปไหน

3.โรคโควิด 19 จะเป็นโรคตามฤดูกาล สำหรับประเทศไทยจะมีจุดสูงสุดของการระบาดในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และช่วงที่ 2 ในกลางเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะน้อยกว่าในช่วงแรก

4.ความหวังที่จะใช้วัคซีนในการยุติการระบาดของโรค หรือควบคุมการระบาด อย่างในปีแรกที่คาดหวัง จึงไม่สามารถใช้ได้

5.วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่มีวัคซีนตัวไหนเป็นวัคซีนเทพ อย่างที่ตอนแรกทุกคนเรียกร้อง วัคซีนทุกตัวไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรคลง ลดอัตราการเสียชีวิต

6.ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน ไม่ว่าจะสูงต่ำที่ตรวจวัดกัน ไม่สามารถที่จะมาป้องกันการติดเชื้อได้ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจวัดภูมิต้านทาน ยกเว้นในการศึกษาวิจัยเท่านั้น

7.การดูแลที่สำคัญคงจะต้องเน้นกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการเสียชีวิตด้วยวัคซีน ต่อไปจะต้องเน้นกลุ่มเปราะบางเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่

8.การตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ ปัจจุบันใช้เพียง ATK ก็เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีความไวต่ำกว่า realtime RT -PCR ด้วยข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลา เราหมดเงินไปมากแล้ว

9.สิ่งสำคัญที่ต่อไปจะเน้นการรักษาในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการใช้ยาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นไปได้ต้องการที่ดีกว่าในปัจจุบัน การศึกษาในประชากรกลุ่มเล็กส่วนใหญ่จะได้ผลดี แต่เมื่อมาใช้จริงกับบมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการศึกษา เช่นเดียวกันกับวัคซีน การทดลองได้ผลดีแต่เมื่อใช้จริงประสิทธิภาพน้อยกว่าการทดลองมาก

10.ระยะเวลาการกักตัว น้อยลงมาโดยตลอด ระยะแรกต้องเข้มงวดเรื่องการแพร่กระจายให้เป็นศูนย์ แต่ปัจจุบันโรคติดต่อง่าย จึงใช้มาตรการเข้มงวดและระเบียบวินัย การกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ใช่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้ว โรงพยาบาลจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากเท่านั้น เหมือนในภาวะปกติ

11.ในอนาคตเมื่อประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อ ก็จะเกิดภูมิต้านทานแบบลูกผสม จะมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี การฉีดวัคซีนบ่อย จะไม่มีความจำเป็น ไวรัสเองก็จะเปลี่ยนพันธุกรรมไปเรื่อยๆ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

12.กลุ่มประชากรที่ยังไม่มีภูมิต้านทานหรือไม่เคยติดเชื้อและไม่เคยได้รับวัคซีนเลย จะเป็นกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด ขึ้นไป จนกว่าจะได้รับวัคซีนหรือการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อในวัยเด็ก ความรุนแรงน้อยกว่าในวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ในวัยเด็กช่วง 6 เดือนแรก จะได้รับภูมิบางส่วนส่งต่อจากมารดา เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไปเช่น RSV และก็จะเริ่มไปติดเชื้อหลัง 6 เดือนไปแล้ว

13.ระยะเวลาต่อไป ชีวิตก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และโรคนี้ก็จะเป็นโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆที่เกิดจากเชื้อไวรัส

14.ทุกชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป และเชื่อมั่นว่า ความรุนแรงของโรคมีแนวโน้มที่จะลดลงเหมือนกับโรคทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่ RSV

15.องค์ความรู้ใหม่ด้วยงานวิจัย ยังจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ความรู้นั้นในบริบทของประเทศไทย