posttoday

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ถอดบทเรียนซีเซียม-137 จี้หน่วยงานรัฐรายงานผลตามจริง

22 มีนาคม 2566

“ดร.เอ้ สุชัชวีร์”ถอดบทเรียน ซีเซียม-137 เป็นอันตรายถึงตาย สะท้อนคุณภาพชีวิตคนไทยขาดการดูแล แนะทุกโรงงานที่มีวัตถุอันตรายต้องมีมาตรฐานตรวจสอบ ยึดความปลอดภัยต้องมาก่อน หน่วยงานรัฐต้องรายงานผลอย่างซื่อตรง

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566  ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เอ้ สุชัชวีร์” ต่อกรณีกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนไปพบที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ว่า เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนชัด ถึง "ปัญหาคุณภาพชีวิตคนไทย" ที่ขาดการดูแล ใส่ใจ ทั้งที่เป็นเรื่องอันตรายถึงชีวิตคน

จึงได้ถอดบทเรียนและเรียนรู้ เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รูปแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต 

 
1. "ต้องมีมาตรฐาน ต้องรัดกุม และต้องเข้มงวด" กับวัตถุอันตราย
จากรายงานข่าวคาดว่าวัสดุอันตรายได้มีการสูญหายจากโรงงานก่อนหน้าที่มีการแจ้งหลายวัน แสดงให้เห็นถึงการดูแลความปลอดภัย และ ตรวจสอบวัสดุอันตรายในโรงงานแห่งนั้นยังมีปัญหา ขาดการตรวจเช็คเป็นประจำ มีช่องโหว่ด้านการรักษาความปลอดภัย จนวัสดุกัมมันตรังสี สูญหายออกจากโรงงาน และโรงงานยังไม่ได้แจ้งวัสดุกัมมันตรังสีสูญหายโดยทันที ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ 

2. “ความปลอดภัยต้องมาก่อนเสียที” 
เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำเดิมอีก ทุกโรงงานที่มีการครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี หรือ วัสดุอันตรายอื่น ๆ ควรมีการตรวจสอบ และดูแลวัสดุอันตรายให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อวัสดุอันตรายถ้าเกิดสูญหายไป อาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ และชีวิตของประชาชนโดยรอบได้ 

3. "กระบวนการทำงานของโรงงานไทย ต้องยึดหลักสากลอย่างเคร่งครัด" 
มีการคาดการณ์กันว่าฝุ่นโลหะที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่คาดว่ามาจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายไป ได้ถูกหลอมในโรงงานหลอมแห่งหนึ่งที่เป็นโรงงานระบบปิด เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจ จึงตรวจพบกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนกับฝุ่นโลหะที่โรงงานหลอมได้รวบรวมใส่ถุงไว้

ถึงแม้ว่าโรงงานหลอมเป็นระบบปิด แต่แสดงให้เห็นถึงมาตรการการตรวจสอบวัตถุที่เป็นอันตรายก่อนการหลอมโลหะในประเทศยังบกพร่อง โรงงานบางแห่งไม่ได้มีเครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ตรวจจับกัมมันตรังสีก่อนการหลอม อย่างมีมาตรฐานสากล

ตรงจุดนี้อาจจะสร้างอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเด็ก ถ้ามีเหตุการณ์ซ้ำเดิม ฉะนั้นควรมีมาตรการตรวจสอบวัตถุดิบในโรงงานหลอมโลหะที่รัดกุมมากกว่านี้ 

4. "หน่วยงานรัฐต้องรายงานผลอย่างซื่อตรง ชัดเจน ไม่หมกเม็ด"
ประชาชนทุกคนรวมถึงตัวผม ต่างกังวลถึงอันตรายจากกัมมันตรังสี แม้จะมีรายงานออกมาว่ากัมมันตรังสีไม่ได้ฟุ้งกระจายออกมาเนื่องจากโรงงานเป็นระบบปิด และยังกังวลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ปริมาณกัมมันตรังสีตกค้าง หรือ การกระจายตัวของฝุ่นกัมมันตรังสีออกมาโดยรอบ การรายงานข้อมูลที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และน่าเชื่อถือ จะช่วยให้ประชาชนคลายกังวลได้ 

5. "กัมมันตรังสี และนิวเคลียร์ อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด" แต่เราควรจะเรียนรู้เพื่อใช้งานอย่างปลอดภัย 
ปัจจุบันวัสดุกัมมันตรังสี อยู่ใกล้กับตัวเรา มีหลายอย่างที่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์เป็นอย่างมาก ฉะนั้นเราจึงควรเรียนรู้เพื่อใช้งานได้อย่างปลอดภัย ยกตัวอย่าง เครื่องเอกซเรย์ เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งในโรงพยาบาล การใช้ธาตุกัมมันตรังสีในการตรวจหารอยตำหนิในอุตสาหกรรม หรือ การฉายรังสีเพื่อถนอมอาหาร 

“เราจึงควรศึกษาและเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์จากกัมมันตรังสี และนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย ปรับปรุงมาตรการและกฎหมายให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ผมจึงตั้งใจ ขอเป็นหนึ่งกำลังให้ท่าน ไปแก้ไขเรื่องเหล่านี้เสียที อย่าให้ชีวิตของลูกหลานเรา แขวนไว้บนเส้นด้าย ที่กำลังจะขาดแบบนี้เลย”