พ.ต.ท.มานะพงษ์เลื่อนให้ข้อมูลเพิกถอนหมายจับส.ว.คนดัง
พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เผย “พ.ต.ท.มานะพงษ์” เลื่อนให้ข้อมูลถอนหมายจับ ส.ว.พันคดียาเสพติด ย้ำหากพบผิด ไม่มีการละเว้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ส่วน ผบก.ปส.3 เข้าให้ข้อมูล 22 มี.ค.ตามกำหนดเวลาเดิม
ภายหลัง พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือเชิญ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สน.พญาไท เข้าให้ข้อมูลรายละเอียด ในกรณีเอกสารเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นหนังสือชี้แจงของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ต่อคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ จำนวน 7 หน้ากระดาษ
โดยมีเนื้อความกล่าวถึงกรณี เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2565 ที่ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้ไปยื่นขอหมายจับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และการฟอกเงิน ต่อศาลอาญา ซึ่งในครั้งแรกศาลได้ออกหมายจับ แต่ต่อมาได้เรียกให้ พ.ต.ท.มานะพงศ์ ไปพบ และได้มีการถอนหมายจับไปในวันเดียวกัน
ตลอดจนมีการพาดพิงไปถึง นายตำรวจระดับสูง และผู้พิพากษาระดับสูง ของศาลอาญา จำนวนหลายคน รวมถึงในหนังสือชี้แจงยังได้กล่าวถึงการที่ภายหลังจากที่ได้มีการเพิกถอนหมายจับแล้ว ในวันรุ่งขึ้น พ.ต.ท.มานะพงษ์ ยังได้นำเอกสารพยานหลักฐานไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปส.3 บช.ปส. เพื่อให้ดำเนินคดีกับ ส.ว. คนดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินคดีกับ ส.ว. แต่ประการใด
จนต่อมา พ.ต.ท.มานะพงษ์ และตำรวจ กก.2 บก.สส.บช.น.ที่ทำการสืบสวนในเรื่องดังกล่าวก็มีคำสั่งโยกย้ายออกไปนอกสังกัดทั้งหมด โดยเชื่อว่า เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวอีกต่อไป
โดยหลังจากที่เอกสารฉบับดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไป เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหลายแง่มุม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ทราบเรื่องแล้วสั่งการให้ พล.ต.อ.วิสนุ จเรตำรวจแห่งชาติ เข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวทันที พล.ต.อ.วิสนุ จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการในส่วนของจเรตำรวจเพื่อทำการตรวจสอบ และมีหนังสือเชิญ พ.ต.ท.มานะพงษ์ เข้าให้ข้อมูลในวันจันทร์ที่ 20 มี.ค.2566 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงาน จตช. อาคาร 1 ตร.
ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อถึงเวลานัดหมายไม่พบว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้เดินทางมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด จึงได้สอบถามไปยัง พล.ต.ต.เจนกมล คำนวล ผู้บังคับการกองตรวจราชการ 8 สำนักงานจเรตำรวจ ซึ่งเป็นกรรมการ และเลขานุการของคณะกรรมการดังกล่าว ได้เปิดเผยว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้ทำหนังสือมาขอเลื่อนการเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการโดยเหตุผลว่า เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการเตรียม ซึ่งขอเลื่อนการเข้าให้ข้อมูลเป็นวันที่ 28 มี.ค. 2566 ซึ่งทางคณะกรรมการ ก็ไม่ได้ขัดข้อง
พล.ต.ต.เจนกมล ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของจเรตำรวจแห่งชาติ ตามคำสั่งของ ผบ.ตร. ในเรื่องนี้นั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อจะเอาผิดกับ พ.ต.ท.มานะพงษ์ แต่อย่างใด แต่เป็นการตั้งขึ้นมา เพื่อที่จะตรวจสอบให้ได้ความจริง และให้ได้รายละเอียดเพิ่มเติมจากที่ปรากฏในเอกสารที่ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ชี้แจงต่อคณะกรรมการตุลาการไป
ซึ่งหากมีพยานหลักฐานพาดพิงไปถึงข้าราชการตำรวจคนใดว่า กระทำผิดทางวินัย หรือทางอาญา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างไรแล้ว คณะกรรมการก็จะทำรายงานสรุปเสนอ ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
สำหรับกรอบระยะเวลา ในการตรวจสอบที่กำหนดให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่านั้น ก็จะขออนุมัติขยายเวลาออกไปอีก อีกทั้งเพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกๆ ประเด็นเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งพล.ต.อ.วิสนุ ก็ได้เน้นย้ำกับคณะกรรมการว่า จะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา หากพบพยานหลักฐานบ่งชี้ว่ามีผู้ใดกระทำผิดก็จะไม่มีการละเว้นอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม สำหรับ ผบก.ปส.3 ที่คณะกรรมเชิญมาให้ข้อมูลในวันที่ 22 มี.ค.66 นั้น ยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม