posttoday

นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี

16 กุมภาพันธ์ 2566

ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆได้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานสัมมนา ‘อนาคตประเทศไทย : SME จะไปทางไหน?’ กับหัวข้อ ‘นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี’ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม Renaissance Bangkok Ratchaprasong Hotel ในวันที่ 15 ก.พ. 2566

นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงต้นไม้พิษ 3 ต้นที่เกาะกินและทำให้ศักยภาพ SME ของไทยไปในต่อไม่ได้ซึ่งได้แก่ ต้นเงิน ต้นทุน และต้นตอ ปัญหาของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME คำตอบที่เรามักได้ยินจนคุ้นหูนั่นคือการใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นแค่ปลายทาง เราไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า  SME คือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็ไม่อยากปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่มีความเสี่ยง เราขาดกลไกตรงกลางที่ดูดซับความเสี่ยงของ SME รับงบประมาณจากภาครัฐ และส่งต่อเป็นสินเชื่อความเสี่ยงต่ำสู่ธนาคารพาณิชย์ กลไกตรงกลางนี้มีชื่อว่า ‘การค้ำประกันสินเชื่อ’ นี่คือบทบาทของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าไปยกเครื่อง ยกระดับ

ขณะที่เรื่องต้นทุน ปัจจุบันเราแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยที่ครัวเรือนจ่ายถูกกว่าภาคธุรกิจ เนื่องจากมีความเปราะบางและรัฐบาลต้องดูแล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า SME ต้องเป็นคนที่เดือดร้อนและรับผิดชอบด้านนี้

ส่วนเรื่องของต้นตอ เรื่องแรกคือเรื่องการแข่งขันซึ่งโยงไปถึงการผูกขาด เราไม่เห็นด้วยกับการทุบทุนใหญ่ให้ตายเพื่อให้ทุนเล็กได้เกิด วิธีนี้โดยภาพรวมทำลายเศรษฐกิจ วิธีแก้ปัญหาการผูกขาดควรสร้างเวทีคู่ขนานให้ทั้งคู่ได้มีเวทีเล่น ด้วยกฎหมายที่แตกต่างกัน สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน และพื้นที่ที่แตกต่างกัน นี่ต่างหากที่จะทำให้ SME และรายใหญ่เดินไปด้วยกันได้

นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ หัวหน้าทีมนโยบายการเมืองและเครือข่าย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า โครงสร้างของรัฐฯที่จะผลักนโยบายมันผิดเพี้ยน ถ้าพรรคพลังประชารัฐเข้าไปดูแล SME รอบนี้ จะเสนอให้แปรบทบาทของสสว. สิ่งที่สสว.ต้องทำทุกวันนี้คือเป็น Masterplan ทาง policy และจัดสรรงบประมาณที่จะเข้าไปขับเคลื่อนวงการ SME ทั้งหมด

“คงปฎิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ SME จะเดินไปข้างหน้าได้ เราต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital transformation อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่อง Online Platform หรือ Technology แต่เป็นเรื่องของ Mindset นอกจากนี้เราต้องพัฒนาบุคลากรที่จะรองรับใน SME  20 ปีผ่านไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เป็นดิจิทัลแล้ว แต่ SME ส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ได้”

“และสุดท้ายเราพูดถึงเรื่องหนี้ การแก้หนี้และการเติมทุน SME นั้นไม่มีสิทธิทำได้ถ้าไม่เกิดกองทุน ระบบ Bank ไม่เคยประสบความสำเร็จ ส่วนการเติมทุนที่ดีที่สุดคือดูจาก cashflow และ ผลประกอบการ”

  นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี

ส่วนรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า นายวรวุฒิ อุ่นใจ ระบุว่า “SME ของเรามีปัญหากับค่าแรงขั้นต่ำมาก เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำเป็นค่าแรงที่ SME มีปัญญาจ้างได้เท่านั้น เกินกว่านี้ไม่ไหว ต้นทุนมันลาง นวัตกรรมที่เขามี อัตราการทำกำไรที่เขามีไม่สามารถผลักดันให้ตัวเองจ้างได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ นี่คือปัญหา”

“SME ไทยมีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยแพงจนกระทั่งทำธุรกิจไม่ได้ เพราะตัวเองไม่สามารถกู้เงินในระบบ แล้วต้องพึ่งเงินนอกระบบ พอพึ่งเงินนอกระบบคราวนี้เข้าสู่วัฏจักร หาเงินเท่าไหร่ก็ไม่มีปัญญาใช้หนี้ดอกเบี้ยนอกระบบได้”

“เราอยากให้ SME แข็งแรงได้ด้วยตัวเอง ต้องสร้างโอกาส ติดอาวุธแล้วให้แต้มต่อ ทุกครั้งที่มีการช่วย SME ต้องนึกถึง 3 คำนี้เสมอ ส่วนโอกาสที่จะช่วยเหลือ SME ได้คือการเข้าถึงเงินทุน การพัฒนาธุรกิจทั้งในแง่ Product และระบบวิธีการทำงาน รวมถึงต้องเข้าสู่ตลาดไทยและตลาดโลก ซึ่งเป็นปัญหาของ SME ไทยมาโดยตลอด”

“โมเดลที่ผมอยากเสนอคือ ‘Cloud Factory’ เรามีโรงงานที่ให้ SME มาทดลองใช้ได้โดยไม่ต้องลงทุน เพราะเป็นงบของอบต. โมเดลนี้ถ้าเราพัฒนาต่อไปทั่วประเทศจะทำให้ SME สามารถพัฒนา Packaging พัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าโดยไม่ต้องลงทุนทำโรงงานเอง”

นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย ให้ความเห็นว่า “ถ้าเราจะช่วย SME เราต้องรู้ Pain point ของ SME ก่อน ซึ่งยากมากที่จะโตขึ้นมาด้วยตัวเอง ถ้าขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ”

“เราต้องมีวิธีแก้หนี้ให้เขาหลุดจากเครดิตบูโร แก้หนี้นอกระบบซึ่งเป็นตัวดูดซับความแข็งแรงของ SME อย่างชัดเจน เรามีนโยบายแก้หนี้ให้เขากู้ได้ง่าย ทุกคนพูดถึงเรื่องกู้เงินได้ยากลำบาก แต่เราจะให้ทุกคนกู้ได้ตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท โดยไม่ต้องค้ำประกันเพื่อให้เขากลับมาฟื้นก่อน นี่คือสิ่งที่เราจะแก้หนี้ SME”

“เราติดกับเรื่องกฎหมายเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นเราต้องปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทั้งหมด ซึ่งมีทั้งหมด 1,400 ฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ”

“สุดท้ายคือเราต้องเปิดโอกาสให้ SME มีแต้มต่อ เราควรมีนิคมอุตสาหกรรมของ SME โดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้เขาเติบโตทั้ง Cluster เราควรมีกองทุนนวัตกรรมสำหรับ SME โดยเฉพาะเพื่อช่วยให้เขามี Innovation ใหม่ๆ เราควรมี Platform ที่ทำให้เราส่งออกได้เร็วขึ้น มี KPI ที่ชัดเจน ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องทำหน้าที่เปิดตลาดให้ ให้เป็นงานระดับ World Class ให้ได้ เราต้องเปิดโอกาสให้ SME มากที่สุด”

นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี

ทางด้านนายสันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา ชี้ว่า "นโยบายที่ดีต้องทำได้จริง ตรงจุดในการแก้ปัญหา และไม่สร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นต่อไป Missing piece ในตลาดทุนที่ขาดไปวันนี้และยังไม่มีใครทำคือ Venture Capitalist (VC) หรือธุรกิจร่วมลงทุน นอกเหนือจากตลาดทุนในภาคการเงิน คือเอา SFI ของภาครัฐทั้งหมดออกมาจากการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและให้กระทรวงการคลังกลับมากำกับดูแลเอง แนวคิดที่บอกว่าปล่อยสินเชื่อแล้วทุกรายเสียไม่ได้ เจ๊งไม่ได้ เป็นหนี้เสียไม่ได้ ต้องเปลี่ยน"

“ขณะที่ภาคราชการ กฎหมายภาครัฐมียุ่งวุ่นวายเต็มไปหมด และไม่มี synchronization กระทรวง ทบวง กรมแย่งกันทำเรื่อง SME ถ้าจะเอาหน่วยงานราชการทั้งหมดมาส่งเสริม SME อย่างแรกเลยคือสสว. อาจต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นพยัคฆ์มากขึ้นและสามารถดูแล SME ได้อย่างแท้จริง ต้องเปลี่ยนบทบาทของสสว. ส่วนจะแก้พรบ.หรือไม่นั้นต้องไปว่ากันในรายละเอียด”

นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์เผยว่า “สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของ SME ตอนนี้คือทุน ขณะนี้วิกฤตกำลังเกิดขึ้นเพราะ SME กำลังถูก Takeover ถูกปลาใหญ่เอาไปกิน ถูกต่างชาติมาซื้อ ถ้าจะแก้ก็คือต้องเรื่องของทุน”

“สิ่งที่เราได้ยินตอนนี้ในระบบการเลือกตั้งมีแต่คนมาบอกว่าให้พักหนี้ ให้ไม่ดูเครดิตบูโร แต่เป็นการทำให้ระบบการเงินอ่อนแอลง ผมก็ไม่เห็นหนทางว่าจะมีเงินใหม่มาช่วย SME ได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องดูแลไม่ใช่เรื่องการหาเงินกู้ใหม่ แต่จะทำให้ Venture Capitalist ก็ดี หรือธนาคารมาทำตรงนี้ได้อย่างไร นื่คือโจทย์ใหญ่”

“พรรคประชาธิปัตย์จะนำเสนอกองทุนวายุภักษ์ เป็นกองทุนประมาณ 500,000 ล้าน ที่จะมา inject เป็น Capital ของ SME ประเทศไทยมีเงินออมมหาศาลแต่ไม่รู้จะเอาเงินไปลงที่ไหน เราต้องเอาเงินพวกนี้มา inject เข้า SME เราต้องให้ธนาคารเข้ามามีบทบาท แปลงหนี้เป็นทุน วิธีการแบบนี้จะทำให้ SME มีเงินใหม่ และเป็น financial innovation ให้ระบบเราขับเคลื่อนได้”

นโยบายพรรคการเมืองทำอย่างไร? ให้โดนใจเอสเอ็มอี

ปิดท้ายด้วยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคก้าวไกล ซึ่งระบุว่า “ทุกวันนี้ถ้าเราพูดถึงคนรุ่นใหม่ๆหรือว่าคนรุ่นเดิมที่พยายามบุกเบิกธุรกิจ หลายคนคงตั้งคำถามว่าถ้าเขาไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวย พ่อแม่มีทุนให้ เขาจะบุกเบิกธุรกิจไปได้อย่างไร ทุกวันนี้เวลาธุรกิจขนาดเล็กจะยื่นขอกู้เงิน เราไม่ต้องบอกว่านานแค่ไหนกว่าจะได้นับเงินนั้น กว่าจะได้รับการติดต่อจากธนาคาร หลายครั้งธุรกิจเจ๊งแล้ว นี่คือปัญหาของ SME ที่จุกอกมากๆ”

“ถ้าเราเปรียบมหาสมุทรเป็นเหมือนโลกธุรกิจ ป่าชายเลนมีหน้าที่อนุบาลลูกสัตว์ทะเลให้แข็งแรงพร้อมแหวกว่ายสู่มหาสมุทร แต่วันนี้ SME ไทยไม่มีป่าชายเลนนั้นไว้เลย นี่คือปัญหาใหญ่”

“หัวใจสำคัญของพรรคก้าวไกลคือแต้มต่อหนุน เงินทุนมี ภาษีช่วย เราพูดถึงหวย SME ก่อน เราจะทำอย่างไรให้มีกุศโลบายที่ทำให้ SME เข้าสู่ระบบบัญชีที่ถูกต้องแล้วเป็นแต้มต่อให้เขาได้ขยายตลาด หวย SME ง่ายๆ คือ ประชาชนที่ซื้อสินค้า SME ครบ 500 บาทก็สามารถเอามาแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ สำหรับผู้ประกอบการ SME ทุกๆ 5,000 บาท ก็แลกสลากได้เหมือนกัน”

“SME หลายคนไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็ปรับเลยว่าใครเข้าสู่ระบบก็สามารถคิดค่าใช้จ่ายเหมาจากเดิม 60% เป็น 90% นี่คือแต้มต่อหนุนที่เราจะให้กับ SME”