posttoday

'รัชฎา'ส่งทนายฟ้อง'ผู้การ ปปป.'บุกจับคดีเรียกสินบนมิชอบ

14 กุมภาพันธ์ 2566

ศาลอาญาคดีทุจริต นัดสอบข้อเท็จจริง 'รัชฎา' ยื่นฟ้อง 'ผู้การ ปปป.'ปฎิบัติหน้าที่มิชอบ บุกจับเรียกรับสินบน 23ก.พ.66 พร้อมแจ้ง บช.ก. ส่งเอกสารบันทึกจับกุมมูลเหตุพฤติการณ์คดี และนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา 30 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดี อท 23/2566 ที่นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมพวกรวม 7 คน ในฐานความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ ,ทำพยานหลักฐานเท็จฯ, เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ บุกรุก ซ่องโจร ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 

คดีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 27 ธ.ค. 65 ที่ตำรวจ บก.ปปป. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เข้าจับกุมกรณีเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด โดยมีการล่อซื้อ ติดกล้องวงจรปิด และพบเงินสดบนโต๊ะทำงาน เกือบ 5 ล้านบาท
   

วันนี้ ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องในประเด็นที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 79 ซึ่งเป็นเพียงบทกำหนดโทษ แต่ในคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดเจนถึงพฤติการณ์ที่ กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำการใดอันเป็นความผิดตามมาตราใดที่จะขอให้ลงโทษตามมาตรา 79 ทั้งบท  ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายให้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งเจ็ดเป็น “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” ตาม กฎหมาย กฎ ระเบียบหรือคำสั่งใด อย่างไร และมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างไร และสิ่งใดที่ถือว่าเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างไร และจำเลยทั้งเจ็ดกระทำการอย่างใดอันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัตินี้ ที่จะทำให้จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 25,28,33 โดยโจทก์แถลงว่า เป็นเพียงการอ้างถึงสิทธิของโจทก์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ ประสงค์ขอให้ลงโทษ จึงให้แก้ไขคำขอท้ายฟ้องโดยตัดข้อความเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกให้โจทก์มาแถลงข้อเท็จจริงและชี้ช่องพยานหลักฐานด้วยตนเองในวันที่ 23 ก.พ. 2566 เวลา 9.30 น. ในประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,164,179,200,210,310,364,365 เกี่ยวกับพฤติการณ์ทั้งก่อนและหลังจากที่โจทก์ถูกจับกุมเพิ่มเติมเนื่องจาก โจทก์ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยตนเอง 
   
ศาลจะมีหนังสือไปถึง “กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” พร้อมแนบสำเนาบันทึกการจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา เพื่อให้ชี้แจงข้อมูลและจัดส่งเอกสาร มูลเหตุและรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ทั้งก่อนและในขณะเข้าตรวจค้นและ จับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยามแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65 ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การตรวจค้นและจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ดังกล่าวกระทำโดยมีหมาย ค้นและหมายจับหรือไม่ อย่างไร มีการบันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นและจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา หรือไม่ หากมี ได้มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้เผยแพร่ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 29 ความลับ ข้อ 1 หรือไม่ อย่างไร 
   
นอกจากการจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา พร้อมยึดของกลางเป็นเงินสด 98,000 บาท ตามสำเนาบันทึกการจับกุมที่แนบมาพร้อมนี้ ได้มีการตรวจยึดของกลางอื่น ๆ จากโจทก์ในวันดังกล่าว ได้อีกหรือไม่ อย่างไร 
   
ศาลพิจารณาแล้วให้เลื่อนไปนัดสอบข้อเท็จจริงจากโจทก์ในวันที่ 23 ก.พ.66 และให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 30 มี.ค.66 เวลา 9.30น.
  
ด้าน นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความของนายรัชฎา เปิดเผยว่า เตรียมแก้คำฟ้องตามคำสั่งของศาลและจะยื่นฟ้องใหม่ให้ทันตามกรอบเวลาที่ศาลกำหนด และนายรัชฎา จะมาไต่สวนที่ศาลด้วยตัวเองในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมยังยืนยันว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ต้องมาฟ้องให้ศาลดำเนินคดีตามข้อหาดังกล่าว
   
นายวราชันย์ ยังบอกถึงสาเหตุของการเข้าจับกุมของตำรวจ และนายชัยวัฒน์ ในครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากการร้องให้ตรวจสอบกรณีที่นายชัยวัฒน์ เมื่อสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเมื่อปี 2555 มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำไปทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4,200 ไร่ ภายในอุทบานแห่งชาติแก่งกระจาน มูลค่ากว่า 14 ล้านบาท แต่ไม่มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว จึงร้อง ปปท.ตรวจสอบ ซึ่งทางปปท.ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบ กระทรวงจึงดำเนินการต่อ แต่เมื่อนายชัยวัฒน์เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ คดีได้ส่งมาถึงสำนักงาน ป.ป.ช. แล้วและอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาชี้มูลความผิด ซึ่งกำลังจะหมดอายุความในเดือนมีนาคม 2566 
   
นายวราชันย์ ยังบอกว่า โครงการนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเป็น 3 งวด โดยงวดแรกได้เบิกงบไปในวันที่ 29 มีนาคม 2556 แต่โครงการดังกล่าวไม่มีการปลูกป่าจริง ทำให้กระทรวงฯ ได้รับความเสียหาย ซึ่งตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะไปแจ้งความร้องทุกข์กับพรุกงานสอบสวนท้องที่รับผิดชอบในจังหวัดเพชรบุรีต่อไป ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอการลงนามจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นต้นเหตุทำให้นายชัยวัฒน์ ไปร่วมกับตำรวจ บก.ปปป. วางแผนล่อซื้อให้เข้าจับนายรัชฎา จนทำให้เกิดความเสียหาย 
   
นายวราชันย์ กล่าวว่า ยังเตรียมยื่นฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สำนักงานป.ป.ช. เพิ่มเติมอีก 1 สำนวน เนื่องจากเข้าข่ายความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน ส่วนสำนวนคดีนี้เป็นการฟ้องนายชัยวัฒน์ และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 
   
ส่วนกรณีที่นายรัชฎา อ้างว่าเงินที่ได้รับจากหน่วยงานในสังกัดเป็นการนำไปสร้างพระบรมราชนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 จำลอง เพื่อหาเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น นายวราชันย์ ยืนยันว่า ข้อมูลในส่วนดังกล่าวยังไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากเป็นข้อมูลในการใช้ต่อสู้ทางคดี