posttoday

'หมอสุภัทร'เปิดความในใจถูกย้ายไม่เป็นธรรมจ่อฟ้องศาลปกครอง

27 มกราคม 2566

หมอสุภัทร ผู้คัดค้านกัญชาเสรี เปิดความในใจหลังโดนย้ายจากผอ.รพ.จะนะไปรพ.สะบ้าย้อย ชี้ปลัดสาธารณสุขไม่กล้าลงนามเองเพราะผิดอาญามาตรา 157 แฉผู้ตรวจราชคนก่อนก็ไม่กล้าลงนาม จนถูกคำสั่งโยกย้ายเอง เตรียมฟ้องร้องศาลปกครอง

กรณี นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 125/2566 เรื่อง ย้ายข้าราชการ ซึ่งคำสั่งย้ายนี้ ปรากฎว่า มีชื่อ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ผู้ออกมาให้ข่าวในทางคัดค้านนโยบายกัญชาเสรี โดยในคำสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลามีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2566 

หลังมีคำสั่งย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้ 
 
ความในใจเมื่อผมโดนย้าย

ผมรับราชการมาตั้งแต่ปี 2538 มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะตั้งแต่ปี 2542 มีแพทย์เพียง 3 คนอยู่หลายปี ผมสนุกกับงาน เป็นทั้งผอ.และหมอ ตรวจคนไข้ อยู่เวร ออกชุมชน สอนนักศึกษา บริหารโรงพยาบาล ร่วมกิจกรรมชุมชนทั้งการคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย ผมผูกพันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจะนะ อายุราชการที่เหลืออีก 7 ปีก็คิดจะเกษียณที่จะนะ

กังขาคำสั่งย้ายไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร

สธ.ได้วางระบบไว้ว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนและแพทย์สามารถขึ้นได้ถึงระดับวิชาการเชี่ยวชาญ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งบริหารจึงไม่มีวาระที่ต้องย้าย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนจำนวนมากรวมทั้งผมจึงเลือกทำงานจนเกษียณโดยไม่ขอย้าย ทำให้งานสาธารณสุขในชนบทเกาะติดพื้นที่พัฒนาได้ต่อเนื่อง

สงสัยค้านนโยบายกัญชาจึงถูกย้ายไม่เป็นธรรม

ปี 2563 ผมรับภารกิจเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำหน้าที่ทักท้วงเสนอแนะเรื่องราวใน สธ. อาทิ การไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การบริหารจัดการโควิดและวัคซีน การไม่ลงนามงบส่งเสริมป้องกันปี 2566 หรือ การซื้อ ATK ที่มีข้อสงสัย สิ่งเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดต่อใครบางคน จนนำมาสู่คำสั่งให้ย้ายผมให้ได้ก่อนยุบสภา

ไม่ได้สมัครใจย้ายปลัดสธ.จึงไม่กล้างลงนามเอง

จริงๆการจะย้ายผมไม่ยากเลย เพียงแค่ปลัดกระทรวงสั่งย้ายตามอำนาจที่ท่านมี (แต่ต้องมีเหตุมีผลด้วยนะ) แต่เพราะตำแหน่งผมเป็นตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ไม่มีเกณฑ์ที่ต้องถูกย้ายตามวาระ เหตุความผิดที่ต้องถูกย้ายก็ไม่มี ผมเองก็ไม่ได้สมัครใจย้าย ปลัดกระทรวงจึงไม่กล้าเซ็นเอง เพราะกลัวผิดกฎหมายอาญา ม. 157 ก็เลยต้องมีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการเป็นคนเซ็น ใครลงนามจะได้เลื่อนชั้นรวดเร็ว เรื่องราวจึงโกลาหล

แฉผู้ตรวจไม่ยอมลงนามจึงถูกย้ายเขต

7 ธันวาคม 2565 สธ.ลงนามคำสั่งโยกย้ายผู้ตรวจราชการทั่วประเทศ ผู้ตรวจสวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ได้ขึ้นที่เขต 4 (สระบุรี) ส่วนเขต 12 ยังเป็นผู้ตรวจสุเทพ เพชรมาก ท่านเดิม ช่วงนั้นมีข่าวผมจะถูกย้ายอีก ทราบว่าผู้ตรวจสุเทพไม่ยอมลงนาม ด้วยเห็นว่าไม่มีเหตุให้สั่งย้าย ผลก็คือ วันที่ 11 มกราคม 2566 ปลัดกระทรวงมีคำสั่งย้ายผู้ตรวจสุเทพไปอยู่เขตอื่น เอาผู้ตรวจสวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ จากเขต 4 มาเขต 12 ทั้งๆที่เพิ่งไปเขต 4 ได้เดือนเดียว คนพร้อมลงนามมีแล้ว

ย้ายไม่เป็นธรรมเข้าทางเตรียมฟ้องศาลปกครอง

แต่ระเบียบการให้อำนาจผู้ตรวจสั่งย้ายผู้อำนวยการเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ชัดเจน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงลงนามในหนังสือหลักเกณฑ์ใหม่ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 ให้ผู้ตรวจมีอำนาจย้ายวิชาการเชี่ยวชาญได้ หนังสือยังไม่ถึงหน่วยงานเลย วันที่ 25 ถัดไปสองวันก็มีการประชุมคณะกรรมการย่อยพิจารณาย้ายผมและลงนามในคำสั่งย้ายผมไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยทันที วันที่ 26 มกราคม 2566 คำสั่งย้ายผมหลุดออกมาทางสื่อ โดยที่ผมไม่ได้เห็นก่อน จะย้าย ผอ.รพ.บ้านนอกสักคน ต้องทำพิรุธเป็นขั้นเป็นตอนเพียงนี้เชียวหรือ ซึ่งเป็นผลดีมากกับผมในการฟ้องศาลปกครองและฟ้องผิดกฎหมายอาญา ม. 157

วันนี้ 27 มกราคม 2566 คำสั่งย้ายที่เป็นทางการยังมาไม่ถึงผม ส่วนใครเป็นคนบงการสั่งย้ายผม คิดเอาเองนะครับ  

อย่างไรก็ตามก่อนนี้ มีโพสต์ดังกล่าว นพ.สุภัทร กล่าวว่า คงต้องรอหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการมาถึงก่อน จากนั้นคงต้องเซ็นรับทราบคำสั่ง ก่อนจะกำหนดวันเดินทางไปรับตำแหน่ง และทำเรื่องอุทธรณ์คำสั่ง จากนั้นรอฟังผลการอุทธรณ์ หากไม่เป็นผลขั้นตอนต่อไปก็คือฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีที่คำสั่งย้ายไม่เป็นธรรม ซึ่งตามปกติก่อนจะย้ายนั้นจะมีการเรียก ผอ.รพ.ไปพูดคุยถึงสาเหตุความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความยินยอมก่อน แต่การย้ายตนนั้นไม่ได้มีการเรียกไปพูดคุย แต่ลงนามในคำสั่งเลย อย่างไรก็ตาม ระเบียบการที่ผู้ตรวจราชการฯมีอำนาจในการลงนามย้าย ผอ.โรงพยาบาล นอกจากออกมาเพื่อย้ายตนแล้ว ก็ยังมีผลต่อการย้าย ผอ.รพ.ที่อื่นๆ ด้วย