posttoday

วิชา มหาคุณ ยก สิงคโปร์โมเดล ปราบคอรัปชั่น

28 พฤศจิกายน 2565

ประธานมูลนิธิต่อต้านทุจริต แนะ สิงคโปร์โมเดล ปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น เปิดให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการทั้งหมดเท่ากับรัฐ ต้องขยาย ชุมชนปกครองตนเองที่ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น เร่งผลักดันแก้ปัญหา “กรีน คอรัปชั่น”ที่ปัจจุบันพบมากที่สุด

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านทุจริต และคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปาฐกถาพิเศษเรื่อง  แนวทางป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ในงานสัมมนา The BIG Issue 2022 ความโปร่งใสในการประมูลงานรัฐกับอนาคตประเทศไทย จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในปัจจุบัน ต้องใช้หลายวิธีในการป้องกันการทุจริต  จะใช้กลไกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ อย่างเช่นขณะนี้มีข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact (IP)เป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันก็ยังไม่พอ เพราะสำคัญ คือต้องประเมินตัวเองว่าผิดพลาดหรือมีจุดบกพร่องตรงไหนแล้วจะแก้ไขอย่างไร

ในการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริต ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI)ได้ระบุว่า ปัจจุบันไม่มีคำมั่นใดที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ในชั่วเวลาข้ามคืน เพราะการจะเปลี่ยนแปลงจากที่เคยมีปัญหาทุจริตหมักหมมมานานเป็นร้อย ๆ ปี แล้วจะทำให้กลายเป็นบริสุทธิ์โปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลทันทีคงเป็นไปได้ยาก และสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ประเทศไทยอยู่ในระบบอุปถัมภ์มายาวนาน จากปัญหาด้านการอุปถัมภ์ ก็ส่งผลต่อการคัดเลือกโครงการรัฐที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะเข้าสู่การเป็นหนึ่งในข้อตกลงคุณธรรมเกิดปัญหาว่า ไม่มีใครกล้าเลือก หรือถูกห้ามไม่ให้เข้ามายุ่งกับโครงการ ดังนั้นปัญหาเรื่องของการทุจริต จึงไม่สามารถแก้ไขให้เสร็จสิ้นลงได้ในทันที
 

ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาทุจริต  หรือปัญหาอะไรก็ตามถ้าไม่มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา แล้วเข้ามาร่วมมือกัน หรือเห็นปัญหาตรงกัน โดยเฉพาะระบบความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล และตรวจสอบได้ ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหานี้ได้ ดังนั้นในการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทั่วโลกหยิบมาใช้เป็นโมเดล  คือ การปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นของสิงคโปร์ ซึ่งใช้รูปแบบการเปิดให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการรัฐทั้งหมด ซึ่งบางประเทศในยุโรปได้หยิบไปปรับใช้แล้ว

ศ.พิเศษ วิชา กล่าวย้ำว่า "วิธีที่ดีที่สามารถช่วยปราบปรามทุจริตได้ คือ ประชาชนต้องตรวจสอบรัฐได้เท่า ๆ กับรัฐตรวจสอบรัฐด้วยกันเอง ซึ่งกระบวนการนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ตรวจสอบมากมาย โดยในเวทีระหว่างประเทศมีคนเขาถามไทยว่า การแก้ปัญหาทุจริตปราบปรามคอรัปชั่น จะเริ่มทำได้เมื่อไหร่ ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ผมจะเกษียณก่อน แต่พระเจ้ายังร้องไห้สะอื้นเลย เพราะไม่รู้เหมือนกันว่าจะแก้ได้เมื่อไหร่”
 
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีผู้ที่คิดเครื่องมือของข้อตกลงคุณธรรมขึ้นมา  ต้องการให้ถึงจุดสิ้นสุดของกระบวนการทุจริต หลุดพ้นจากกระบวนการคอรัปชั่นอย่างเด็ดขาด และขอให้เร่งสร้างรากฐานของความสุจริต ปราศจากการทุจริต แต่ปรากฏว่าหลาย ๆ ประเทศที่ยังไปไม่ถึงสิ่งเหล่านี้มักจะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งการคอรัปชั่นเอาไว้ เช่น ประเทศไทยที่มีทางยกระดับ โฮปเวล ทิ้งเอาไว้เป็นอนุสรณ์สถาน

อย่างไรก็ตามผู้ที่คิดค้นระบบนี้ได้ออกมาเตือนว่า กระบวนการที่ทุกประเทศต้องสร้างข้อตกลงคุณธรรมขึ้นมา ต้องขยายขอบเขตไปถึงหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชน เพื่อสร้างชุมชนปกครองตนเองที่ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น ไม่มีการให้และรับสินบนเกิดขึ้นเป็นอันขาด และทำให้เกิดสัญลักษณ์ในการร่วมมือร่วมใจเกิดเป็น “คำปฏิญาณคุณธรรม”

"ขอเสนอว่า หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ต้องสร้างกลไกเหล่านี้ขึ้นมาให้ได้ เพื่อสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกชุมชน ต้องผลักดันให้เกิดคำปฏิญาณคุณธรรม ในชุมชนให้เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันยังขอให้ สื่อ เข้ามาร่วมมือในการนำเสนอเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศด้วย" ศ.พิเศษ วิชากล่าว 

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเร่งผลักดันคือ  “กรีน คอรัปชั่น” ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นมากที่สุด เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การยึดครองแผ่นดินสาธารณะประโยชน์ การบุกรุกที่ดิน การเผาป่า และการทำลายสิ่งแวอล้อม ถือเป็นวาระใหญ่ของโลก ถ้าไทยไม่เร่งแก้เรื่องนี้ เชื่อว่า ต่อไปประเทศไทยคงจะเหลือแต่ซากอย่างแน่นอน