posttoday

เปิดใจ "สืบพงษ์" ถูก "สภาม.ร." ถอดถอนรอบ2 จ่อฟ้องขอความเป็นธรรม 

09 พฤศจิกายน 2565

เปิดใจ "สืบพงษ์ ปราบใหญ่" หลังถูก "สภาม.ร." ลงมติถอดถอนรอบ 2 โอดไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง เผย กก.บางส่วนทักท้วงความเป็นกลางการลงมติ เหตุถูกฟ้องคดีมีมติถอดถอนรอบแรกมิชอบ อาจขัด พ.ร.บ.ปกครองฯ จ่อใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป

ภายหลังสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกแถลงข่าว มีมติ ถอดถอน "สืบพงษ์ ปราบใหญ่" พ้น อธก.ม.รามคำแหง ด้วย เหตุผล 3 เรื่องประกอบด้วย ใช้วุฒิการศึกษาปริญญา เอกที่ ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. ในการสมัครเข้า บรรจุเป็นอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์, รับโอนทรัพยสินที่ใน
คดีที่มีการกล่าวหาผู้อื่นร่ำรวยผิดปกติ และ ถวายฎีกาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จงใจบิดเบือนข้อมูล ใส่ร้าย กก.สภา ม.ร.

นายสืบพงษ์ กล่าวว่า พร้อมชี้แจง กับ สภา ม.ร. ในทุกเรื่อง แต่ไม่ได้รับโอกาส และการนัด ประชุม สภา ม.ร.วันนี้ไม่ได้การแจ้งให้ทราบว่าจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระประชุม และถูกเชิญออกจากห้องประชุมทันที และมีมติดังกล่าวกล่าวออกมา แม้ กก.ในที่ประชุมจะมีการทักท้วงว่ายังไม่ควรนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมโดยมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความเป็นกลางในการลงมติ เรื่องนี้เนื่องจาก 16 กก.สภา ม.ร. ที่มีส่วนในการลงมติอยู่ระหว่างถูกยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลได้กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในเดือนมกราคมปีหน้า 

โดยตาม พ.ร.บ.วิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 16 ระบุว่า ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 13เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการ ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ ได้ นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำวินิจฉัยในคดี ถอดถอนรอบแรกแล้วว่า กก.สภา ม.ร.ไม่มีอำนาจถอดถอน และมีคำสั่งคุ้มครองให้กลับมาปฎิบัติหน้าที่อธิการบดีม.ร.ต่อ

นายสืบพงษ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่มีการร้องเรียนโดยบัตร สนเท่ห์ เรื่องรับโอนทรัพย์สินในคดีร่ำรวยผิดปกตินั้น เป็นการฟ้องผู้อื่น ตนเองไม่ได้ถูกฟ้อง เป็นเพียงผู้ยื่นคัดค้านในคดีเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ทางฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ ม.ราม ได้ทำการตรวจสอบไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กพ.แต่ทางสภา ม.ร.ไม่รอผลตรวจสอบของ อ.ว. กลับมีมติออกมาก่อน ดังนั้นจึงเตรียมรวบรวมหลักฐานเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป

ทั้งนี้มีข้อมูลการตรวจสอบเรื่องวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ทางฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ม.ร. ซึ่งได้ทำการติดต่อไปยังม.ในสหรัฐฯที่ผศ.ดร.สืบพงษ์สำเร็จการศึกษา ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อให้ส่งเอกสารยืนยันการรับรองคุณภาพการศึกษาจาก "ACICS" ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองคุณภาพการศึกษาและวิทยฐานะสถาบันระดับชาติของมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศสหรัฐฯที่เปิดสอนทางด้านธุรกิจ พร้อมส่งหนังสือรับรองการจบการศึกษา การตีพิมพ์เผยแพร่เล่มดุษฎีนิพนธ์บนฐานข้อมูล ProQuest  รวมทั้งประกาศนียบัตรจาก ACICS ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยได้รับการรับรองคุณภาพการศึกษา ในช่วงระยะเวลาที่ผศ.ดร.สืบพงษ์สำเร็จการศึกษา

นอกจากนี้อำนาจการตรวจวุฒิการศึกษาของมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเป็นหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ซึ่งกำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ ส่วนเรื่อง ทางกพ.ตรวจสอบวุฒินั้น จริงๆสามารถตรวจได้ทางเว็บไซต์ โดยดูที่เงื่อนไขที่ 1) รายชื่อสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ  ซึ่งมีการระบุถึงสถาบันการศึกษาที่รับรองโดย ACICS ดังนั้น ด้วยข้อมูลทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ดร.สืบพงษ์ จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองคุณภาพการศึกษาในช่วงเวลาของการสำเร็จการศึกษาในปี 2554 จริงๆ

ด้านนายสมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภา ม.ร.ปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่ามีอาการเจ็บคอ ไม่ค่อยมีเสียง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 65 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ในคดีที่ นายสืบพงษ์ ยื่นฟ้อง 16 กก.สภา ม.ร.กรณีร่วมกันมีมติถอดโดยมิชอบโดยศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้ทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง ตามมติและคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้ถอดถอนนายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น  

โดยศาลเห็นว่า มติกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้ถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดีนั้น มีกรรมการงดออกเสียง 5 คน จึงไม่ใช่มติโดยเอกฉันท์ อีกทั้งพฤติการณ์สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงรีบเร่งในการพิจารณาและลงมติที่พิพาท รวมทั้งออกคำสั่งตามมติดังกล่าวถอดถอนนายสืบพงษ์ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาโดยชอบตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมิได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนนั้น ในเบื้องต้นจึงเห็นว่า มติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในการประชุมครั้งที่  15/2564 ที่ให้ถอดถอนที่ให้ถอดถอน นายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดี และคำสั่งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย 

แม้จะอ้างว่าสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีอำนาจและหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลการบริหารงานของอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งกรณีอ้างว่านายสืบพงษ์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและฝ่าฝืนข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการขัดขวาง พยายามครอบงำและควบคุมกระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยคนใหม่ รวมทั้งการที่การอ้างว่าคำฟ้องไม่มีมูลให้รับฟังได้ และการออกคำสั่งทางปกครองเป็นไปตามรูปแบบและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้วนั้น 

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักหักล้างคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นที่รับฟังว่าสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงมิได้เปิดโอกาสให้นายสืบพงษ์ได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา ทั้งยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งว่าการกระทำของนายสืบพงษ์เป็นการกระทำความผิดอันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งอาจจะเป็นการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มติและคำสั่งดังกล่าวน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย 

อีกทั้งเห็นว่าการให้มติและคำสั่งดังกล่าวมีผลต่อไป เป็นผลโดยตรงที่ทำให้นายสืบพงษ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ย่อมเป็นการยากที่จะเยียวยาแก้ไขกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ ส่วนการอ้างว่าผลคำสั่งทุเลาของศาลปกครองชั้นต้นจะทำให้เกิดอุปสรรค ความยากลำบากและส่งผลกระทบต่อการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้นไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้นการที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย 

คลิ๊กอ่าน รายละเอียดคำวินิจฉัยโปรจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็ม 

ส่วนคดีที่นายสืบพงษ์ ยื่นฟ้อง 16 กก.สภา ม.ร. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท 7/2565 ศาลได้มีคำสั่งนัดตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดีในวันที่ 11 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. และวันที่ 27 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. และนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น. และนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น.

สำหรับการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 16 คน กระทำความผิดอันเป็นมูลคดีนี้ กล่าวคือ 

1.เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ในการประชุมสภา มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 15/2564 จำเลยทั้งสิบหกในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ร่วมกันมีมติถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอธิการบดี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยทั้งสิบหกมีอำนาจหน้าที่เพียงพิจารณาเสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดีเท่านั้น แต่จำเลยทั้งสิบหกกลับมีมติถอดถอนโจทก์โดยออกคำสั่งที่ 128/2564 จำเลยทั้งสิบหกกระทำการดังกล่าวโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากการที่โจทก์ใช้อำนาจตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นอำนาจของอธิการบดีเพียงผู้เดียว เสนอชื่อบุคคลนอกกลุ่มของจำเลยให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มของจำเลย และต่อมาในการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งที่ 13/2564 จำเลยกับพวกเสนอขออนุมัติร่างข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2564 เพื่อขยายอำนาจให้กับสภามหาวิทยาลัยในการเสนอชื่อบุคคลให้เข้ารับคัดเลือกเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพรรคพวกของตน
เอง และลิดรอนอำนาจของโจทก์ในการเสนอชื่อของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว และจำเลยที่ 11 เสนอหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบการกระทำของโจทก์ เพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์พันจากตำแหน่ง
   
2.เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 โจทก์ได้รับคำสั่งที่ 131/2564 เรื่องเพิ่มเติมคำสั่งที่ 128/2564 โดยการออกคำสั่งที่ 131/2564 ไม่ชอบเนื่องจากเป็นการออกคำสั่งโดยมีได้มีการประชุมกันจริง เนื่องจากในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมมีมติให้มีการออกคำสั่งที่ 128/2564 เรื่อง ถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เท่านั้นโดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อฟ้องคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฟ้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 เห็นควรรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้อง และสำเนาฟ้องให้จำเลยทั้งสิบหก พร้อมแนบหนังสือแจ้งสิทธิตามกฎหมายในการต่อสู้คดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อไป